รัฐบาลใหม่ชี้ชะตาแพ็คเกจ’แบต EV’ ส.อ.ท.หวั่นล่าช้ากระทบลงทุนตั้งโรงงาน

รัฐบาลใหม่ชี้ชะตาแพ็คเกจ’แบต EV’  ส.อ.ท.หวั่นล่าช้ากระทบลงทุนตั้งโรงงาน

“สุพัฒนพงษ์” ส่งมติบอร์ดอีวีหารือ สลค.เสนอ ครม.ได้หรือไม่ ชี้ต้องรอรัฐบาลใหม่เพราะของบ 2.4 หมื่นล้าน เผยผู้ผลิตแบต 3 ยักษ์ใหญ่ “CATL-BYD-SVOLT” เล็งลงทุนไทย ส.อ.ท.หวั่นมาตรการล่าช้ากระทบตัดสินใจลงทุน ค่ายรถต้องนำเข้าทดแทน “สมาคมอีวี” ห่วงนำเข้าไม่สร้างมูลค่าเพิ่ม

มาตรการสนับสนุนใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ออกมาเมื่อต้นปี 2565 ทำให้ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทยขยายตัวอย่างมาก โดยขณะนี้ภาครัฐเตรียมออกมาตรการสนับสนุนการลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ เพื่อสร้างความสมบูรณ์ของอีโคซิสเต็มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

สำหรับมาตรการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2566 โดยให้สิทธิประโยชน์ภาษีสรรพสามิตจาก 8% ลดเหลือ 1% รวมทั้งมีมาตรการให้เงินสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่ ระดับ Cell Production ตามกำลังการผลิตสูงสุดและพลังงานจำเพาะโดยน้ำหนักของแบตเตอรี่ โดยกำหนดวงเงินงบประมาณไม่เกิน 24,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ

1.แบตเตอรี่ประเภทที่มีพลังงานจำเพาะโดยน้ำหนักสูงกว่า 190 Wh/kg ผู้ผลิตแบตเตอรี่ตั้งแต่ 1 GWh แต่น้อยกว่า 8 Gwh จะได้เงินสนับสนุน 600 บาท และตั้งแต่ 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุน 800 บาท

2.แบตเตอรี่ประเภทที่มีพลังงานจำเพาะ โดยน้ำหนักสูงกว่า 155-190 Wh/kg ผู้ผลิตแบตเตอรี่ตั้งแต่ 1 GWh แต่น้อยกว่า 8 Gwh จะได้เงินสนับสนุน 500 บาท และตั้งแต่ 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุน 700 บาท

3.แบตเตอรี่ประเภทที่มีพลังงานจำเพาะโดยน้ำหนักตั้งแต่ 125-145 Wh/kg ผู้ผลิตแบตเตอรี่ตั้งแต่ 1 GWh แต่น้อยกว่า 8 Gwh จะได้รับเงินสนับสนุน 400 บาท และตั้งแต่ 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุน 600 บาท

“สุพัฒนพงษ์”ชี้รอรัฐบาลใหม่ตัดสิน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้ส่งมติการประชุมบอร์ดอีวีไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อขอความเห็นในการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และให้ สลค.ตรวจทานความเรียบร้อยก่อนเสนอ ครม.พิจารณา โดยข้อหารือรูปแบบที่จะเสนอเข้า ครม.มี 2 แนวทาง คือ

1.เสนอ ครม.รับทราบมติบอร์ดอีวีล่าสุดทั้งฉบับ ซึ่งรวมทั้งมาตรการขอใช้งบประมาณสนับสนุนภาคเอกชนตั้งโรงงานแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า โดยการเสนอของบประมาณสนับสนุนในขณะนี้มีข้อจำกัด เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่ารัฐบาลรักษาการมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับงบประมาณอะไรได้บ้าง

