‘Trickle-down Economics‘ ปล่อยให้คนรวยมั่งคั่ง ค่อยไหลรินสู่คนข้างล่าง
รู้จัก “เศรษฐกิจแบบไหลริน” (Trickle-down Economics) โมเดลเศรษฐกิจที่มีวิธีคิดแบบพึ่งพา “คนตัวใหญ่” เชื่อว่า ถ้าคนรวยรวยขึ้นจะช่วยโอบอุ้ม-กระจายความมั่งคั่ง ทว่า ในความเป็นจริง กลับ “กระจุก” เป็นคอขวดมากกว่า “ไหลริน” หรือไม่?
Key Points:
- “เศรษฐกิจแบบไหลริน” หรือ “Trickle-down Economics” เชื่อว่า การดำเนินนโยบายเอื้อคนรวย จะช่วยให้ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้นตามลำดับ โดยมีจุดเริ่มต้นจากทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ และเริ่มมีการนำมาใช้เป็นนโยบายทางการเมืองในสมัยโรนัลด์ เรแกน จนมีชื่อเรียกว่า “เรแกนโนมิกส์”
- โจ ไบเดน ไม่เชื่อในแนวทาง “Trickle-down Economics” และเลือกดำเนินนโยบายแบบล่างขึ้นบนหรือ “Trickle-up Economics” เชื่อว่า การสร้างจากรากฐานยั่งยืนที่สุด
- มีข้อสังเกตเกี่ยวกับ “Trickle-up Economics” ที่อาจจะต้องชั่งน้ำหนักในเรื่องของงบประมาณ และแหล่งเงินทุนของประเทศด้วย
นโยบายแบบไหนที่จะทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้มากกว่า ระหว่าง ปล่อยให้คนรวยรวยขึ้นจนเม็ดเงินค่อยๆ ไหลรินมาสู่ด้านล่าง หรือ แก้ปัญหาตรงจุด-ปั๊มหัวใจด้วยการสร้างรัฐสวัสดิการให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน?
“Trickle-down Economics” ได้รับการพูดถึงอีกครั้ง ภายหลังโจ ไบเดน (Joe Biden) ทวีตข้อความในแอคเคานต์ส่วนตัวเมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมาว่า “Trickle-down Economics doesn’t work.” โดยเป็นที่ทราบกันดีว่า สหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายแบบ “เศรษฐกิจไหลริน” มาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ภายใต้การนำของโรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) ประธานาธิบดีคนที่ 40 ที่สามารถชนะการเลือกตั้งติดต่อกันสองสมัย และเป็นผู้ริเริ่มนโยบายทางเศรษฐกิจแบบมุมกลับ
จากเดิม ที่รัฐบาลดำเนินนโยบายด้วยการจัดเก็บภาษีจำนวนมาก เพื่อนำมาบริหารจัดการเป็นรัฐสวัสดิการ ขณะที่เรแกนมองในทางกลับกัน คือ ต้องเก็บภาษีจากกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ให้น้อย โดยหวังว่า เมื่อภาคธุรกิจมีทุนมากขึ้น ก็จะนำไปต่อยอด-กระจายสู่แรงงานหรือคนกลุ่มอื่นๆ ต่อไป
- ไหลรินหรือคอขวด? ว่าด้วยข้อสังเกตของ “Trickle-down Economics”
ไม่เพียงแต่เรแกนเท่านั้น เศรษฐกิจแบบไหลรินยังถูกส่งต่อไปยังมาร์กาเรต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) นายกรัฐมนตรีหญิงเหล็ก จอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) และลิซ ทรัสส์ (Liz Truss) ที่สนับสนุนแนวคิดนี้เช่นกัน
หลักการของเศรษฐกิจแบบไหลริน มีแนวคิดว่า รัฐบาลควรลดภาษีเพื่อผลประโยชน์แก่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ เชื่อว่าการเอื้อเอกชนคือกุญแจสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโต หากกลุ่มผู้ประกอบการมีเงินเยอะขึ้น ก็มีแนวโน้มที่จะขยับขยายธุรกิจ-ลงทุนเพิ่ม ธนาคารก็จะปล่อยกู้สินเชื่อได้ง่ายขึ้นด้วย
เรื่องนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากทฤษฎี “ลาฟเฟอร์ เคิฟ” (Laffer Curve) โดยลาฟเฟอร์ อาเธอร์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่ระบุว่า การลดภาษีสำหรับคนรวยมีผลดีทวีคูณต่ออัตราภาษีอย่างมาก ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจนรัฐมีรายได้มากกว่าการจัดเก็บภาษีอัตราเดิมด้วยซ้ำ และมองว่า เมื่อใดที่รัฐใช้มาตรการเก็บภาษีที่สูงเกินกว่าจุดที่เหมาะสม รัฐจะเริ่มเก็บภาษีได้น้อยลงหรือถึงขั้นเก็บภาษีไม่ได้เลยก็เป็นไปได้เช่นกัน
