‘สพพ.’เชื่อมไทย-เพื่อนบ้าน ชงรัฐบาลใหม่ปล่อยกู้ 1.8 พันล้าน เส้นทาง ‘R12’
สพพ.เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงไทย – เพื่อนบ้าน เดินหน้าเพิ่ม 4 โครงการชงรัฐบาลใหม่ปล่อยกู้พัฒนาเส้นทาง R12 เชื่อมจากนครพนม ไปถึงเวียดนาม วงเงิน1,833 ล้านบาท เผยให้สนับสนุนเพื่อนบ้านแล้ว 90 โครงการ วงเงินรวม 2.2 หมื่นล้าน เตรียมออกบอนด์เพิ่ม1.5 พันล้าน
นายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ “สพพ.”เปิดเผยว่าในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาการดำเนินโครงการของ สพพ.ในโครงการความร่วมมือและให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านตามภารกิจหลักอย่างหนึ่งของ สพพ.มีความท้าทาย และมีความยากในการทำงานเพิ่มขึ้นเนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้านก็เผชิญกับปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจ เช่น สถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา และปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงใน สปป.ลาว
อย่างไรก็ตาม สพพ.ก็ยังคงผลักดันความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน และความร่วมมือทางวิชาการอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการที่ประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงิน และการให้ความช่วยเหลือในเชิงวิชาการ
ทั้งนี้ สพพ.เตรียมที่จะผลักดันโครงการใหม่ 4 โครงการสำคัญ โดยเตรียมรายงานความคืบหน้าให้กับรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารงานรวมทั้งขออนุมัติวงเงินกู้ที่จะปล่อยกู้ให้กับเพื่อนบ้านเพิ่มเติม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และอำนวยความสะดวกการเดินทางข้ามแดน รวมทั้งช่วยให้ภาคเอกชนของไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไทยมากขึ้น โดย 4 โครงการที่เป็นโครงการใหม่ที่ สพพ.จะผลักดันให้เกิดขึ้นได้แก่
1.โครงการพัฒนาเส้นทางหมายเลข 12 (R12) ช่วงเมืองท่าแขก – จุดผ่านแดนนาเพ้า โดยเส้นทางนี้จะเชื่อมโยงการเดินทางจากชายแดนไทยที่ จ.นครพนม ไปถึงประเทศเวียดนาม ที่เมืองกวางบิงห์ ระยะทางประมาณ 147 กิโลเมตร โครงการก่อสร้างถนนจะเริ่มต้นจากเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว บริเวณจุดเชื่อมต่อกับถนนหมายเลข 13 ห่างจากจุดผ่านแดนถาวรนครพนม ประมาณ 17 กิโลเมตร (ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3) เชื่อมต่อไปยังเมืองยมมะลาด เมืองบัวละพา สิ้นสุดที่บริเวณจุดผ่านแดนสากลนาเพ้า สปป.ลาว ซึ่งอยู่ตรงข้าม
กับจุดผ่านแดนสากลจาลอ เมืองกวางบิงห์ (Quang Binh Province) ประเทศเวียดนาม
โครงการนี้มีความพร้อมในการที่จะก่อสร้างแล้วโดย สพพ.จะเสนอขอ ครม.ชุดใหม่อนุมัติวงเงินกู้ให้กับ สปป.ลาวในการดำเนินโครงการวงเงิน 1,833.74 ล้านบาท คาดว่าเมื่อได้รับอนุมัติวงเงินกู้แล้วจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 36 เดือน
2.โครงการปรับปรุงถนนหมายเลข 67 (NR 67) เสียมราฐ- อัลลองเวง-จวม/สะงํา โดยโครงการนี้เป็นความร่วมมือกับประเทศกัมพูชา ได้รับการอนุมติเงินกู้ และมีการลงนามในสัญญาเงินกู้ไปเมื่อเดือน พ.ย.2565 ที่ผ่านมา วงเงิน 983 ล้านบาท ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการเตรียมการก่อสร้างและอยู่ระหว่างจัดจ้างผู้รับเหมาและผู้ควบคุมโครงการ โดยรายละเอียดการก่อสร้าง ได้แก่ การปรับปรุงผิวจราจรเป็นแบบ AC และ RC ระยะทาง 134.68 กม. ปรับปรุงทางร่วมทางแยก ปรับปรุงโครงสร้างสะพานและระบบระบายน้ำ และติดตั้งท่อลอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ
โครงการนี้ NR67 จะช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคมขนส่งโดยเป็นเส้นทางสนับสนุนการเชื่อมโยงเส้นทางในประเทศระหว่างเมืองที่สำคัญ ได้แก่ พนมเปญ – เสียมราฐ – บันเตียเมียนเจย (บันทายมีชัย) ผ่านทางหลวงหมายเลข 6 (NR6) ของกัมพูชาและเส้นทางระหว่างประเทศที่สำคัญเชื่อมโยงกับไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) และทางหลวงอาเซียนสาย AH1 ผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 5 (NR5) (กรุงพนมเปญ – ปอยเปต) ซึ่งจะช่วย อำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค
3.โครงการ พัฒนาจุดผ่านแดนถาวรสตึงบทและถนนเชื่อมโยงไปยังถนนหมายเลข 5 ระยะที่ 2 โดยโครงการนี้ สพพ.ร่วมมือกับ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ในการศึกษาและออกแบบโครงการร่วมกัน และทางฝ่ายกัมพูชาอยู่ระหว่างพิจารณาขอรับความช่วยเหลือทางการเงิน ซึ่งโครงการนี้ถือว่ามีความสำคัญในการช่วยให้จุดผ่านแดนถาวร สามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าข้ามแดนระหว่างไทยและกัมพูชาได้มากขึ้น
และ 4.โครงการปรับปรุงถนน หมายเลข 68 (NR68) ช่องจอม/โอเสม็ด-สําโรง-กลอรันห์ ระยะทาง 120 กิโลเมตร โดยโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับกัมพูชา อยู่ระหว่างการจัดจ้างที่ปรึกษาโครงการ โดยมีเป้าหมายก่อสร้างและปรับปรุงถนนในเส้นทางนี้ให้ได้มาตรฐาน ASEAN Highway ที่ผู้ใช้ถนนได้รับความปลอดภัยในการสัญจร อำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมระหว่างประเทศ และส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ
"การทำงานของ สพพ.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่ง รวมทั้งการพัฒนาเมืองและพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านตามแนวระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS Economic Coridors)"
ปัจจุบันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในกลุ่ม 7 ประเทศเพื่อนบ้าน มีจำนวน 90 โครงการ เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 22,284.78 ล้านบาท
แบ่งโครงการออกเป็น 3 ประเภทคือ 1.โครงการความร่วมมือทางการเงิน จำนวน 29 โครงการ วงเงิน 21,910.69 ล้านบาท 2.โครงการความร่วมมือทางวิชาการ จำนวน 21 โครงการ วงเงิน 346 ล้านบาท และ 3.โครงการถ่ายทอดความรู้ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 40 โครงการ วงเงิน 28.09 ล้านบาท
สำหรับการจัดหาแหล่งเงินทุนในการจัดทำโครงการ และการให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบัน สพพ.มีการบริหารจัดการเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากเงินกู้ที่ขอจัดสรรจากรัฐบาล สพพ.ยังมีพันธมิตรที่เป็นสถาบันการเงินที่สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้ สพพ.ไปปล่อยกู้ในโครงการต่างๆที่เป็นความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยคาดว่าในปี 2566 – 2567 จะมีวงเงินที่ปล่อยกู้ให้กับประเทศเพื่อนบ้านตามแผนงานประมาณ 3,000 ล้านบาท
นอกจากนั้นยังมีการออกพันธบัตรเพื่อระดมทุน ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณจากภาครัฐ โดยในปี 2567 สพพ.จะมีการออกพันธบัตรระยะเวลา 10 ปีในลักษณะของ “ Social Bond” วงเงินประมาณ 1.5 พันล้านบาท เพื่อนำมาใช้โครงการที่เป็นความช่วยเหลือและความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านที่จะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต