โจทย์หิน 'รมว.พลังงาน' คนใหม่ แก้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าไม่ง่าย
“พลังงาน” มองรัฐบาลใหม่ รื้อสัญญาค่าไฟยาก ต้องมองเหตุและผล ชี้ การอุ้มค่าพลังงานเป็นไปได้หมดหากมีงบสนับสนุน เผย 4 ปี รัฐดูแลค่าไฟ แอลพีจี เอ็นจีวี น้ำมัน 4.9 แสนล้าน สูญเสียรายได้ภาษีดีเซลอีก 1.3 แสนล้าน ส.อ.ท.เริ่มเห็นความหวังค่าไฟถูก ทุกพรรคให้ความสำคัญาคาพลังงาน
Key Points
- พรรคก้าวไกลกำลังเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลด้วยการรวบรวม 313 เสียง
- มีรายงานข่าวว่าพรรคเพื่อไทยยื่นข้อเสนอขอตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
- ที่ผ่านมามีเสียงเรียกร้องให้แก้ไขสัญญาซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนเพื่อแก้ปัญหาไฟแพง
- การแก้ไขสัญญารับซื้อไฟฟ้าเป็นข้อตกลงที่ทำกับเอกชนไว้แล้วจึงอาจแก้ไขได้ยาก
- 4 ปี รัฐบาลใช้งบประมาณดูแลราคาน้ำมัน แอลพีจี เอ็นจีวีและน้ำมัน 490,000 ล้านบาท
การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้มีความคืบหน้าหลังจากที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ร่วมแถลงจัดตั้งรัฐบาลกับ 7 พรรคการเมือง ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อไทยรวมพลังและพรรคพลังสังคม รวมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 313 เสียง
มีรายงานว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการแบ่งกระทรวง โดยพรรคเพื่อไทยต้องการบริหารกระทรวงพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยได้หาเสียงด้วยนโยบายพลังงาน 3 ประเด็น คือ
1.ปรับลดราคาพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้า ทันทีก๊าซเพื่อลดภาระในการเข้าถึงแหล่งพลังงานในชีวิตประจำวันให้ประชาชน
2.การเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนเพื่อเพิ่มแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีราคาถูกและสามารถสร้างรายได้ให้ภาครัฐจากค่าภาคหลวง
3.สนับสนุนพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือกเพื่อลดการพึ่งพิงพลังงานแบบดั้งเดิม เพิ่มความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตามแนวนโยบายพรรคการเมืองเกี่ยวกับราคาพลังงานนั้น หากผู้แทนของพรรคเพื่อไทยได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตามรายงานข่าว
ทั้งนี้ หากดูตามนโยบายที่จะผลักดันให้ราคาค่าไฟฟ้าให้ถูกลง ประกอบด้วย การปรับลดราคาค่าไฟฟ้าตามต้นทุนราคาพลังงานที่แท้จริง เนื่องจากขณะนี้ราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าอย่างราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หากรัฐบาลมีการบริหารจัดการต้นทุนและการยืดหนี้ค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ที่ยังค้างจ่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ออกไป โดยมีการหาแหล่งเงินให้กับ กฟผ.หรือการหาเงินอื่นมาสนับสนุน
นอกจากนี้ ในส่วนของการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตสอดคล้องกับปริมาณไฟฟ้าสำรองที่สั่งซื้อจากเอกชน เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตั้งเป้าว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยจะเติบโตถึง 5% ต่อปี จึงต้องผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในธุรกิจและอุตสาหกรรม แต่ในความเป็นจริง GDP ของไทยขยายตัวแค่ 1% กว่าต่อปี นั้น ส่งผลให้รัฐต้องเสียค่าความพร้อมจ่ายให้โรงไฟฟ้าเอกชน ซึ่งในจุดนี้ถือเป็นวิกฤติทั่วโลก
รัฐแก้สัญญารับซื้อไฟฟ้าไม่ง่าย
ทั้งนี้ จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้น ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นมาตามความคาดการณ์แล้ว โดยมีภาคอุตสาหกรรมหรือภาคประชาชนบางส่วนเรียกร้องให้มีการปรับแก้สัญญาซื้อขายไฟกับโรงไฟฟ้าเอกชนนั้น ข้อนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งสิ่งสำคัญคือจะต้องดูข้อกฏหมายของสัญญาที่ได้ดำเนินการร่วมกันซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กฟผ.และโรงไฟฟ้าที่ทำสัญญามีอยู่ในมือ ดังนั้น กระทรวงพลังงานเองก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวตรงนี้
