จัดอันดับ 7 พรรคการเมืองไทย พรรคไหนมีนโยบายใช้เงินมากสุด หากได้เป็นรัฐบาล
เจาะนโยบายพรรคการเมือง ส่งรายงานถึง กกต.พรรคการเมืองที่ใช้เงินมากที่สุดหากมาเป็นรัฐบาล แชมป์เป็นของภูมิใจไทย หลังใส่นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ 1.7 ล้านล้าน เพื่อไทยมาเป็นอันดับ 2 ขณะที่ รทสช.ใช้ไม่มาก นโยบายส่วนใหญ่ทำตามเดิมผุดคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกันภาคต่อ
key points
- กกต.กำหนดให้พรรคการเมืองส่งรายละเอียดนโยบายที่หาเสียง และวงเงินที่ใช้ในแต่ละนโยบาย
- เอกสารที่แต่ละพรรคยื่นให้ กกต.รายงานคาดการณ์การใช้งบประมาณแต่ละนโยบาย ประชาชนตรวจสอบเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนการเลือกตั้ง
- พรรคภูมิใจไทยมีโครงการที่ใช้เงินในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้กว่า 1.7 ล้านล้านบาท
- พรรคเพื่อไทยตามมาเป็นอันดับสอง โดยมีจำนวนโครงการและนโยบายที่หาเสียงไว้มากที่สุดกว่า 70 นโยบาย
- พรรคก้าวไกล มีการจัดงบสวัสดิการเพิ่มเติมในหลายรายการ รวมทั้งการส่งสัญญาณแก้รัฐธรรมนูญ และปฏิรูปกองทัพ ซึ่งต้องมีการใช้งบประมาณหมื่นล้านบาท
เหลือเวลาอีกประมาณ 2 สัปดาห์จะถึงวันเลือกตั้ง 14 พ.ค.และจะได้ทราบว่าพรรคที่เข้ามาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลคือพรรคใด ภาพรวมของการแข่งขันกันหาเสียงเลือกตั้งโดยการแข่งขันทางด้านนโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆประกาศนโยบายหาเสียงให้ประชาชนรับทราบจะใช้กลยุทธ์ชูนโยบายเด่นที่หวังโกยคะแนนเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายได้
อย่างไรก็ตามแต่ละพรรคการเมืองนั้นไม่ได้มีแต่เพียงนโยบายที่ใช้หาเสียงเท่านั้น แต่มีชุดนโยบายจำนวนมากซึ่งหลายนโยบายต้องใช้เงินงบประมาณ หรือแหล่งเงินอื่นๆในการดำเนินนโยบายไม่ว่าจะเป็นการกู้เงิน การจัดการงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการของรัฐในรูปแบบ “PPP”
ทั้งนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีคำสั่งให้แต่ละพรรคการเมืองส่งรายละเอียดของนโยบาย พร้อมทั้งระบุถึงแหล่งที่มาของวงเงินในการจัดทำนโยบายต่างๆเพื่อให้ประชาชนใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกตั้ง และใช้ในการติดตามการดำเนินนโนบายต่างๆของพรรคการเมืองที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาล
7 อันดับ พรรคการเมืองใช้วงเงินในการดำเนินนโยบายมากที่สุด
“กรุงเทพธุรกิจ” สำรวจเอกสารนโยบายที่พรรคการเมืองส่งให้ กกต. เพื่อจัดลำดับพรรคการเมืองที่ใช้วงเงินในการดำเนินนโยบายมากที่สุด 7 อันดับดังนี้
1.พรรคภูมิใจไทย ใช้วงเงินรวมในการจัดทำนโยบาย ประมาณ 1.92 ล้านล้านบาท (1,927,336.7 ล้านบาท)
โดยนโยบายที่ใช้เงินมากที่สุดของพรรคภูมิใจไทยคือนโยบายส่งเสริมการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) และจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ วงเงิน 1.7 ล้านล้านบาทนอกจากนั้นยังมีนโยบายอื่นๆ เช่น