2.เสนอ ครม.เห็นทราบมติบอร์ดอีวีเฉพาะมาตรการบางส่วนที่ไม่ได้ใช้งบประมาณ แต่เพื่อแก้ปัญหาและอุปสรรคการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่เป็นหน่วยงานปฏิบัติ เช่น กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร ซึ่งมีข้อติดขัดจากการปฏิบัติตามมาตรการสนับสนุนรถ EV หรือ EV3.0 ที่อนุมัติก่อนหน้านี้ เพื่อให้ทำงานต่อได้เลย

“เรื่องโรงงานแบตเตอรี่เข้าใจถึงความล่าช้า แต่เพราะต้องขอสนับสนุนงบประมาณและผูกพันถึงรัฐบาลใหม่ อย่างไรก็ต้องรอรัฐบาลใหม่"

รวมทั้ง เรื่องนี้ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะเสนอไปอาจโดนทักท้วงเหมือนเรื่องค่าไฟ แต่ก็จะเสนอ ครม.เพื่อทราบดูแต่ต้องถามความเห็นจากสำนักเลขาธิการ ครม.ว่าควรเสนออย่างไร จะมติทั้งฉบับหรือเสนอเฉพาะมาตรการที่ไม่ใช้เงินงบประมาณ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานได้ ตอนนี้ต้องระมัดระวังเพราะถ้าเสนอเข้าไปหมดอาจตกทั้งฉบับ ตกทั้งกระดานจะยุ่ง”นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

3ยักษ์ใหญ่ระดับโลกสนลงทุนตั้งโรงงานแบต

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้ประเมินความสำเร็จของมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ส่งผลให้ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องก้าวกระโดด โดยในปี 2565 ยานยนต์ไฟฟ้าใหม่มีการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 260% 

ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการผลิตการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่ชัดเจนส่งผลให้มีผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับโลกแสดงความสนใจเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ในประเทศไทย เช่น CATL , BYD และ SVOLT

ดังนั้น เพื่อดึงดูดให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ที่มีการลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่อย่างครบวงจร จึงได้พิจารณาข้อเสนอมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่

ทั้งนี้ ล่าสุด CATL (Contemporary Amperex Technology Co., Ltd.) ผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลกได้เข้ามาหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ถึงมาตรการดังกล่าวเช่นกัน จึงทำให้มาตรการแบตเตอรี่จะสนับสนุนการลงทุน

ส.อ.ท.หวั่นแพ็คเกจล่าช้ากระทบความเชื่อมั่นลงทุน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แบตเตอรี่เป็นองค์ประกอบหลักในการกำหนดราคาของรถยนต์ไฟฟ้า ยิ่งมีความจุมากก็ยิ่งราคาสูง ดังนั้นมาตรการภาครัฐที่ให้เงินอุดหนุนผู้ผลิตแบตเตอรี่ช่วยให้ต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าถูกลง และทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าแข่งขันได้กับรถเครื่องยนต์สันดาป

"ขณะนี้มาตรการอุดหนุนการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งความล่าช้าในการอนุมัติมาตรการดังกล่าวอาจทำให้ผู้ประกอบการชะลอการตัดสินใจตั้งโรงงานผลิตและเลือกที่จะนำเข้าแบตเตอรี่สำเร็จรูปเข้ามาก่อน"

รวมทั้งยานยนต์ไฟฟ้าเป็นเทรนด์โลกที่ขยายตัวและนักลงทุนสนใจไทยในการเป็นฐานผลิตอีวีด้วยการตอบรับของตลาดในประเทศ หากมาตรการสนับสนุนได้เร็วและราคารถอีวีแข่งขันได้จะยิ่งทำให้ตลาดอีวีในประเทศขยายตัว โดยปีนี้มีแนวโน้มมีรถอีวีจีนนำเข้าเพิ่มขึ้นในราคา 2-3 แสนบาท ซึ่งหากจีนผลิตและส่งมอบได้ทันคาดว่ายอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งอีวีในปีนี้จะเกิน 50,000-60,000 คัน

