เจ้าหนี้อนุมัติยุบ ‘ไทยสมายล์’ - ลดต้นทุนการบินไทย 20%

เจ้าหนี้อนุมัติยุบ ‘ไทยสมายล์’ - ลดต้นทุนการบินไทย 20%

คณะกรรมการเจ้าหนี้การบินไทย อนุมัติควบรวมกิจการ ยุบ “ไทยสมายล์” ผิดตำนานโค้ดบิน WE โอน 20 ลำกลับฝูงบินแม่ภายในปีนี้ มั่นใจเป็นผลบวกใช้เครื่องบินเพิ่มขึ้น 11 ชั่วโมง ลดต้นทุนถึง 20%

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการเจ้าหนี้ เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2566 ซึ่งมีวาระพิจารณาควบรวมธุรกิจสายการบินไทยสมายล์ โดยระบุว่า คณะกรรมการเจ้าหนี้เห็นชอบแผนปรับโครงสร้างองค์กรของการบินไทย ที่จะควบรวมกับสายการบินไทยสมายล์ นำเครื่องบินทั้ง 20 ลำ ที่ก่อนหน้านี้ไทยสมายล์ทำสัญญาเช่าช่วงต่อจากการบินไทย ยกเลิกสัญญาดังกล่าวและนำเครื่องบินทั้งหมดกลับมาบริหารภายใต้การบินไทย
รวมทั้งการบินไทยแจ้งผลการประชุมต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หลังจากนั้นจะเริ่มการโอนสิทธิบริหารฝูงบิน 20 ลำ โดยดำเนินการแจ้งไปยังสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และกระทรวงคมนาคม เพื่อโอนสิทธิการใช้เครื่องบินกลับมายังการบินไทย รวมทั้งยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการการเดินอากาศ (AOL) ของสายการบินไทยสมายล์

“เรามีเป้าหมายว่าจะควบรวมไทยสมายล์เสร็จภายในปีนี้ กลับไปสู่จุดเริ่มต้นที่การบินไทยเป็นสายการบินเดียว ให้บริการเส้นทางครอบคลุมในและต่างประเทศ ภายใต้โค้ด TG โดยไม่มีสายการบินไทยสมายล์อีกแล้วในโค้ด WE”
ส่วนผลบวกที่การบินไทยประเมินจากการควบรวมกิจการ จะส่งผลต่ออัตราการใช้เครื่องบินมีประสิทธิภาพขึ้น เพราะปัจจุบันอัตราการใช้เครื่องบินของไทยสมายล์เฉลี่ยที่ 9 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ขณะที่การบินไทยมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12-13 ชั่วโมงต่อวัน บางกลุ่มมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ยถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน ถือว่าใช้เครื่องบินหนักมาก 
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาพบว่าหากการบินไทยนำเครื่องบินแอร์บัส 320 ของไทยสมายล์มาบริหารในเส้นทางบินต่างๆ จะทำให้การบินไทยใช้ประโยชน์ของเครื่องบินกลุ่มนี้ต่อวันเพิ่มขึ้นเป็น 11 ชั่วโมงเศษ ซึ่งสูงกว่าอยู่ที่ไทยสมายล์ 2 ชั่วโมงกว่าต่อวัน เพราะจะบริหารเส้นทางบินครอบคลุมการใช้งานทั้งในและต่างประเทศ จะเพิ่มชั่วโมงการบินช่วงเวลากลางคืนได้ และลดต้นทุนต่อชั่วโมงได้ถึง 20% แค่นี้ก็เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจเป็นผลบวกจากการปรับโครงสร้างองค์กรแล้ว
“จะนำเครื่องบินไทยสมายล์เข้าฝูงบินการบินไทยได้ไตรมาส 3 ถ้าหากได้รับความเห็นชอบจะทยอยนำเข้ามา 4 ลำก่อน จะทำให้การบินไทยมีฝูงบินเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มี 65 ลำ แต่แบ่งเป็นเครื่องบินลำตัวกว้างในฝูงบินของการบินไทย 45 ลำ เป็นเครื่องบินลำตัวแคบในฝูงบินไทยสมายล์ 20 ลำ หลังจากนี้จะกลับมาเป็นของการบินไทยทั้งหมด”
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการเจ้าหนี้การบินไทย เผยว่า ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการเจ้าหนี้ของการบินไทย ได้หารือกับฝ่ายบริหารการบินไทยมาตลอด ซึ่งพบว่าการควบรวมกิจการของไทยสมายล์เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ฟื้นฟูกิจการของการบินไทยอยู่แล้ว และเป็นผลบวกต่อการบินไทย เพราะผลดำเนินงานของไทยสมายล์ติดลบต่อเนื่องทำให้การบินไทยต้องแบกรับภาระเหล่านี้
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการเจ้าหนี้มั่นใจว่า เมื่อการบินไทยควบรวมไทยสมายล์แล้วจะควบคุมต้นทุนได้เพิ่มขึ้น และสร้างรายได้จากการบริหารฝูงบิน เพิ่มชั่วโมงบิน เพิ่มความถี่ และเพิ่มเส้นทางบินใหม่ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเจ้าหนี้หากการบินไทยมีผลดำเนินงานดีตามแผนฟื้นฟูกิจการจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับคืนหนี้ตามกำหนดหรือเร็วกว่ากำหนด