- สนับสนุนการติดตั้งเครื่องกรองน้ำทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ วงเงิน 43,968 ล้านบาท
- นโยบายทำประกันชีวิตให้กับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 37,098 ล้านบาท
- นโยบายการจัดสรรภาษีบ้านเกิดเมืองนอนวงเงิน 1.01 แสนล้าน
- การเพิ่มเงินเดือน อสม.และค่าประกันชีวิตให้ อสม. วเงินรวม 2.7 หมื่นล้านบาท
- นโยบายส่งเสริมการสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยยูเรีย วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท
- นโยบายส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนพัฒนาท่องเที่ยวจังหวัด จังหวัดละ 100 ล้านบาทรวม 7.7 พันล้านบาท เป็นต้น
2.พรรคเพื่อไทย ใช้วงเงินรวมในการทำนโยบาย ประมาณ 1.81 ล้านล้านบาท (1,818,870 ล้านบาท)
โดยมีนโยบายและวงเงินของนโยบายเช่น
- แจกเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัลคนละ 1 หมื่นบาท วงเงินรวม 5.6 แสนล้านบาท
- นโยบาย one tablet per child free internet วงเงิน 2.9 หมื่นล้านบาท
- โครงการ one tablet teacher free internet 2.8 พันล้านบาท
- นโยบายพักหนี้เกษตรกร 8,000 ล้านบาทง
- นโยบายกองทุนสมทบคนสร้างตัว 9 หมื่นล้าน
- นโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 3 แสนล้านบาท
- นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายวงเงิน 4.8 หมื่นล้านบาท
- นโยบายยกระดับรถไฟทั่วประเทศ 1.17 หมื่นล้านบาทต่อปี
- นโยบายบริหารจัดการน้ำ ไม่ท่วมไม่แล้งวงเงิน 5 แสนล้านบาท เป็นต้น
3.พรรคไทยสร้างไทย ใช้วงเงินรวมในการทำนโยบายประมาณ 1.532 ล้านล้านบาท (1,532,500 ล้านบาท) โดยมีนโยบายที่ใช้ วงเงินรวมที่ได้แจ้งกับ กกต.แล้วได้แก่
- นโยบายดูแลคนไทยตั้งแต่เกิดจนตาย วงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท
- นโยบายสร้างรายได้ให้ประเทศวงเงิน 2.35 หมื่นล้านบาท
- นโยบายเกษตรสร้างไทย เกษตรหายจน เกษตรหมดหนี้ มีรายได้ยั่งยืนวงเงินรวม 1.09 แสนล้านบาท
4.พรรคก้าวไกล ใช้วงเงินรวมในการทำนโยบายประมาณ 9.74 แสนล้านบาท (974,710 ล้านบาท) โดยมีนโยบายที่ใช้วงเงิน เช่น
- นโยบายจัดสรรสวัสดิการถ้วนหน้า 6.5 แสนล้านบาท
- การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3,000 ล้านบาท
- นโยบายปฏิรูปและจัดสวัสดิการกองทัพ 1.2 หมื่นล้านบาท
- นโยบายสนับสนุนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด 3,000 ล้านบาท
- นโยบายการศึกษาเท่าทันโลก 2 หมื่นล้านบาท
- การสนับสนุนคูปองพัฒนาการเรียนรู้ 1.7 หมื่นล้านบาท
- นโยบายส่งเสริมการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ 1 หมื่นล้านบาท
- นโยบายจัดการหนี้เกษตรกร 5.25 หมื่นล้านบาท
- นโยบายลดหนี้สินและต้นทุนเกษตรกร 3 หมื่นล้านบาท
- เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร 4 หมื่นล้านบาท
- แก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง 1 หมื่นล้านบาท
- นโยบายการแก้ปัญหา PM2.5 สนับสนุนอากาศสะอาด 5 พันล้านบาท
- นโยบายสร้างงานเพิ่มรายได้ สร้างงานซ่อมประเทศ 2.5 หมื่นล้านบาท
