'ไออาร์พีซี' ชูนวัตกรรมอาหารเสริมพืช คืนชีพ 'ทุเรียน' ใกล้ตายภายใน 3 วัน
"ไออาร์พีซี" ชูนวัตกรรมอาหารเสริมพืช ดันธุรกิจใหม่ ต่อยอดความยั่งยืนให้ธุรกิจอนาคต หลังพัฒนาสูตรซิงค์ออกไซด์นาโน "ปุ๋ยหมีขาว" ประสบความสำเร็จ จ่อพัฒนาอีก 4 สูตรใหม่ คาดได้ใบรับรอง กลางเดือนนี้ พร้อมจำหน่ายเดือน มิ.ย. 2566
นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า จากการที่ บริษัทฯ ได้เปิดจำหน่ายอาหารเสริมสำหรับพืช สูตรซิงค์ออกไซด์นาโน ตราปุ๋ยหมีขาว ซึ่งเป็นสูตรนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นร่วมกับชุมชนในโครงการ "คลินิกหมอดิน" ด้วยการวิเคราะห์สภาพดินและพัฒนาอาหารเสริมสำหรับพืช
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ทดสอบอาหารเสริมพืชสูตรซิงค์นาโนกับต้นทุเรียน ด้วยการฝังเข็มบนต้นทุเรียนพบว่า ต้นทุเรียนที่ใกล้ตายได้ฟื้นคืนชีพโดยเห็นผลได้ภายใน 3 วัน สำหรับอาหารเสริมพืชดังกล่าวสามารถใช้ได้กับพืชไร่ เช่น ข้าว, พืชสวน เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด มะนาว และพืชดอก เช่น กล้วยไม้ เป็นต้น
"เราได้ใช้ “สวนยายดา เจ๊บุญชื่น” จัดทำโครงการ IRPC Smart Farming จังหวัดระยอง ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2565 เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องทดสอบการใช้อาหารเสริมพืช แก้โรคให้กับสวนทุเรียน และประสบผลสำเร็จด้วยดี"
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เริ่มจำหน่ายอาหารเสริมพืชมาแล้วกว่า 1 ปี ในราคา 990 บาท/1 ลิตร ซึ่งสามารถใช้ในปริมาณ 2 ซีซี ต่อน้ำเปล่า 1 ลิตร หรือฝังได้ประมาณ 50 เข็ม ที่แตกต่างจากปุ๋ยทั่วไป ที่ใช้ปุ๋ย 1 ลิตร ต่อน้ำเปล่า 1 ลิตร ดังนั้นสารอาหารพืชจึงประหยัดและได้ผลดีกับพืชผลการเกษตรมากกว่า โดยใช้ช่องทางการจำหน่ายผ่านเว็บไซต์บริษัทฯ และที่สวนยาดา เจ๊บุญชื่น จ.ระยอง
นายกฤษณ์ กล่าวว่า ภายหลังจากประสบความสำเร็จในการทำอาหารเสริมสูตรแรกไปแล้ว บริษัทฯ ได้พัฒนาและวิจัยนวัตกรรมอาหารเสริมพืชเพิ่มอีก 4 สูตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการยื่นขอใบอนุญาตเพื่อดำเนินการผลิตและจำหน่ายจากกรมวิชาการเกษตร คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตในเดือน พ.ค. 2566 นี้ และคาดว่าจะเปิดจำหน่ายได้ต้นเดือน มิ.ย. 2566
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้นำโซลาร์ลอยน้ำ ที่พัฒนาทุ่นติดตั้งโซลาร์เซลล์มาติดตั้งที่สวนยายดา เจ๊บุญชื่น เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในสวนตอนกลางวันได้ปริมาณ 5 กิโลวัตต์ต่อวัน ซึ่งในอนาคตมีแผนต่อยอดนำนวัตกรรมแบตเตอรี่ ที่กลุ่ม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้วิจัยและพัฒนาเข้ามาติดตั้งร่วมกับโซลาร์ลอยน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าในอนาคต
รวมถึงการจัดตั้ง “พาราโบลา โดม” โรงตากแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาสินค้าชุมชน เช่น พริกไทยตากแห้ง กล้วยตาก สมุนไพรอบแห้ง และใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น ตากเปลือกมังคุด เพื่อนำมาบดเป็นผง และพัฒนาออกแบบตราสัญลักษณ์ บรรจุภัณฑ์ผลไม้ ผลิตภัณฑ์ชุมชน
ทั้งนี้ บริษัทฯ มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยใช้หลักความสมดุลของการเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของชุมชนให้มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อให้องค์กรและชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนและมีความสุข
"เราคาดหวังว่านวัตกรรมอาหารเสริมพืชดังกล่าวจะขยายผลต่อยอดไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ โดยหน่วยงานภาครัฐทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ รวมถึงให้สวนยายดา เจ๊บุญชื่น เป็นผู้ขยายผลผ่านชุมชนไปยังสวนต่าง ๆ ต่อไป"