ดอกเบี้ยโลก กำลังถึงจุดเปลี่ยน?

ดอกเบี้ยโลก กำลังถึงจุดเปลี่ยน?

นักลงทุนเกินครึ่งโลกเชื่อว่า Fed จะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยของ Fed ขยับขึ้นสู่ระดับ 5.00-5.25% ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ น่าจะเป็น “ครั้งสุดท้าย” ในวัฏจักรของดอกเบี้ยขาขึ้น

การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 พ.ค. นี้ ถือเป็นอีกหนึ่งนัดที่มีความสำคัญสุดแห่งปี เนื่องจากเวลานี้นักลงทุนเกินครึ่งโลกเชื่อว่า Fed จะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมนัดนี้อีก 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยของ Fed ขยับขึ้นมาสู่ระดับ 5.00-5.25%

เพียงแต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ น่าจะเป็น “ครั้งสุดท้าย” ในวัฏจักรของดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งพรุ่งนี้เช้า (4 พ.ค.) เราก็คงทราบผลว่า จะเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้หรือไม่

ถ้าดูตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ณ เวลานี้ นับว่าอ่อนแรงลงไปมาก ล่าสุด GDP ไตรมาสแรกของปี 2566 ที่เพิ่งประกาศออกมา พบว่าขยายตัวเพียง 1.1% ต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 2% พอสมควร สาเหตุเป็นเพราะตัวเลขสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เริ่มตึงตัว สถาบันการเงินในสหรัฐระมัดระวังการปล่อยกู้มากขึ้น

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่เริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวชัดเจน บวกกับการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่รวดเร็วและร้อนแรงของ Fed ทำให้นักเศรษฐศาสตร์เริ่มออกมาพูดถึงความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) มากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ปัญหาการไถ่ถอนเงิน (Bank Run) ที่เกิดขึ้นกับ First Republic Bank แม้ล่าสุดจะขายกิจการให้ เจพี มอร์แกน ไปเรียบร้อย แต่ประเด็นดังกล่าวเริ่มกลับมาสร้างความกังวลให้กับตลาดการลงทุนอีกครั้ง และน่าจะเป็นตัวเร่งให้ Fed ต้องจบรอบดอกเบี้ยขาขึ้นเร็วกว่าเดิม

ในขณะที่นักลงทุนบางส่วนเริ่มมองว่า มีความเป็นไปได้สูงเช่นกัน ที่จะเห็น Fed เปลี่ยนทิศทางดอกเบี้ยสู่ขาลงในช่วงปลายปีนี้ โดยข้อมูลของ CME FedWatch Tool เผยว่า ตลาดส่วนใหญ่มองดอกเบี้ย Fed ปลายปี 2566 อยู่ที่ระดับ 4.50-4.75% นั่นหมายความว่า หลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ ในอนาคตก่อนสิ้นปีอาจเห็น Fed “ลดดอกเบี้ย”  ลงราว 0.50% 

หากเป็นไปตามที่ตลาดการเงินประเมินไว้ มีความหมายว่า "ดอกเบี้ยโลก" กำลังเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ แน่นอนว่า ย่อมส่งผลกระทบต่อภาพการลงทุนทั้งโลกด้วย

...ย้อนกลับมาที่ประเทศไทยของเรากัน ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ครั้งล่าสุด มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 1.75% พร้อมกับส่งสัญญาณว่า ดอกเบี้ยยังมีแนวโน้มปรับขึ้นได้ต่อเนื่อง แม้เงินเฟ้อทั่วไปจะเริ่มลงมาอยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่เงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง อีกทั้งมีความเสี่ยงเรื่องการส่งผ่านต้นทุนและยังเริ่มเห็นแรงกดดันเงินเฟ้อจากฝั่งของดีมานด์ 

ถ้าให้สรุปแบบชัดๆ ก็คือ ธปท. ยังคงกังวลเงินเฟ้อที่อาจซ่อนในและมีโอกาสกลับมาเร่งตัวได้อยู่ ดังนั้น การกำราบเงินเฟ้อให้อยู่หมัดจึงจำเป็นที่ต้องขยับดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่อง แน่นอนว่าภาพของ “ดอกเบี้ยไทย” อาจจะต่างจาก “ดอกเบี้ยโลก” ตรงที่โลกกำลังจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยและอาจปรับลงในช่วงท้ายปี แต่ของไทยยังมีโอกาสที่จะขึ้นได้ต่อเนื่อง

ผลกระทบตรงนี้คงถูกส่งผ่านไปยังตลาดอัตราแลกเปลี่ยน เราหวังว่าผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ “ค่าเงิน” จะเริ่มเตรียมความพร้อมรับมือกับความผันผวนในระยะข้างหน้า ดูแล้วสถานการณ์ค่าเงินน่าจะเหวี่ยงตัวแรงอีกพักใหญ่ๆ