บีโอไอ-กนอ. ลุยโรดโชว์เกาหลีใต้ เจาะกลุ่มดึงลงทุนอีวี เซมิคอนดักเตอร์
บีโอไอ จับมือ กนอ. กลุ่มปตท. และเครือซีพี รุกโรดโชว์เกาหลีใต้ ย้ำโอกาสความร่วมมือธุรกิจ ตั้งโต๊ะเจรจาสมาคมผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ สร้างคลื่นลงทุนลูกที่สามในไทย
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอได้เดินทางจัดสัมมนาการลงทุนในหัวข้อ “Thailand Investment Promotion Strategy: NEW Economy, NEW Opportunities” ณ กรุงโซลสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2566 พร้อมด้วยพันธมิตรการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และบริษัทชั้นนำของไทย กลุ่ม ปตท. และเครือซีพี เข้าร่วมบรรยายให้ข้อมูลการลงทุนและโอกาสในการร่วมมือทางธุรกิจระหว่างไทย - เกาหลี รวมถึงเปิดการเจรจาธุรกิจและให้คำปรึกษาด้านการลงทุนเป็นรายบริษัท โดยมีนักลงทุนเข้าร่วมสัมมนามากกว่า 180 คน
ปัจจุบัน มีบริษัทเกาหลีมากกว่า 400 ราย ที่เข้ามาลงทุนในไทยและประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทรายใหญ่หรือกลุ่มแชโบล เช่น ซัมซุง แอลจี พอสโก ฮันวา และฮันซอล ถือเป็นคลื่นการลงทุนลูกแรกจากเกาหลีที่เข้ามาไทยเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้วและได้ขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง จากกลุ่มซัพพลายเอ้อร์และพันธมิตรทางธุรกิจ ตามเข้ามาลงทุนเป็นคลื่นลูกที่สอง ทำให้ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีโครงการลงทุนจากเกาหลีเข้ามาอย่างต่อเนื่องปีละเฉลี่ย 30 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนราว 5,000 ล้านบาทต่อปี
“หลังจากนี้จะเป็นช่วงเวลาสำคัญของโลกยุคหลังโควิดที่มีความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะสงครามการค้าและความขัดแย้งระหว่างประเทศ จะเป็นโอกาสที่ไทยและเกาหลีจะร่วมกันสร้างคลื่นลูกที่สามของการลงทุนเกาหลีในไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ทั้งสองประเทศมีความสนใจร่วมกัน และเกาหลีมีความเชี่ยวชาญ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เซมิคอนดัคเตอร์ ระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีชีวภาพ ดิจิทัล โดยเฉพาะการพัฒนาเกมและระบบอัจฉริยะใน Smart City
รวมทั้งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่น กรณีที่เครือซีพี ได้จับมือกับบริษัทเกาหลีหลายราย ทั้งกลุ่ม SM Entertainment, CJ Entertainment และล่าสุดคือ The Black Label ซึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายสาขาต่างๆ นี้ เป็นที่สนใจของนักลงทุนเกาหลีอย่างมาก และยุทธศาสตร์ใหม่ของบีโอไอก็จะช่วยสนับสนุนให้เกิดคลื่นการลงทุนลูกที่สามจากเกาหลีได้ด้วย”
นอกจากดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตแล้ว บีโอไอยังชี้ให้บริษัทเกาหลีโดยเฉพาะกลุ่มที่มีฐานการผลิตในไทยอยู่แล้วมองเห็นโอกาสและข้อได้เปรียบในการเข้ามาจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarter) และศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยด้วย โดยไทยมีมาตรการเตรียมพร้อมบุคลากรเพื่อรองรับธุรกิจทั้งสองสาขานี้ ซึ่งจะช่วยทำให้ฐานธุรกิจของเกาหลีในไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีความมั่นคงในระยะยาว
โดยบีโอไอจะเข้าพบกับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายสำคัญ และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำแบบครบวงจร เพื่อหารือถึงโอกาสและแผนการลงทุนในประเทศไทย พร้อมทั้งจัดประชุมโต๊ะกลมกับสมาชิกของสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของเกาหลี ทั้งผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ ผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญ ผู้พัฒนาระบบจัดการแบตเตอรี่ และผู้ให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
นายปาร์ค แจฮอง ประธานสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าของเกาหลี กล่าวในงานสัมมนาว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ ทั้งต่อการตอบโจทย์เรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมและการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉลี่ยแล้วอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้ามีอัตราการเติบโตสูงถึงกว่า 30 - 40% ต่อปี แสดงถึงศักยภาพที่มีสูงมาก ทั้งเกาหลีใต้และไทยต่างได้ตั้งเป้าหมายอีวีที่ชัดเจน
โดยเกาหลีใต้ได้ตั้งเป้าให้บริษัทเกาหลีผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 3.3 ล้านคันภายในปี 2030 ขณะที่ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2030 ดังนั้น เกาหลีใต้ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 5 และไทยลำดับที่ 10 ของโลก จึงควรร่วมมือกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและระบบนิเวศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของทั้งสองประเทศ
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ในการประชุมรายย่อย (One on One Meeting) กับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นรายบริษัท โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (ชิพ) และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีการนำเสนอข้อมูลและศักยภาพนิคมอุตสาหกรรมของไทยที่พร้อมเป็นฐานการผลิต รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุน ขณะเดียวกันยังเชิญชวนให้กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ เข้ามาลงทุนในประเทศไทย
“เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าที่ กนอ.ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ ซึ่งการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า กนอ. และ บีโอไอ เน้นการทำงานเชิงรุก แต่ก็ติดตามความคืบหน้าไปด้วย รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าและนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง เป็นพันธมิตรระยะยาว ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นและไว้วางใจที่จะขยายการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง”