'กรมราง' เตรียมดัน พ.ร.บ.เข้าสภาใหม่ ยกเครื่องระบบราง - เข้มสอบใบขับขี่ฯ
กรมการขนส่งทางราง เตรียมดัน พ.ร.บ.ขนส่งทางรางเข้าสภาใหม่ ย้ำชัดไทยต้องมี "ใบขับขี่" หวังกำกับมาตรฐานผู้ประกอบการ ออกใบอนุญาตคนขับและตัวรถ ลุยศึกษาโมเดลไต้หวัน เตรียมเคาะหลักเกณฑ์กำหนดข้อสอบ ก.ย.นี้
พระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ... ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนรอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาผ่านร่างกฎหมาย หลังจากภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาในสภาฯ วาระ 1 ไปแล้ว แต่ยังเป็นกฎหมายตกค้างในขั้นตอน ซึ่งหากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่อย่างเป็นทางการ คาดการณ์ว่าจะมีการเร่งเสนอ พ.ร.บ.การขนส่งทางรางฉบับดังกล่าวไปยังกระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ และนำกลับเข้าสู่การพิจารณาในสภาอีกครั้ง
โดยตามกระบวนการแล้ว คาดการณ์ว่ารัฐบาลใหม่อาจจัดตั้งและเริ่มเข้ามาบริหารงานในช่วงเดือน ส.ค.นี้ ดังนั้นกรมการขนส่งทางรางจึงประเมินว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะมีการประกาศบังคับใช้ได้ภายในปี 2567 หรืออย่างช้าในช่วงต้นปี 2568
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางการรอประกาศ พ.ร.บ.ขนส่งทางราง ที่จะมีผลต่อการยกระดับมาตรฐานของระบบขนส่งทางรางให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน โดยจะมีกรมการขนส่งทางรางเป็นหน่วยงานกำกับดูแล (เลคกูเรเตอร์) บังคับใช้กฎหมายควบคุมทั้งในด้านคุณภาพการออกแบบ การก่อสร้าง การดูแลผู้โดยสาร การดูแลตัวรถไฟให้มีการตรวจเช็คและซ่อมบำรุงตามกฎหมาย รวมไปถึงการควบคุมเพดานราคาค่าโดยสารให้เป็นไปในหลักเกณฑ์เดียวกัน
ล่าสุดกำหนดโครงการศึกษา ออกแบบ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการ และการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล (e-license R) เพื่อเตรียมการออกใบอนุญาตผู้ประกอบกิจการขนส่งทางราง ใบอนุญาตพนักงานขับรถไฟและผู้ประจำหน้าที่ ตลอดจนการจดทะเบียนรถขนส่งทางราง ให้สอดคล้องตkมร่างพ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. ....
โดยขณะนี้มีการหยิบยกโมเดลหน่วยงานเลคกูเรเตอร์จากต่างประเทศเป็นต้นแบบของการพัฒนาหลักเกณฑ์ อาทิ สิงคโปร์ เยอรมนี และไต้หวัน ซึ่งล้วนแต่เป็นประเทศที่มีการพัฒนาระบบขนส่งทางรางมายาวนาน และได้รับความนิยมจากประชาชนในประเทศยกให้เป็นระบบขนส่งสาธารณะหลักที่มีการใช้งานมากที่สุด ช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัด อีกทั้งยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับการเดินทางเชื่อมต่อกับระบบขนส่งรองประเภทอื่นๆ เป็นอย่างดี
อธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยถึงการเข้าหารือร่วมกับหน่วยงานด้านการออกใบอนุญาตระบบขนส่งทางรางของกรุงไทเป ไต้หวัน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาออกข้อกำหนดใบอนุญาตพนักงานขับรถไฟในไทย และการจดทะเบียนรถขนส่งทางราง โดยระบุว่า ปัจจุบันกรมการขนส่งทางรางอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดในการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้
อย่างไรก็ดี กรมฯ ยืนยันว่าผู้ให้บริการระบบขนส่งทางรางไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน มีความจำเป็นที่จะต้องผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติตามเกณฑ์ข้อกำหนดต่างๆ และต้องมีใบอนุญาตดำเนินกิจการตามข้อกำหนดทางกฎหมาย เพื่อให้ความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้บริการ ส่วนรถไฟที่จะมาให้บริการนั้น ก็มีความจำเป็นต้องจดทะเบียนตัวรถคล้ายกับรถยนต์ที่ปัจจุบันมีอยู่ เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบมาตรฐานตัวรถ และระยะเวลาของการซ่อมบำรุง
สำหรับการหารือและศึกษาดูงานระบบขนส่งทางรางของกรุงไทเปนั้น เนื่องจากมีความใกล้เคียงกับไทยทั้งในด้านของค่าครองชีพ และอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่เริ่มต้น 20 – 65 บาท แต่สามารถผลักดันให้ประชาชนใช้บริการระบบขนส่งทางรางเป็นการขนส่งหลักได้ โดยเมืองไทเปมีประชากรประมาณ 6.5 ล้านคน ใช้รถไฟฟ้าเดินทางถึง 2 ล้านคนต่อวัน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ไทยต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น
อีกทั้งกรุงไทเปยังสามารถควบคุมมาตรฐานของระบบขนส่งทางรางได้เป็นอย่างดี รวดเร็ว ตรงเวลา ภายในสถานีมีสิ่งอำนวยความสะดวก และยังมีการออกแบบให้รองรับบริการทุกกลุ่ม หรือ Universal Design (UD) ซึ่งจากการศึกษาดูงานก็พบว่าปัจจัยบวกจากการบริหารระบบขนส่งทางรางอย่างมีระบบเช่นนี้ได้ เนื่องจากรัฐบาลกลางไต้หวันเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และมอบหมายให้รัฐบาลท้องถิ่นเป็นผู้ให้บริการ ทำให้สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายรถไฟฟ้าทุกเส้นทางร่วมกันได้
“ข้อดีของการเชื่อมโยงเครือข่ายรถไฟฟ้า บริหารจัดการรถไฟให้ตรงเวลา เป็นมาตรฐานที่กรมฯ ต้องนำไปปรับใช้ในการพัฒนาฐานข้อมูลแก่ผู้ประกอบการ เรื่องของการออกใบอนุญาตก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ผู้ประกอบการต่างๆ มีมาตรฐานเดียวกันที่เป็นมาตรฐานสากล ส่วนโมเดลบริหารรถไฟด้วยรัฐบาลท้องถิ่นนั้นก็เป็นอีกหนึ่งโมเดลที่น่าสนใจ เพราะจะเป็นประโยชน์ในการทำให้ราคาค่าโดยสารถูกลง”
ทั้งนี้ การยกระดับมาตรฐานระบบขนส่งทางรางในไทยจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ บันไดขั้นแรกที่ต้องจับตาดูต่อไป คือ นโยบายจากรัฐบาลชุดใหม่ต่อการผลักดัน พ.ร.บ.ขนส่งทางราง ให้เกิดขึ้นโดยเร็วเท่าทันต่อการเติบโตของระบบขนส่งทางรางที่อยู่ระหว่างพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรถไฟฟ้าที่กำลังเกิดขึ้นมารองรับบริการประชาชน