3 บริษัทชั้นนำโลก สนลงทุนผลิตแบต EV ในไทย

3 บริษัทชั้นนำโลก สนลงทุนผลิตแบต EV ในไทย

อุตสาหกรรมแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในปี 2022 มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 56,400 ล้านดอลลาร์ และยังมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดที่อัตรา 19.9% ต่อปี เนื่องจากการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ซึ่งแบตเตอรี่ถือเป็นส่วนสำคัญและคิดเป็นต้นทุนกว่า 50% ของราคารถอีวี

คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้ประเมินความสำเร็จของมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ส่งผลให้ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องก้าวกระโดด โดยในปี 2565 ยานยนต์ไฟฟ้าใหม่มีการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 260%

ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการผลิตการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่ชัดเจนส่งผลให้มีผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับโลกแสดงความสนใจเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ในประเทศไทย

ภาครัฐของไทยอยู่ในระหว่างการเจรจากับผู้ผลิตแบตเตอรี่อีวีระดับโลก โดยมีอย่างน้อย 3 บริษัท ที่ได้แสดงความสนใจเข้ามาลงทุน โดยมีการรายงานเรื่องดังกล่าวสู่ที่ประชุมคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศไทย ได้แก่

1.บริษัท Contemporary Amperex Technology หรือ CATL เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่อีวีสัญชาติจีนที่ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งของโลก ด้วยส่วนแบ่งตลาด 34% โดยมีลูกค้าหลักเป็นแบรนด์รถยนต์ระดับโลก อาทิ BMW, Honda, Toyota, Volkswagen, Peugeot, Volvo รวมทั้งโรงงานผลิต Tesla ในเซี่ยงไฮ้

บริษัท CATL ได้ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งของโลกโดยใช้เวลาไม่ถึงสิบปีหลังจากก่อตั้งในปี 2011 ด้วยการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลจีน โดยในปีที่ผ่านมา CATL มีกำลังการผลิตแบตเตอรี่ 70.9 GWh 

2.บริษัท BYD เป็นบริษัทผู้รถยนต์ไฟฟ้าและยังเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่นวัตกรรม Blade Battery แบตเตอรี่รูปทรงใบมีดที่ช่วยให้ระบายความร้อนได้ดีแลักักเก็บพลังงานได้สูง โดยแบตเตอรี่ดังกล่าวครองส่วนแบ่งตลาดถึง 12% อยู่ในอันดับ 3 ของโลก ผลิตเพื่อป้อนให้กับแบรนด์รถยนต์ BYD รวมทั้ง Ford และ Tesla ในจีน โดยมีโรงงานผลิต 11 แห่งทั่วประเทศจีน กำลังการผลิต 35 GWh นอกจากนี้บริษัท BYD ยังเป็นบริษัทที่วอร์เรน บัฟเฟต์ นักลงทุนระดับโลกถือหุ้นอยู่ด้วย

3.บริษัท SVOLT (เอสวอลต์) เป็นบริษัทผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นบริษัทลูกในเครือ เกรท วอลล์ มอเตอร์ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ฉางโจว ประเทศจีน และมีสำนักงานภูมิภาคที่แฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี โดยเอสวอลต์ขยับขึ้นมาเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่อันดับที่ 10 ของโลกในปีที่ผ่านมา มีส่วนแบ่งตลาด 1.3% ด้วยกำลังการผลิต 2.6 GWh โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นแบรนด์รถยนต์จีน GWM, Geel, Leapmoto, Dongfeng,Voyah, Seres, Hozon Auto และ Xpeng

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่ EV อันดับ 1 ของโลกก็ได้เข้ามาหารือถึงมาตรการดังกล่าวเช่นกัน จึงมองว่ามาตรการต่าง ๆ นั้นมีช่วงระยะเวลาของตัวมาตรการเอง

ขณะนี้เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของไทยในภูมิภาคชัดเจนขึ้น โดยมาตรการส่งเสริมของภาครัฐทำให้บริษัทยานยนต์ไฟฟ้าตัดสินใจเข้ามาร่วมลงทุนผลิตอีวีในไทย และทำให้ดึงดูดความสนใจของผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาด้วย ซึ่งไทยจำเป็นต้องดึงนักลงทุนกลุ่มนี้เข้ามา เพราะแวลูเชนอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มีมูลค่าสูง รวมทั้งในช่วงแรกที่มีการนำเข้าแบตเตอรี่จะไม่เกิดมูลค่าเพิ่มในประเทศ

อีกปัจจัยที่บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่สนใจเข้ามาลงทุนเพราะไทยมีดีมานด์จากผู้ผลิตหลายรายที่เข้ามาลงทุน เช่น ฉางอัน ออโตโมบิล ซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณผลิตอีวีในประเทศเพิ่มมากขึ้น

สำหรับมาตรการสนับสนุนลงทุนตั้งโรงงานแบตเตอรี่ถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นจำเป็นต้องรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่มาพิจารณา ซึ่งคาดว่าไม่ได้รับผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น ซึ่งในช่วงนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต้องใช้เวลาในการเจรจาจึงต้องโฟกัสคนที่จะเข้ามา แต่ถ้ามาตรการออกมาเร็วได้ก็ยิ่งดีต่อการลงทุน

ส่วนมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมที่ต้องการ คือ โครงสร้างพื้นฐานหรือสถานีอัดให้เพียงพอต่อการใช้งานที่ในอนาคตจะมีมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีสัดส่วน 1 หัวชาร์จ ต่อ รถ 16 คัน