หนี้ครัวเรือนพุ่ง แบงก์ปฏิเสธสินเชื่อ ฉุดยอดขายกระบะร่วง
ส.อ.ท.คงเป้าการผลิตรถปีนี้ 1.95 ล้านคัน หลังยอดผลิต 4 เดือน ขยายตัว 4.61% ส่งออกฟื้น 18.34% ขณะที่ยอดขายในประเทศลดลง 6.11% โดยเฉพาะรถกระบะ สะท้อนกำลังซื้ออ่อนแรงจากปัญหาหนี้เสียและหนี้ครัวเรือน
ปัญหานี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นเริ่มเห็นผลกระทบต่อการบริโภคในประเทศชัดเจนขึ้น โดยที่ผ่านมาสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แสดงความกังวลว่าหนี้ครัวเรือนกำลังจะเป็น “ระเบิดลูกใหม่” ของเศรษฐกิจไทย
ข้อมูลล่าสุดในไตรมาส 4 ปี 2565 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 15.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% จากไตรมาสก่อนหน้า ถึงแม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลดลงเหลือ 86.9% แต่เป็นเพราะจีดีพีขยายตัวขึ้น แสดงให้เห็นว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยไม่ลดลง โดย สศช.กังวลว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนจะเป็นปัญหาในการฉุดรั้งการใช้จ่ายของประชาชนและฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนทำให้สถาบันการเงินปฏิเสธการให้สินเชื่อรถยนต์ จากอัตราหนี้เสีย (NPL) ของสินเชื่อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นจาก 1.88% เป็น 1.89% รวมทั้งมีการค้างชำระสินเชื่ออื่นอยู่ก่อนแล้ว และทำให้ปัจจัยดังกล่าวมีผลต่อยอดขายรถในเดือน เม.ย.2566
สำหรับยอดขายที่ลดลงชัดเจนจากกำลังซื้อในประเทศลดลง คือ รถกระบะที่ยอดขายลดลงต่อเนื่อง โดยการจำหน่ายรถกระบะ 80% เป็นการซื้อผ่านสินเชื่อเช่าซื้อรถ ซึ่งมีปัญหาผู้เช่าซื้อถูกปฏิเสธสินเชื่อ รวมทั้งทำให้ยอดขายรถรวมในประเทศเดือน เม.ย.2566 อยู่ที่ 59,530 คัน ลดลง 6.14% รวม 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) อยู่ที่ 276,603 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 6.11%
ในขณะที่ยอดการผลิตรถยนต์ เดือน เม.ย. 2566 อยู่ที่ 117,636 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า 0.13% เพราะมีวันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ทำให้มีวันเดินเครื่องการผลิตลดลง รวมแล้วในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) มียอดผลิต 625,423 คัน เพิ่มขึ้น 4.61% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์
ส่วนยอดการส่งออกเดือน เม.ย.อยู่ที่ 79,940 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 43.53% และเมื่อรวมการส่งออกเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 353,632 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ในช่วงเวลาเดียวกัน 18.34% รวมมูลค่าการส่งออก293,549 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.38%
“เมื่อเทียบกับฐานต่ำในปีที่แล้ว หลังความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ปะทุขึ้น ทำให้มีวิกฤติขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ รวมมทั้งเป็นช่วงที่จีนล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ การส่งออกเดือน เม.ย.นี้ จึงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ”
ทั้งนี้ยังมีปัญหาพื้นที่จอดรถยนต์บนเรือขนส่งไม่เพียงพอ และความล่าช้าในการส่งสินค้าลงเรือสำหรับส่งออกไปออสเตรเลียที่เข้มงวดการนำเข้า จะต้องไม่ปนเปื้อนวัชพืชหรือดอกหญ้า ทำให้ต้องล้างรถและขนส่งล่าช้าไป 5-7 วัน
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.ประเมินว่าเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปีนี้น่ากังวล โดยที่ผ่านมาตั้งเป้าหมายการผลิต 1.95 ล้านคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก 1.05 ล้านคัน และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 900,000 คัน แต่คาดว่าช่วงครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้น หลังจากจัดตั้งรัฐบาลได้และมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มคงตัว
หวั่นมาตรการ EV ขาดความต่อเนื่อง
สำหรับยอดรถยนต์นั่งไฟฟ้าประเภทแบตเตอรี่ (BEV) จดทะเบียนใหม่เดือนเม.ย. 2566 ยังเติบโตได้ดี อยู่ที่ 3,820 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 882% เพราะมาตรการสนับสนุนภาครัฐทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นต่ำกว่ารถเครื่องยนต์สันดาปภายใน โดย ณ วันที่ 30 เม.ย.2566 มียอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งไฟฟ้าประเภทแบตเตอรี่ (BEV) สะสมที่ 31,873 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อน 467%
“มาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV3) อุดหนุนเงิน 1.5 แสนบาท สำหรับรถอีวีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และลดภาษีสรรพสามิตทำให้ราคาอีวีเอื้อมถึงได้ทั้งยังต่ำกว่ารถน้ำมัน กำลังจะสิ้นสุดในปี 2566 รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า (EV3.5) ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะยุบสภาก่อนนั้น หวังว่าจะนำเข้า ครม.ชุดใหม่ได้ภายในปีนี้ เพื่อให้มาตรการต่อเนื่องและสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนที่มาตั้งโรงงานผลิตในไทย รวมทั้งการผลิตชิ้นส่วนอื่นๆ ที่จะตามเข้ามาสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับประเทศ
สำหรับยอดรถยนต์ไฟฟ้าประเภทไฮบริด (HEV) เดือน เม.ย.2566 จดทะเบียนใหม่ 6,198 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 31.62% ส่วนยอดจดทะเบียนใหม่สะสม ช่วง ม.ค.-เม.ย.2566 มีจำนวน 30,634 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 40.97% ส่งผลให้ ณ วันที่30 เม.ย.2566 ยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท HEV มีจำนวน 290,035 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 32.99%
ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าประเภทปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) เดือน เม.ย.2566 จดทะเบียนใหม่ 784 คัน ลดลงจากปีก่อน 6.33% ส่วนยอดจดทะเบียนใหม่สะสมช่วง ม.ค.-เม.ย.2566 มีจำนวน 4,172 คันเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 9.62% ส่งผลให้ ณ วันที่ 30 เม.ย.2566 ยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท PHEV มีจำนวน 46,532 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 33.18%