กรมชลฯรับมือเอลนีโญ เร่งแผนเก็บน้ำสู้ภัยแล้ง
สถานการณ์เอลนีโญที่กำลังจะเกิดขึ้น หลายฝ่ายกังวลว่าจะสร้างปัจจัยเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร กรมชลประทานจึงเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำปี 2566/67 เพื่อรับมือกับการที่ประเทศไทยก้าวสู่ภาวะเอลนีโญ ที่ฝนน้อยกว่าค่าปกติ 5%
ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ฤดูฝนปี 2566 ของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าจะเริ่มต้นปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค.2566 และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งในปีนี้ปริมาณฝนรวมทั้งประเทศ ในช่วงฤดูฝนจะน้อยกว่าปี 2565 และจะน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 5% ซึ่งปีที่ผ่านมาสูงกว่าค่าปกติ 14% ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2566 พายุหมุนเขตร้อนจะเคลื่อนเข้าสู่ไทย 1-2 ลูก โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ในเดือน ส.ค.-ก.ย.2566
ทั้งนี้จากคาดการณ์ดังกล่าวแม้ปริมาณฝนจะมีน้อย แต่เป็นไปได้ที่ฝนอาจจะตกในซ้ำจุดเดิมหรือพายุไม่เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมหรือดินถล่ม ดังนั้น กรมชลประทานต้องเตรียมพร้อมรับมือ เครื่องมือ เครื่องจักร รับมือน้ำท่วม และน้ำท่วมซ้ำซาก ที่จังหวัดเชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี นนทบุรี สงขลา นครราชสีมา ขอนแก่น และพิษณุโลก รวม 5,382 หน่วย แบ่งเป็น เครื่องสูบน้ำ 2,198 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 617 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 351 คัน และครื่องจักรสนับสนุนอื่น 2,219 หน่วย
กรมชลประทานเร่งกักเก็บน้ำลงอ่างให้ได้มากที่สุดเพื่อเก็บไว้ใช้ฤดูแล้งปี 2566 โดยคาดว่าตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2566-30 เม.ย. 2567 จะมีน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง รวม 53,375 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 76% ของความจุอ่างฯ รวมเป็นน้ำใช้การได้ 30,333 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำที่กักเก็บได้ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มีปริมาณน้ำรวม 59,399 ล้าน ลบ.ม. หรือ 84% ของความจุอ่างฯรวม โดยเป็นน้ำใช้การได้ 35,862 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับปริมาณน้ำที่กักเก็บได้จะบริหารจัดการให้เป็นไปตามแผนมากที่สุด โดยเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาได้เริ่มปล่อยน้ำเข้าทุ่งบางระกำ จ.กำแพงเพชร 2 แสนไร่ ใช้น้ำ 310 ล้าน ลบ.ม.เพื่อให้เกษตรกรเริ่มทำนาปีและเก็บเกี่ยวก่อนพื้นที่อื่น เพราะเป็นที่ลุ่มต่ำมีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมในเดือน ส.ค.ของทุกปี โดยขณะนี้ทำไปแล้ว 80% เหลือ 50,000 ไร่ อยู่ระหว่างดำเนินการ
ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำอีก 10 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ ทุ่งฝั่งซ้ายชัยนาท-ป่าสัก บางกุ่ม เจ้าเจ็ด เชียงราก โพธิ์พระยา ท่าวุ้ง บางกุ้ง บางบาล-บ้านแพน ป่าโมก และผักไห่ โดยมีพื้นที่เป้าหมายเพาะปลูก 9.67 แสนไร่ ใช้น้ำเพื่อเพาะปลูก 940 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งได้สนับสนุนให้เริ่มปลูกข้าวนาปีแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป สำหรับพื้นที่ที่เหลือให้รอน้ำฝนเป็นหลักเพื่อให้น้ำที่กักเก็บในปี 2565/66 มีเพียงพอทุกฝ่าย
นอกจากนี้ปริมาณน้ำตามแผนปี 2565/66 ที่กรมชลประทานบริหารจัดการอยู่ในปัจจุบัน (1 พ.ค.-31 ต.ค.2566) มีน้ำต้นทุนเหลืออยู่ทั้งประเทศ 20,754 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าความต้องการที่มีประมาณ 30,246 ล้าน ลบ.ม.
รวมทั้งตามแผนดังกล่าวได้แบ่งน้ำที่เหลืออยู่เป็น น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค 1,752 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 6,175 ล้าน ลบ.ม. เกษตรกรรม 21,865 ล้าน ลบ.ม. และภาคอุตสาหกรรม 454 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในช่วงที่ฝนยังไม่ตกตามฤดูกาล กรมชลประทานได้เตรียมน้ำสำรองไว้แล้วกว่า 16,000 ล้าน ลบ.ม.
“ต่อให้มีน้ำเยอะแค่ไหนก็จะน้อยกว่าความต้องการอยู่ดี เพราะความต้องการเพิ่มขึ้นทุกวัน"
ดังนั้นจึงต้องขอความร่วมมือกับทุกคนให้ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อให้น้ำมีอยู่ถูกใช้ตามแผนที่กำหนดไว้ โดยจะให้ความสำคัญต่อการอุปโภคบริโภคและการรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก
สำหรับน้ำภาคตะวันออกที่เป็นเขตอุตสาหกรรมและหลายฝ่ายเกิดความกังวลกรณีปริมาณน้ำจะไม่พอ ในช่วงฝนจะทิ้งช่วงเดือน พ.ค.- ก.ค.2566 กรมชลประทานมีแผนผันนน้ำตามโครงข่ายน้ำเชื่อมโยงอ่างเก็บน้ำประแสร์ เนื่องจากอ่างเก็บน้ำประแสร์เป็นศูนย์กลางของการผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำต่างๆ เพื่อสนับสนุนการอุปโภคบริโภค การเกษตร และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคตะวันออก
ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำประแสร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 3 พ.ค.2566) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ ประมาณ 204 ล้าน ลบ.ม. หรือ 82% ของความจุอ่างฯ สามารถส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน ช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ได้มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคและการเกษตรอย่างเพียงพอและทั่วถึง โดยไม่มีพื้นที่ประสบภัยแล้งแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ ติดตามตรวจสอบอาคารชลประทาน สถานีสูบน้ำ และระบบส่งน้ำต่าง ๆ ให้สามารถใช้งานและส่งน้ำให้เกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะสถานีสูบน้ำคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งเป็นการสูบผันน้ำเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำประแสร์ เพื่อตอบสนองการใช้น้ำทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และยังช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดระยองได้อีกทางหนึ่งด้วย
“ปีนี้ปริมาณน้ำฝนมีแนวโน้มต่ำกว่าค่าเฉลี่ย กรมชลประทาน ได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศติดตามสภาพอากาศและสภาพฝนอย่างใกล้ชิด และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้มีการกักเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตให้มากที่สุด รวมไปถึงการเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ การกำจัดวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้ปฏิบัติตาม 12 มาตรการ รับมือฤดูฝน ปี 2566 อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอสำหรับทุกกิจกรรม และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด