การท่าเรือฯ หนุนสร้างทางด่วนเชื่อมท่าเรือกรุงเทพ - อาจณรงค์ 3 พันล้านบาท
การท่าเรือฯ เตรียมชงคมนาคมภายใน มิ.ย.นี้ อนุมัติเดินหน้าสร้างทางด่วนเชื่อมท่าเรือกรุงเทพ – อาจณรงค์ คาดใช้งบ 3 พันล้านบาท ลุยเจรจารูปแบบร่วมลงทุนแล้วเสร็จภายในปีนี้ ยันเป็นโครงการสำคัญแก้การจราจรติดขัด – หนุนภาคขนส่ง
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ และทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) โดยระบุว่า ขณะนี้ กทท.และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้จัดทำการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้วเสร็จ เตรียมเสนอผลการศึกษาไปยังกระทรวงคมนาคมภายในเดือน มิ.ย.นี้
โดย กทท.เล็งเห็นว่าโครงการทางพิเศษสายดังกล่าวมีความจำเป็นในการลงทุน เพราะแม้ว่าจะไม่ได้สร้างรายได้เพิ่มให้กับ กทท. และ กทพ.โดยตรง เพราะเป็นเพียงการเปลี่ยนจุดขึ้นลงเชื่อมต่อมายังท่าเรือกรุงเทพเท่านั้น แต่โครงการทางพิเศษสายนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรบนถนนอาจณรงค์บริเวณทางเข้าท่าเรือกรุงเทพ และถนนโครงข่ายโดยรอบ รวมถึงจะช่วยอำนวยความสะดวกให้สามารถขึ้นลงทางด่วนในท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการภาคขนส่ง
สำหรับผลการศึกษาเบื้องต้น ประเมินว่าจะต้องใช้วงเงินลงทุนราว 2,500-3,000 ล้านบาท โดยจะเป็นการร่วมลงทุนระหว่าง กทท.และ กทพ.แต่ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องสัดส่วนการลงทุน ซึ่งจะหารือร่วมกันอีกครั้งในเร็วๆ นี้ และคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนภายในปี 2566 โดยหากโครงการได้รับการอนุมัติจากกระทรวงคมนาคม และเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านการเห็นชอบแล้ว ก็สามารถเริ่มต้นเปิดประมูลเริ่มงานก่อสร้างได้ทันที เพราะแนวเส้นทางไม่ต้องมีการเวนคืนที่ดิน เนื่องจากเป็นพื้นที่ของ กทท.และ กทพ.
ทั้งนี้ โครงการเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ และทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ มีระยะทาง 2.25 กิโลเมตร พื้นที่โครงการอยู่บนถนนอาจณรงค์ในพื้นที่ของ กทท. และเชื่อมต่อกับทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) มีจุดเริ่มต้นอยู่บริเวณเทอร์มินัล 3 ของท่าเรือกรุงเทพ แนวสายทางจะเป็นทางยกระดับ 4 ช่องจราจร (ทิศทางละ 2 ช่องจราจร) ไปตามแนวถนนอาจณรงค์ ข้ามคลองพระโขนงและถนนเลียบทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ จากนั้นแนวสายทางจะแยกเป็นขาทางเชื่อม (Ramp) เข้าเชื่อมกับ S1 ในทิศทางไปทางพิเศษบูรพาวิถี และทิศทางไปทางพิเศษฉลองรัช
อีกทั้งโครงการยังมีด่านเก็บค่าผ่านทาง มี 4 จุด แบ่งเป็น 1.ด่านขาขึ้น บริเวณหน้าอาคารสำนักงาน ปตท.พระโขนง มีช่องเก็บค่าผ่านทาง 3 ช่อง, 2.ด่านขาขึ้น บริเวณประตูทางออกเทอร์มินัล 1 และ 2 มีช่องเก็บค่าผ่านทาง 1 ช่อง, 3.ด่านขาลง บริเวณทางแยกต่างระดับอาจณรงค์ มีช่องเก็บค่าผ่านทาง 3 ช่อง และ 4.ด่านขาลง หรือด่านอาจณรงค์ 1 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มี 8 ช่อง โดยจะมีทางเชื่อมต่อเข้าท่าเรือกรุงเทพเป็น Ramp 1 ช่อง
ส่วนการจัดเก็บค่าผ่านทาง จากการศึกษาโครงการก่อนหน้านี้จะจัดเก็บอัตราเดียวกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร รถ 4 ล้อ 50 บาทต่อคัน รถ 6-10 ล้อ 75 บาทต่อคัน และรถมากกว่า 10 ล้อ 110 บาทต่อคัน คาดว่าจะมีปริมาณการจราจร 1.4 หมื่นคันต่อวัน ในจำนวนนี้จะเป็นรถใหม่ที่ไม่เคยเข้าระบบทางด่วนสายนี้ ประมาณ 6,000 คัน