จากทฤษฎีดังกล่าว “ลิซ ทรัสส์” (Liz Truss) ได้ใช้คำอธิบายนี้เพื่อดำเนินนโยบายแบบไหลริน ด้วยการลดการจัดเก็บภาษีทั้งประเทศราว 30 ล้านปอนด์ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว หากอ้างอิงตามทฤษฎีของลาฟเฟอร์ คำอธิบายนี้จะทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อรัฐมีการจัดเก็บภาษีส่วนบุคคลด้วยสัดส่วนที่สูงตั้งแต่ 50 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป หากรัฐเก็บภาษีด้วยอัตราที่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว การดำเนินนโยบายดังกล่าวจะนำไปสู่การขาดดุลงบประมาณที่มากขึ้นไปอีก
การกลับมาของ “Trickle-down Economics” ในรัฐบาลทรัสส์ นำไปสู่การตั้งคำถามว่า ในสถานการณ์ที่คนชนชั้นกลางและล่างกำลังเผชิญกับปัญหาปากท้องและเงินเฟ้อรุนแรงเช่นนี้ นโยบายดังกล่าวจะยิ่งเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มคนด้านบนเป็นพิเศษหรือไม่ และหากเศรษฐกิจไหลรินได้ผลจริง เพราะอะไรสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของอังกฤษที่ผ่านมากลับยังวนเวียนกับปัญหาเดิมๆ ที่แก้ไม่ตก และไม่สามารถใช้ทฤษฎีไหลรินในการไขก๊อกได้
นอกจากนี้ หากย้อนกลับไปไกลกว่านั้นก็จะพบอีกว่า ในสมัยของเรแกนและบุชที่มีการลดการจัดเก็บภาษีจากผู้มีรายได้สูง กลับยิ่งถากรอยแยกของความไม่เท่าเทียมให้กว้างมากขึ้น ตามรายงานของสำนักข่าวเดอะการ์เดียน (The Guardian) ระบุว่า ระหว่างปีพ.ศ. 2522-2548 รายได้ของ “กลุ่ม 1 เปอร์เซ็นต์” ของประเทศ มีรายได้เพิ่มขึ้นสามเท่า ในขณะที่รายได้ของกลุ่มล่างสุดเพิ่มขึ้นเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นกรณีของการ “ไหลขึ้น” มากกว่า “หยดลง”
“เราพบว่า การเพิ่มรายได้ให้กับชนชั้นกลางและกลุ่มคนยากจน ช่วยเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้ของกลุ่มผู้มีรายได้สูง นั่นหมายความว่า เมื่อคนรวยรวยขึ้น ผลประโยชน์จะไม่มีทางไหลรินลง” กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ “IMF” กล่าว
- ทำให้ข้างล่างอิ่ม ตรงกลางพอง แล้วค่อยๆ ไหลสู่ด้านบน: “Trickle-up Economics”
“Trickle-up Economics” คือวิธีคิดแบบด้านกลับของเศรษฐกิจไหลริน เป็นการวางพีระมิดแบบคว่ำหัวลง โดยเน้นให้การสนับสนุนกับเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งก็คือคนที่อยู่ต่ำสุดของโครงสร้างสังคมก่อนเป็นอันดับแรก
“Trickle-up Economics” ใช้วิธีการเก็บภาษีเพิ่มจากผู้มีรายได้สูง โดยเฉพาะ “กลุ่ม 1 เปอร์เซ็นต์” ที่อยู่บนสุดของพีระมิด แล้วนำภาษีที่ได้มายกระดับระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต น้ำดื่ม โครงข่ายไฟฟ้า ระบบขนส่งมวลชน พลังงานสะอาด ระบบสาธารณสุข ตลอดจนการศึกษา ที่อยู่อาศัย และพื้นที่สาธารณะอื่นๆ เป็นต้น
โจ ไบเดน คือประธานาธิบดีที่เลือกใช้ระบบเศรษฐกิจแบบ “Trickle-up Economics” ในการขับเคลื่อนประเทศ แม้ว่าในด้านหนึ่งไบเดนจะต้องเผชิญกับข้อกังวลเรื่องงบประมาณการลงทุนจำนวนมหาศาล โดยรายงานจากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ระบุว่า ในปีที่ผ่านมา ไบเดนได้เสนอให้มีการพิจารณาขยายการใช้จ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้น จาก 20 เปอร์เซ็นต์เป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของ GDP โดยมีเป้าหมายเพื่อการกระจายรายได้ไปยังผู้มีรายได้ปานกลางและต่ำ
เขามองว่า วิธีการนี้จะสร้างการเติบโตและความเท่าเทียมกันให้กับคนทั้งประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นการโละชุดความคิดในการบริหารประเทศครั้งใหญ่ เพราะรัฐบาลมากกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ล้วนดำเนินนโยบายแบบ “Trickle-down Economics” ทั้งสิ้น
ในระยะยาว การดำเนินเศรษฐกิจแบบกลับพีระมิดลงอาจจะได้ผลอย่างยั่งยืนก็จริง แต่รัฐบาลเองก็ต้องกลับมาวางแผนการใช้งบประมาณทั้งระยะกลางและระยะยาว มองหาการสร้างแหล่งเงินทุนให้กับประเทศ เพราะแม้ว่าเศรษฐกิจแบบไหลรินจะไม่ได้ช่วยให้ประเทศเติบโตอย่างเต็มที่ แต่การดำเนินเศรษฐกิจแบบที่เน้นการ “แจกจ่ายพาย”มากเกินไป ก็อาจทำให้ประเทศเสียสมดุลได้เช่นกัน
อ้างอิง: Bloomberg, The Guardian 1, The Guardian 2, Financial Times, The Hill, Business Insider, iTax, Twitter