- นโยบายส่งเสริม SME 4.4 หมื่นล้านบาท เศรษฐกิจสร้างสรรค์ 5 พันล้านบาท
- นโยบายคมนาคมเพื่อทุกคน 1 หมื่นล้านบาท
- นโยบายสนับสนุนวัคซีนแมวหมา สัตว์เลี้ยง 1 พันล้านบาท เป็นต้น
5.พรรคประชาธิปัตย์ ใช้วงเงินรวมในการทำนโยบาย 8.45 แสนล้านบาท (845,400 ล้านบาท) แบ่งเป็น
1)นโยบายเกษตรทันสมัย 198,200 ล้านบาท ได้แก่
- ประกันรายได้พืชเกษตร 7 หมื่นล้านบาทต่อปี
- จ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา 3 หมื่นบาทต่อครัวเรือน วงเงิน 9.7 หมื่นล้านบาท
- ต่อยอดเกษตรแปลงใหญ่ 3 หมื่นล้านบาท
2)สวัสดิการตลอดชีพ 162,400 ล้านบาท
- นมโรงเรียน 365 วัน วงเงิน 2.7 หมื่นล้าน
- ชมรมผู้สูงอายุรับ 30000 บาท วงเงิน 2.4 พันล้านบาท
นอกจากนั้นพรรคประชาธิปัตย์ได้กำหนดนโยบายที่ต้องใช้วงเงินงบประมาณ ในโครงการอื่นๆ เช่น
- นโยบายส่งเสริมด้านเศรษฐกิจการค้าของประเทศวงเงิน 3 แสนล้านบาท
- นโยบายการศึกษาทันสมัย 24,800 ล้านบาท
- นโยบายสนับสนุนโครงการธนาคารหมู่บ้าน – ชุมชน ทั่วประเทศ โดยให้เงินแห่งละ 2 ล้านบาท วงเงินรวม 1.6 แสนล้านบาท
6.พรรคชาติพัฒนากล้า ใช้วงเงินรวมในการทำนโยบายประมาณ 7.24 แสนล้านบาท (724,700 ล้านบาท) โดยมีนโยบายต่างๆหลายโครงการ เช่น
- มอเตอร์เวย์ทั่วไทย 2,000 กม. วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ประกอบไปด้วยมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง ได้แก่ บางปะอิน – เชียงราย นครราชสีมา - หนองคาย และเพชรบุรี (ชะอำ) – สุไหงโกลก
- นโยบายรื้อโครงสร้างพลังงานวงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยตั้งโซลาร์ ฟันด์ สนับสนุนการติดโซลาร์เซลล์ของประชาชน
- นโยบายเด็กไทย 3 ภาษา ปีละ 3 หมื่นล้านบาท
- นโยบายโคราชเมืองคมนาคมทันสมัย 1.7 หมื่นล้านบาท
- นโยบายสนับสนุนงบประมาณให้โรงพยาบาลระดับตำบล 2.4 หมื่นล้านบาท
- สนับสนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศวงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท
- โครงการสะพานข้ามสุราษฎร์ ไปยังเกาะสมุย วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท
7.พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ใช้วงเงินรวมในการทำนโยบายประมาณ 3.04 แสนล้านบาท (304,000 ล้านบาท) ประกอบไปด้วย นโยบายที่จะทำหลายโครงได้แก่
- นโยบายการลดต้นทุนเกษตรกรใช้เงิน 60,000 ล้านบาทต่อปี
- เพิ่มเงินสมทบประกันสังคมให้มีเงินสมทบไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน วงเงิน 2.9 หมื่นล้านบาทต่อปี
- โครงการกองทุนฉุกเฉินประชาชน วงเงิน 3 หมื่นล้านบาทต่อปีบัตรสวัสดิการพลัสใช้งบประมาณ 7.1 หมื่นล้านบาท
- โครงการคนละครึ่งภาคสอง วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท โครงการเราเที่ยวด้วยกันภาคสองวงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท
- นโยบายการเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 4 หมื่นล้านบาทต่อปี
- นโยบายใช้เงินช่วยเหลือเด็กแรกเกิดถึงอายุ 10 ปี วงเงิน 4 พันล้านบาท
- การจัดตั้งกองทุนพ่อเลี้ยงเดี่ยวแม่เลี้ยงเดี่ยว วงเงิน 1,000 ล้านบาท