แปรรูป ‘ตุ๊กแก’ โกยหลักแสน! ส่งออกจีน!

แปรรูป ‘ตุ๊กแก’ โกยหลักแสน! ส่งออกจีน!

ช่วงนี้สภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดนครพนมร้อนอบอ้าว บางหมู่บ้านเริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนน้ำ เนื่องจากฤดูฝนมาช้ากว่าทุกปี ไม่สามารถทำการเกษตรได้

แต่สำหรับชาวบ้านตาลน้อย หมู่ 7 และบ้านตาลใหญ่ หมู่ 8 หมู่ 9 ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม ถือเป็นโอกาสทองเลยทีเดียว เนื่องจากเป็นหมู่บ้านปริศนาที่เดียวในไทย ทำอาชีพแปลกตามฤดูกาล ทั้งจับตุ๊กแก ไส้เดือน ปลิงแปรรูป ส่งขายต่างประเทศ สร้างรายได้มานานกว่า 30 ปี โดยช่วงอากาศร้อนอบอ้าว เป็นฤดูกาลของการจับตุ๊กแกนำมาแปรรูป และเป็นช่วงที่ตุ๊กแกมีขนาดพอเหมาะ จึงพากันออกล่าตุ๊กแกระหว่างเดือนมีนาคม-กรกฎาคมของทุกปี ชาวบ้านหลังจับตุ๊กแกได้ก็จะนำไปขายให้กลุ่มแปรรูป ชำแหละท้องเอาเครื่องในออก ทำความสะอาดก่อนนำไปตากแห้ง ส่งให้นายทุนต่างชาติ โดยขั้นตอนแปรรูปจะมีตัวแทนชาวบ้านที่เป็นพ่อค้าคนกลาง รับซื้อตัวสดในราคาตัวละประมาณ 20 -40 บาทแล้วแต่ขนาด

จากนั้นจะนำไปทำการแปรรูป อบแห้งส่งให้นายทุนราคาตัวละ 50 -80 บาทตามขนาด เพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน เชื่อว่านำไปปรุงเป็นส่วนผสมของยาจีน เป็นยาชูกำลัง มีออเดอร์รับไม่อั้น ทำมานานกว่า 20 -30 ปี บางครอบครัวขยันสร้างรายได้เดือนละนับแสนบาท ส่วนเงินหมุนเวียนสะพัดในพื้นที่ปีละหลาย 10 ล้านบาท ทั้งนี้ หลังจากหมดฤดูกาลจับตุ๊กแก ชาวบ้านจะพักล่าตุ๊กแก เพื่อให้มีการขยายพันธุ์ และจะหันไปทำอาชีพล่าปลิงอบแห้งขายตามฤดูกาลหมุนเวียนตลอดปี ทำให้มีการจ้างงานในพื้นที่ครบวงจรตลอดทั้งปี สอบถามนายไสว โคตะบิน อายุ 55 ปี ชาวบ้านตาลใหญ่ ต.นาหว้า ประกอบอาชีพแปรรูปตุ๊กแกส่งขาย เปิดเผยว่า ตุ๊กแกที่รับซื้อสดจะนำมาแปรรูป เริ่มจากการชำแหละเอาเครื่องในออก ส่วนอื่นยังต้องอยู่ครบ รวมถึงหางจะต้องไม่ขาด จากนั้นจะช่วยกันในครอบครัวทำคนละหน้าที่ เช่น แปรรูปคนหนึ่ง อีกคนจะนำตุ๊กแกมาขึงใส่ไม้แบบตามขนาด โดยจะมีการวัดขนาดความกว้าง ส่วนใหญ่จะมีขนาดตัวละ 12 -15 เซนติเมตร จากนั้นจะใช้เหล็กหนีบขึงให้หนังตุ๊กแกตึง ขึงขาทั้ง 4 ข้างออก รวมถึงมัดหางใส่ไม้เป็นก้านยาว ก่อนที่จะนำไปอบรมควันประมาณ 1 คืน ให้แห้งไม่ให้เกิดปัญหาเน่าเสียเวลาแพ็กส่งไปขาย ถือว่าสร้างงานสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ในแต่ละวันจะมีการแปรรูปวันละ 400 -500 ตัว จะมีทั้งรับจ้างแปรรูปตัวละประมาณ 7 -10 บาท ส่วนขายสดตัวละ 30 -40 บาท ตากแห้งแล้วตัวละ 50 -60 บาทตามขนาด แต่ละเดือนหักค่าใช้จ่ายแล้ว สร้างรายได้ดีพอสมควรไม่ต่ำกว่าเดือนละ 10,000 -20,000 บาท ในช่วงฤดูร้อนนี้มีเงินสะพัดในหมู่บ้านวันละนับแสน ด้าน นายชาญชัย ปาทา อายุ 65 ปี ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านผู้ค้าตุ๊กแก บ้านตาลน้อย ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม เปิดเผยว่าก่อนหน้านี้มีพ่อค้าคนกลางมาติดต่อ แนะนำให้ทดลองแปรรูปเอง จึงลองผิดลองถูกจนมีความชำนาญ ทำให้ปัจจุบันชุมชนบ้านตาลได้ฉายาว่าหมู่บ้านปริศนา เนื่องจากจะมีอาชีพแปลกตามฤดูกาล ช่วงฤดูฝนจะจับปลิงกับตุ๊กแกแปรรูปขาย ส่วนฤดูหนาวจะเป็นไส้เดือน โดยทำเป็นอาชีพหลักสืบทอดกันมากว่า 30 ปี สำหรับช่วงนี้จะเป็นการซื้อตุ๊กแกสดมาแปรรูป เป็นการรวมกลุ่มกันในหมู่บ้าน มีคนออกไปรับซื้อทั่วประเทศ รวมถึงล่าตุ๊กแกในพื้นที่ละแวกหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งจะเริ่มช่วงเดือนมีนาคม-กรกฎาคม จากนั้นจะพักการรับซื้อ เป็นช่วงการวางไข่ขยายพันธุ์ ที่ผ่านมายืนยันไม่กระทบการขยายพันธุ์ ทำมาแล้ว 30 ปี ยังมีให้รับซื้อตลอด ส่งขายไปจีนออเดอร์รับไม่อั้น โดยจะต้องผ่านการแปรรูปส่งออกไปขาย ส่วนตัวสดจะซื้อในราคาตัวละประมาณ 30 -40 บาท ตัวแห้งแปรรูปจะขายในราคาตัวละประมาณ 50 -60 บาท แต่ละเดือนเฉพาะกลุ่มของตน แปรรูปส่งขายสัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 50,000 ตัว มีพ่อค้าคนจีนรับซื้อไม่อั้น สร้างเงินหมุนเวียนสะพัดวันละเป็นแสน บางครอบครัวแปรรูปขายเอง ทำเงินได้เดือนละเป็นแสนบาท ส่วนคนที่ออกไปล่ามาขายจะมีรายได้เช่นกันวันละนับพันบาท ถือเป็นอาชีพสร้างงานสร้างรายได้ครบวงจรให้กับชุมชน มีชะงักในช่วงโควิดเกือบ 3 ปี เมื่อโควิดซาทำให้การค้าขายตุ๊กแกกลับมาคึกคักอีกครั้ง