“เชื่อว่าการทำสัญญาต่างๆ ของภาครัฐนั้นรัดกุมอยู่แล้ว เพราะเป็นการทำสัญญาระดับราชการ คงไม่มีใครอยากติดคุก ซึ่งการจะปรับแก้ไขสัญญาหรือทบทวนอะไรก็คงต้องดูรายละเอียดเชิงลึก และนำทั้งเหตุและผลมาคุยกัน” แหล่งข่าว กล่าว
นอกจากนี้ ในส่วนของนโยบายที่จะเร่งจรจาเรื่องปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา เพื่อที่จะนำก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้ประโยชน์ ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนก๊าซที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าลดลง โดยอย่างน้อยก็เท่ากับก๊าซที่ขุดจากอ่าวไทย ซึ่งต้นทุนก๊าซที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 2-3 บาทต่อหน่วยนั้นนั้น กระทรวงพลังงานได้หารืออย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าเมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาและขับเคลื่อนอย่างจริงจังก็จะสามารถดำเนินการได้ทันที ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
ทุกพรรคหนังผลิตไฟโซลาร์เซลล์
ส่วนการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์ระดับครัวเรือนเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก โดยลดขั้นตอนขออนุญาตและการขายไฟฟ้าที่เหลือใช้ให้ กฟผ.รวมทั้งจัดหาแบตเตอรี่โซลาร์เซลล์ที่คุณภาพดีและราคาถูกให้ประชาชนนั้น ถือเป็นนโยบายที่แทบจะทุกพรรคให้ความสำคัญ หากรัฐบาลมีงบประมาณสนับสนุนอย่างจริงจังก็สามารถทำได้หมด
ขณะที่ขั้นตอนการขอติดตั้งหรือการขายไฟของสำนักงาน กกพ.มีเงื่อนไขและขั้นตอนอยู่แล้ว หากจะเอื้ออำนวยให้มีความรวดเร็วขึ้นก็ทำได้ แต่ต้องดูปัจจัยรอบด้านโดยเฉพาะบ้านที่จะติดตั้งว่ามีความพร้อมหรือไม่ อย่างไร
แหล่งข่าว กล่าวว่า ในส่วนของนโยบายให้ กฟผ.ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะทำให้ราคาค่าไฟลดลง อีกทั้งสามารถจำหน่ายไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ให้ประเทศที่มีความต้องการเพื่อนำรายได้เข้าประเทศนั้น ปัจจุบัน กฟผ.อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ โดยตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟสะอาดกว่า 10,000 เมกะวัตต์ ซึ่งต้องใช้เม็ดเงินลงทุนหลายแสนล้านบาท ดังนั้น นโยบายทุกอย่างของพรรคการเมืองที่หาเสียง มีทั้งทำได้ทันที และทำไม่ได้ สิ่งสำคัญ คือ งบประมาณ
ส.อ.ท.หวังแก้โครงสร้างพลังงาน
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า มองทิศการแก้ไขราคาค่าไฟฟ้าในประเทศไทยจะดีขึ้น หากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เนื่องจากที่ผ่านมานโยบายการหาเสียงของทุกพรรคเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ได้แสดงวิธีการลดราคาชัดเจนเหมือนพรรคก้าวไกล แต่โดยการเป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลเดียวกัน บวกกับเป็นโจทย์ที่ทั้งประเทศรับรู้ร่วมกันไปแล้วก็น่าจะมีการพิจารณาถึงแนวทางที่ทำให้ราคาลดลง
“ตราบใดที่ราคาค่าไฟยังแพงอยู่ ก็ต้องทำให้ดีขึ้น และบรรเทาปัญหาลงแน่นอน จึงมองว่าในระยะสั้นต้นทุนพลังงาน ต้นทุนไฟฟ้าดีขึ้นแน่นอน แม้ว่าส่วนตัวในภาพรวมที่คนข้างนอกมองว่าจะมีคอนเน็คชั่นเดิมอยู่บ้าง ซึ่งหากมองในตอนนี้เรื่องพลังงานถือเป็นกระแส และทุกพรรคร่วมรัฐบาลมีนโยบายลดพลังงานในทิศทางเดียวกัน” นายอิศเรศ กล่าว
แนะรัฐบาลใหม่3โจทย์พลังงาน
นายพิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารจัดการราคาพลังงานของประเทศไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองไหนมาเป็นรัฐบาลจะต้องเจอกับ 3 โจทย์หลักในการบริหาร ได้แก่
1.สถานการณ์ราคาตลาดโลก เนื่องจากประเทศไทยเราไม่สามารถผลิตพลังงานเองได้เพียงพอ ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างชาติ
2.พฤติกรรมการใช้พลังงาน ยิ่งประชาชนใช้เกินกว่าที่ผลิตได้ ย่อมต้องพึ่งพาการนำเข้าด้วยราคาแพง
3.สัญญาพลังงานที่ทำมาตั้งแต่ในอดีต ทำให้นโยบายที่จะนำมาใช้อาจมีความยากง่ายแตกต่างกันไป
4ปีดูแลพลังงาน4.9แสนล้าน
