สหกรณ์นครพนมหนุนเลี้ยง ‘ปลาเผาะ’ แก้หนี้

สหกรณ์นครพนมหนุนเลี้ยง ‘ปลาเผาะ’ แก้หนี้

สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครพนมได้ดำเนินขับเคลื่อนนโยบายอย่างต่อเนื่อง ผ่านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้สหกรณ์ต่าง ๆ ส่งเสริมอาชีพแก่สมาชิกเพื่อสร้างความยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ตามที่นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างของสมาชิกสหกรณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสหกรณ์ ในส่วนสำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครพนมได้ดำเนินขับเคลื่อนนโยบายอย่างต่อเนื่อง ผ่านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้สหกรณ์ต่าง ๆ ส่งเสริมอาชีพแก่สมาชิกเพื่อสร้างความยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

การลงพื้นที่ของอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์และคณะเพื่อตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ในจังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา นอกจากมอบนโยบายการทำงานแก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดแล้วยังได้เยี่ยมชมความสำเร็จ”การเลี้ยงปลาเผาะ”แก้หนี้ของสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงปลานครพนม จำกัด อีกด้วย


“จากการที่ได้ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งสหกรณ์ผู้เลี้ยงปลานครพนม จำกัดได้ส่งเสริมอาชีพให้กับสมาชิก ซึ่งจะเห็นว่าการดำเนินการสามารถทำได้เป็นอย่างดี ตัวสมาชิกสหกรณ์มีความขยัน มีองค์ความรู้ต่าง ๆ มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรรายอื่น ๆ ด้วย”นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวระหว่างลงพื้นที่เยี่ยมชมกิจกรรมเกษตรกรสมาชิกและย้ำว่า

ในส่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ จะสนับสนุนเงินทุนต่าง ๆ ให้กับสหกรณ์ในพื้นที่ ซึ่งกรมฯ มีกองทุนพัฒนาสหกรณ์ เป็นเงินทุนอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 เพื่อให้สหกรณ์นำมาช่วยเหลือสมาชิกที่ต้องการเงินทุนไปประกอบอาชีพทั้งเรื่องแหล่งน้ำ หรือซื้อปัจจัยการผลิตต่าง ๆ เพื่อสมาชิกมีอาชีพและมีรายได้เพิ่มขึ้นจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับสมาชิกสหกรณ์และสหกรณ์ในพื้นที่อีกด้วย” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าว

สำหรับสหกรณ์ผู้เลี้ยงปลานครพนม จำกัด ปัจจุบันมีสมาชิก 349 ราย ดำเนินธุรกิจ 3 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจเงินรับฝาก ทั้งนี้ ในปี 2565 กรมส่งเสริมสหกรณ์ สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ จำนวน 2.4 ล้านบาท และปี 2566 วงเงิน 2 ล้านบาท รวมทั้งได้สนับสนุนอุปกรณ์การตลาด ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการประมงการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ปีงบประมาณ 2561 เป็นเงินจำนวน 319,500 บาทด้วย

 ในปีบัญชี 30 เมษายน 2565 สหกรณ์มีกำไร 29,565 บาท  ดำเนินการส่งเสริมให้สมาชิกเลี้ยงปลาในกระชัง จำนวน 600 กระชัง ปริมาณปลา 510 ตัน/ปี โดยปลานิลจำหน่ายในราคา 70 - 75 บาท/กก. และหน้ากระชัง (รับเอง) ราคา 67 บาท/กก. ส่วนปลาเผาะจำหน่ายในตลาด ราคา 130 - 150 บาท/กก. และหน้ากระชัง (รับเอง) ราคา 120 - 130 บาท/กก. เฉลี่ยการลงทุนเลี้ยงปลา 25,000 บาท/กระชัง สมาชิกสามารถจำหน่ายปลาได้ประมาณ 57,000 บาท/กระชัง ซึ่งการเลี้ยงปลาในกระชังเป็นการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกสหกรณ์ได้เป็นอย่างดี
 
นางอนงนุช สาโท สมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงปลานครพนม จำกัด มีอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังริมฝั่งโขงในท้องที่บ้านห้อม ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนมเล่าว่าเดิมมีอาชีพทำนาจากนั้นหันมาเลี้ยงปลาในกระชังริมฝั่งแม่น้ำโขง ตั้งแต่ปี 2549 เนื่องจากเห็นว่าทำรายได้ดี โดยได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากสหกรณ์ฯ เริ่มจากการเลี้ยงปลาเผาะ ปลานิล  ปลาตะเพียนและปลาดุก แต่ที่ทำเงินมากที่สุดก็คือปลาเผาะ ซึ่งเป็นปลาที่นิยมเลี้ยงกันมากในจ.นครพนมและพื้นที่ใกล้เคียงที่ติดแม่น้ำโขง  

“ปลาเผาะต้นทุนการเลี้ยงน้อยกว่าปลานิล ให้อาหารวันละมื้อ เสริมด้วยไส้ไก่ ไขมันวัวต้ม เริ่มเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 49 แต่ก่อนทำนา  ข้อดีเลี้ยงปลาคือมีรายได้ทุกวันทุกเดือนหรือแล้วแต่เราจะกำหนด ตอนนี้มีเลี้ยงอยู่ 14 กระชัง เป็นปลาเผาะ 9 กระชังที่เหลือเป็นปลานิล ปลาตะเพียนและปลาดุก”นางอนงนุชเผย

แม้ปลาเผาะจะระยะเวลาการเลี้ยงนานประมาณ 1 ปีกว่าจะได้น้ำหนัก 1.8-2.0 กิโลกรัม แต่เธอยอมรับว่าคุ้มค่ากว่าปลาชนิดอื่น  เหตุต้นทุนต่ำ ขายราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาด  ทั้งยังได้รับความนิยมของผู้บริโภคอีกด้วย 

“ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นร้านอาหาร ร้านจิ้มจุ่มในจ.นครพนมมาจองมาซื้อยกกระชัง อย่าง 9 กระชังที่เลี้ยงก็มีจองเกือบหมดแล้ว”เกษตรกรเลี้ยงปลาคนเดิมเผย  
 
ด้านนางสมบัติ อุผา ประธานคณะกรรมการสหกรณ์ผู้เลี้ยงปลานครพนม จำกัดยอมรับว่าทุกวันนี้สหกรณ์เกือบจะไม่มีหนี้ค้างจ่าย(ผิดนัดชำระ)จากสมาชิก แต่จะเป็นหนี้ค้างชำระตามรอบปกติ แม้ว่าบางรายจะได้รับความเสียหายจากการเลี้ยงปลาจนขาดทุน เหตุปลาเป็นโรคหรือเกิดจากภัยธรรมชาติ แต่สมาชิกก็จะพยายามหาเงินมาคืนจนได้ 

“สหกรณ์ก็จะให้บริการอาหารปลา  หรือถ้ารายใดต้องการกู้เงินสหกรณ์เพื่อซ่อมกระชังปลา ก็สามารถกู้ได้รายละ 30,000-50,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของสมาชิก    ส่วนเรื่องการตลาดไม่มีปัญหา  เพราะมีคนมาซื้อถึงฟาร์มเลี้ยง จนทุกวันนี้ก็ยังไม่พอขาย  ขณะที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครพนมก็จะสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำร้อยละ1 ปีละ 2 ล้านให้สหกรณ์เพื่อนำไปปล่อยกู้แก่สมาชิก แล้วพาสมาชิกไปอบรมดูงาน”ประธานฯสหกรณ์คนเดิมกล่าวย้ำ