พาณิชย์ประชุมทูตพาณิชย์ เคาะแผนดันส่งออกครึ่งปีหลัง
พาณิชย์ประชุมทูตพาณิชย์ประเมินส่งออกครึ่งปีหลัง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หวัง ดันตัวเลขส่งออกทั้งปีเข้าเป้าโต 1-2 %
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 25 พ.ค. กระทรวงพาณิชย์ จะมีการประชุมผู้อำนวยการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ (ผอ.สคต.) 58 แห่ง 43ประเทศทั่วโลก ร่วมกับพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ และภาคเอกชน เพื่อหารือถึงแผนผลักดันการส่งออกในครึ่งปีหลัง และจัดทำแผนการขับเคลื่อนการส่งออกระยะที่ 2 อย่างละเอียด แบบเจาะลึกรายภูมิภาค
โดยมีนายกีรติ รัชโน ปลัดพาณิชย์ เป็นประธานการประชุม ซึ่งทูตพาณิชย์จะนำเสนอประเมินสถานการณ์และแผนผลักดันการส่งออกในครึ่งปีหลังใน 7 ภูมิภาคทั่วโลก ทั้งนี้การประชุมทูตพาณิชย์ครั้งเป็นการประชุมแบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด -19
ก่อนหน้านี้นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ ประเมินสถานการณ์การส่งออก รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบจากปัจจัยภายนอกทั้งสงครามรัสเซียและยูเครนเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นทั่วโลก เศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณชะลอตัวรวมทั้งจัดทำเป้าหมายการดำเนินงานของทูตพาณิชย์ในการผลักดันการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง
ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าการส่งออกปี 66 ไว้ที่ 1-2 % ล่าสุดตัวเลขการส่งออกเดือน มี.ค.66 มีมูลค่า 27,654.4 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 4.2% ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกในไตรมาสแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 70,280.1 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 4.5% ทำให้เกิดความกังวลว่า การส่งออกในปีนี้อาจทำไม่ถึงตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)กระทรวงพาณิชย์ได้ประเมินแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไปว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ ทั้งจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในแต่ละภูมิภาคของโลกยังอยู่ในระดับสูง ภาวะวิกฤตของสถาบันการเงินยังเป็นปัจจัยบั่นทอนต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ รวมไปถึงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อผันผวนของราคาพลังงานโดยคาดว่าแนวโน้มการส่งออกไตรมาส 2 การส่งออกจะยังติดลบ แต่ไม่มาก และช่วงครึ่งปีหลังจะเริ่มดีขึ้น
ด้านสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดการณ์การส่งออกรวมทั้งปี 2566 เติบโตระหว่าง 0-1% โดยมีปัจจัยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1. เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลต่อทุกภาคส่วน อาทิ ภาคการเงิน การผลิต การส่งออก วัตถุดิบและพลังงาน 2. ต้นทุนการผลิตยังคงสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และพลังงาน ซึ่งยังมีความผันผวนและส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน 3. ปริมาณสินค้าคงคลังในประเทศคู่ค้ายังคงปริมาณสูง ส่งผลให้ความต้องการลดลง 4. ปัญหาสภาพอากาศที่ร้อนจัดทั่วโลก ส่งผลต่อการผลิตในภาคการเกษตร ผลผลิตออกไม่ตรงตามฤดูกาล
ทั้งนี้เป้าการส่งออกขยายตัว1-2% ทำให้การส่งออกในแต่ละเดือนมูลค่าการส่งออกจะต้องได้เฉลี่ย24,500ล้านดอลลาร์ถือเป็นความท้าทายท่ามกลางสถานการณ์การค้าโลกที่ไม่เอื้ออำนวย