นายพิสุทธิ์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน บริหารจัดการมาตรการดูแลประชาชน ได้มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนตั้งแต่ปี 2563-ม.ค.2566 โดยใช้งบประมาณนรวม 449,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ปี 2563 จำนวน 41,000 ล้านบาท , ปี 2564 จำนวน 78,000 ล้านบาท , ปี 2565 จำนวน 300,000 ล้านบาท และปี 2566 จำนวน 20,000 ล้านบาท โดยเมื่อแยกประเภทเชื้อเพลิงได้ ประกอบด้วย
1.มาตรการพยุงราคารน้ำมัน วงเงิน 106,518 ล้านบาท ประชาชนได้รับประโยชน์ 12.34 ล้านราย โดยตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในกรอบไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร (เดือนต.ค. 2564-เมย. 2565) พร้อมอุดหนุนส่วนที่เกิน 30 บาทต่อลิตร (เดือนพ.ค.-มิ.ย.65) และส่วนที่เกิน 35 บาทต่อลิตร (เดือนก.ค.-ก.ย.65) อุดหนุนตามความเหมาะสม (เดือน ต.ค.-ธ.ค.2565)
2.มาตรการพยุงค่าไฟฟ้า วงเงิน 260,035 ล้านบาท ประชาชนได้รับประโยชน์ 21.47 ล้านราย ประกอบด้วย ปรับลดและตึงค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) คืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า8 ล้านราย อาทิ อนุมัติงบ8,000 ล้านบาท ช่วยค่าไฟ2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มผู้ใช้ไฟบ้านไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยให้ส่วนลดค่าไฟ 92.04 สตางค์ต่อหน่วย2. กลุ่มผู้ใช้ไฟระหว่าง 301-500 หน่วยต่อเดือน โดยให้ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft แบบขั้นบันได ในอัตรา 15 -75% ทั้ง 2 กลุ่มช่วยเหลือเป็นเวลา 4 เดือน (ก.ย.-ธ.ค.2565)
ส่วนงวด ม.ค.-เม.ย. 2566 กระทรวงพลังงานมีมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยคงราคาค่าไฟฟ้าให้ได้ 3.78 บาทต่อเดือน ส่วนที่ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 301-500 หน่วยต่อเดือน จะคงค่าไฟไว้และช่วยเหลือแบบขั้นบันได
นอกจากนี้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้อนุมัตมาตรการช่วยเหลือค่าไฟของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามเสนอวงเงิน 10,464 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน ช่วยประชาชนตั้งแต่เดือน พ.ค.-ส.ค.2566 แบ่งเป็น มาตรการดูแลผู้ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย เป็นขั้นบันได วงเงิน 7,500 ล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้ารายครัวเรือนที่ใช้ไฟไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือนในเดือน พ.ค.วงเงินครัวเรือนละ 150 บาท รวม 1 เดือน ประชาชน 23.4 ล้านครัวเรือน
3.มาตรการพยุงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) วงเงินที่ใช้ 41,081 ล้านบาท ประกอบด้วย ตรึงราคาขายปลีกนานกว่า 2 ปีและทยอยขึ้นราคาตั้งแต่ 1 เม.ย. 2565 ประชาชนได้ประโยชน์ 20 ล้านครัวเรือน พร้อมกับช่วยผู้มีรายได้น้อย 5.5 ล้านคน ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจากเดิม 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือนเป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน และขยายระยะเวลาการช่วยส่วนลดราคา LPG กลุ่มร้านค้าหาบเร่แผงลอยโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนินการ 5,500 รายต่อเดือน
4.มาตรการพยุงราคา NGV วงเงิน 1,3217 ล้านบาท โดย ปตท. ซึ่งประชาชนได้ประโยชน์ 308,798 คน
ลดภาษีดีเซล1.3 แสนล้านบาท
รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า นอกจากการจัดสรรงบประมาณแล้วยังมีการลดภาษีดีเซลรวม 6 ครั้ง กระทบรายได้รัฐ 138,000 ล้านบาท ดังนี้ 1.วันที่ 18 ก.พ.-20 พ.ค.2565 (3 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 3 บาท รัฐสูญรายได้ 18,000 ล้านบาท 2.วันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค.2565 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท
3.วันที่ 21 ก.ค.-20 ก.ย.2565 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท 4.วันที่ 21 ก.ย.-20 พ.ย.2565 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท 5.วันที่ 21 พ.ย.2565-20 ม.ค.2566 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท
รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท 6.วันที่ 21 ม.ค.-20 พ.ค.2566 (4 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 40,000 ล้านบาท