นอกจากนี้ มาตรการสนับสนุนอีวีที่น่าสนใจ คือ การสนับสนุนการทำเมืองโพแทสในประเทศ เพราะปัจจุบันจีนพัฒนาแบตเตอรี่โซเดียมไอออนสำหรับอีวีเชิงพาณิชย์ และจะใช้ทดแทนแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนมากขึ้นในรถยนต์ไฟฟ้าที่มีความจุน้อย เพราะแร่ลิเธียมมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นทั้งยังไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้ในอนาคตไทยจะน่าสนใจและเป็นจุดดึงดูดการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ในประเทศมากขึ้น

สมาคม EV ห่วงนำเข้าแบตไม่สร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของไทยในภูมิภาคชัดเจนขึ้น โดยมาตรการส่งเสริมของภาครัฐทำให้บริษัทยานยนต์ไฟฟ้าตัดสินใจเข้ามาร่วมลงทุนผลิตอีวีในไทย และทำให้ดึงดูดความสนใจของผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาด้วย ซึ่งไทยจำเป็นต้องดึงนักลงทุนกลุ่มนี้เข้ามา เพราะแวลูเชนอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มีมูลค่าสูง รวมทั้งในช่วงแรกที่มีการนำเข้าแบตเตอรี่จะไม่เกิดมูลค่าเพิ่มในประเทศ

อีกปัจจัยที่บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่สนใจเข้ามาลงทุนเพราะไทยมีดีมานด์จากผู้ผลิตหลายรายที่เข้ามาลงทุน เช่น ฉางอัน ออโตโมบิล ซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณผลิตอีวีในประเทศเพิ่มมากขึ้น

สำหรับมาตรการสนับสนุนลงทุนตั้งโรงงานแบตเตอรี่ถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นจำเป็นต้องรอ ครม.ชุดใหม่มาพิจารณา ซึ่งคาดว่าไม่ได้รับผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น ซึ่งในช่วงนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต้องใช้เวลาในการเจรจาจึงต้องโฟกัสคนที่จะเข้ามา แต่ถ้ามาตรการออกมาเร็วได้ก็ยิ่งดีต่อการลงทุน

ส่วนมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมที่ต้องการ คือ โครงสร้างพื้นฐานหรือสถานีอัดให้เพียงพอต่อการใช้งานที่ในอนาคตจะมีมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีสัดส่วน 1 หัวชาร์จ ต่อ รถ 16 คัน

บีโอไอเผย 20 บริษัท ลงทุนแบต 1.8 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวจากบีโอไอ ระบุว่า การส่งเสริมการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ของบีโอไอ ข้อมูลถึงเดือน มี.ค.2566 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม รวม 28 โครงการ จาก 21 บริษัท มูลค่าการลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน 18,573 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.การผลิตแบตเตอรี่สำหรับ EV มีการลงทุน 20 โครงการ จาก 13 บริษัท เงินลงทุน 9,264 ล้านบาท ได้แก่

บริษัท ดีทีเอส แดร็คเซิลไมเออร์ ออโทโมทีฟ ซีสเท็มส์ (ประเทศไทย) , บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย , บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) , บริษัทธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง , บริษัทเอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี

บริษัทไมน์ โมบิลิตี คอร์ปอเรชั่น จำกัด , บริษัทเอ็มเอ็มทีเอช เอ็นจิ้น จำกัด , บริษัทนิสสัน พาวเวิร์เทรน (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัทในเครือเกรท วอลล์ มอเตอร์ , บริษัทในเครือ BYD , บริษัทวิชชุฆนี จำกัด , บริษัทราชารีไซเคิล จำกัด และบริษัทที่อยู่ระหว่างจดทะเบียนจัดตั้ง

2.การลงทุนผลิตแบตเตอรี่ความจุสูงสำหรับทุกอุตสาหกรรม เงินลงทุนรวม 9,309 ล้านบาท รวม 8 บริษัท (8 โครงการ) ได้แก่

บริษัทอมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ (EA) , บริษัทนูออโว พลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. , บริษัทเบต้า เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด

บริษัทกราฟีน โกลบ จำกัด , บริษัท บีอีวี เทคโนโลยี จำกัด , บริษัททรานส์เพาเวอร์ เทคโนโลยี จำกัด และบริษัทที่อยู่ระหว่างจดทะเบียนจัดตั้ง