มูลค่ามหาศาลของ ‘Pink economy’ | กันต์ เอี่ยมอินทรา
สัปดาห์ก่อนมีงาน Bangkok Pride เป็นครั้งแรกของไทย อันแสดงถึงทิศทางการยอมรับเพศทางเลือกที่น่าจะเปิดกว้างมากขึ้นหลังการเลือกตั้ง
งานพาเหรดที่อู้ฟู่ เว่อวังอลังการ และดูมีสีสัน หากมองเผิน ๆ แล้วอาจจะดูเหมือนสิ่งฉาบฉวยที่มาแล้วก็ไป แต่จริง ๆ แล้ว การปรับภาพลักษณ์ของไทยให้มีความชัดเจนเรื่องของการเป็นมิตรและเปิดรับเพศทางเลือกนั้นส่งผลดีกับไทยอย่างมาก ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ายิ่ง
ไม่ต้องพูดถึงภาพลักษณ์ของประเทศที่จะดูดีขึ้น เพราะเปิดรับและโอบกอดต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ที่หลอมรวมทุกเพศทุกชนชั้นอย่างไม่แบ่งแยก ทุกคนจะเท่ากันภายใต้กฎหมายมาตรฐานเดียวกันกับประเทศเจริญแล้วในโลกเสรี โอกาสที่สูงขึ้นในการผลักดันกฎหมายหัวก้าวหน้าอย่าง “สมรสเท่าเทียม” ก็ยิ่งจะทำให้สถานะของไทยนั้นทัดเทียมกับอีก 30 ประเทศทั่วโลกที่มีกฎหมายนี้
สิ่งที่ควรเน้นย้ำคือผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจที่คนไทยทุกคนจะได้จากการเปิดรับโอบกอดความแตกต่างและความหลากหลายทางเพศ ผลประโยชน์ที่เห็นชัดที่สุดคงหนีไม่พ้นเม็ดเงินในช่วงที่มีการจัดงานรื่นเริงนี้ขึ้น กรณีศึกษาในหลายประเทศได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า งานนี้ได้มากกว่าเสีย ไม่ว่างานนี้จะถูกจัดที่เมืองใด จะเมืองใหญ่หรือเล็ก เม็ดเงินก็หลั่งไหลสู่เมืองนั้น
อย่างปีที่แล้ว ที่กรุงลอนดอนของอังกฤษนั้น มีการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของงาน Pride ที่จัดขึ้นที่ลอนดอน และมีตัวเลขระบุว่ามีผู้เข้าร่วมและนักท่องเที่ยวรวมกันเกินกว่า 1 ล้านคน หรือเมืองขนาดใหญ่ที่รองลงมาอย่าง นครลอสแอนเจลิสของสหรัฐ ก็เคยมีตัวเลขบันทึกไว้ว่าเม็ดเงินหมุนในระบบสูงถึง 2,600 ล้านบาท แม้แต่เมืองขนาดเล็กอย่าง ไบรท์ตันของอังกฤษนั้น ก็มีเม็ดเงินสะพัดกว่า 900 ล้านบาทในช่วงสุดสัปดาห์ของการจัดงาน
ภาพที่ใหญ่กว่าคือ ผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่ไทยจะได้จากภาพลักษณ์ที่ชัดเจนว่า เป็นมิตร เป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งเรียกโดยรวมว่า เศรษฐกิจสีชมพู (Pink economy) หรือเงินสีชมพู (Pink money) โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้มักจะมีกำลังซื้อที่สูง และมีอัตราการใช้จ่ายที่สูงกว่าผู้บริโภคกลุ่มอื่น
หนังสือพิมพ์ China Daily ของทางการจีน ระบุถึงเม็ดเงิน Pink economy ในประเทศเมื่อหลายปีก่อนที่มีขนาดตลาดสูงถึง 300,000 ล้านดอลลาร์ จากจำนวน LGBTQ+ ที่มีอยู่ในจีนถึง 70 ล้านคน พูดง่าย ๆ แค่ตลาดคนกลุ่มนี้ในจีนประเทศเดียว ก็เท่ากับประชากรไทยทั้งประเทศแล้ว
ขณะที่ Pink economy ในสหรัฐนั้น อาจสูงถึง 780,000 ล้านดอลลาร์จากการประเมินของ Witeck Communication บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ธุรกิจของสหรัฐ ขณะที่ประมาณการกำลังซื้อของคนกลุ่มนี้ทั่วโลกอาจจะสูงถึง 3.7 ล้านล้านดอลลาร์เลยทีเดียว
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ ที่หลายธุรกิจมีความพยายามในการทำสินค้าและบริการเพื่อเข้ามาจับตลาดคนกลุ่มนี้ เช่นเดียวกับพรรคการเมือง และนี่คือเหตุผลว่า ทำไมงาน Bangkok Pride จึงเห็นขบวนพาเหรดที่เต็มไปด้วยนักการเมืองและกลุ่มธุรกิจมากมาย
ประเทศไทยและคนไทยทุกคนจะได้ผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจอย่างมากจากการปรับภาพลักษณ์ของประเทศให้ชัดเจนว่าเป็นมิตรกับผู้บริโภคกลุ่ม LGBTQ+ และแสนจะง่ายดายในทางปฎิบัติ เพราะไทยเรานั้นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีเสน่ห์ มีความสวยงาม มีเอกลักษณ์ ผู้คนเป็นมิตร อาหารอร่อย มีความสนุกสนาน มีอิสระเสรี หากเพิ่มเรื่องการยอมรับโอบกอดกลุ่มคน LGBTQ+
ดังนั้น การจะทำให้ไทยนั้นเป็นบ้านหลังที่สอง หรือกระทั่งเป็นสวรรค์ของ LGBTQ+ นั้นก็ง่าย ง่ายยิ่งกว่าพลิกฝ่ามือ