‘สหรัฐ’ ส่อเผชิญวิกฤติสภาพคล่องครั้งใหญ่ ฉุดรั้ง ศก. เร่งสู่ภาวะถดถอย

‘สหรัฐ’ ส่อเผชิญวิกฤติสภาพคล่องครั้งใหญ่ ฉุดรั้ง ศก. เร่งสู่ภาวะถดถอย

“มาร์โก โคลาโนวิช” นักวิเคราะห์อาวุโสจาก เจพีมอร์แกน เตือน สภาพคล่องทั้งปี 65 สหรัฐส่อฮวบ 56 ล้านล้านบาท ส่อกระทบปริมาณเงินฝากแบงก์พาณิชย์ กระทบนหุ้นแบงก์ 

Key Points

  • นักวิเคราะห์เจพีมอร์แกนเผยสหรัฐจ่อเผชิญวิกฤติสภาพคล่องครั้งใหญ่
  • สภาพคล่องทั้งปี 2566 จ่อลดลงทั้งหมด 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 56 ล้านล้านบาท)
  • ปริมาณเงินฝากที่หดตัวอย่างรุนแรงเข้าไปกดดันการทำงานของแบงก์พาณิชย์สหรัฐ

ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา สหรัฐเผชิญกับความปั่นป่วนทางการเงินมากมาย ตั้งแต่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ปัญหาเงินเฟ้อ วิกฤติแบงก์รัน (Bank Run) และความขัดแย้งเรื่องการขยายเพดานหนี้ของทำเนียบขาวที่พึ่งจะผ่านพ้นไปแต่ก็ส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดทุนและตลาดพันธบัตรในวงกว้าง

ล่าสุด มาร์โก โคลาโนวิช (Marko Kolanovic) หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดทุนโลกของเจพีมอร์แกน (JPMorgan) ระบุในรายงานซึ่งเผยแพร่เมื่อวานนี้ (7 มิ.ย.) ว่า สหรัฐมีแนวโน้มเผชิญกับ “วิกฤติสภาพคล่องครั้งใหญ่ที่สุด” นับตั้งแต่ความปั่นป่วนทางการเงิน “เลห์แมน บราเทอร์” ปี 2008 และปัญหาดังกล่าวจะเข้ามากดดันตลาดหุ้นสหรัฐช่วงเดือน มิ.ย. – ส.ค. 2566 นี้

โดยมาร์โก เตือนบรรดานักลงทุนว่า จากปัจจัยจำนวนมากที่เข้ามากดดันเศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้ อาจทำให้สภาพคล่องของรัฐบาลลดลงมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 33 ล้านล้านบาท) และกระตุ้นให้สภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) กระชั้นเข้ามามากขึ้น 

“สภาพคล่องโดยรวมของสหรัฐจะหดตัวลงอีก 1.1 ล้านล้านดอลลาร์นับจากวันนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2566 ส่งผลให้สภาพคล่องทั้งปี 2566 ย่อตัวลงไปทั้งหมด 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 56 ล้านล้านบาท) และหากเทียบกันปีต่อปี ตัวเลขการลดลงข้างต้นอยู่ในระดับที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติเลห์แมนด้วยซ้ำ ทั้งนี้ สภาพคล่องที่ว่าประกอบด้วย ปริมาณเงินเอ็ม 2 (US M2 Money Stock) บวกกับ สินทรัพย์กองทุนรวมตลาดเงินสถาบัน (Institutional Money Market Fund Assets) ”  

ทั้งนี้ แรงขับที่อาจกระตุ้นให้เกิดวิกฤติสภาพคล่องอย่างที่กล่าวไป ประกอบด้วย

ปัจจัยกดดันสภาพคล่องสหรัฐ

  1. การปรับลดงบดุลอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่ขณะนี้อยู่ที่ระดับ 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อเดือน
  2. กระทรวงการคลังสหรัฐระดมทุนสำหรับใช้จ่ายทั่วไป (General Account) ผ่านการออกพันธบัตรจำนวนมากในช่วงเดือน มิ.ย. - ส.ค. หลังจากผ่านข้อตกลงขยับเพดานหนี้ 
  3. นักลงทุนและประชาชนถอนเงินออกจากธนาคารอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน

โคลาโนวิช กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาพคล่องที่ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วในสหรัฐไม่น่าจะได้รับการบรรเทาจากสถานการณ์ของประเทศอื่น “สภาพคล่องของระบบธนาคารในยูโรโซน ลดลง 1 ล้านล้านยูโรตั้งแต่เดือน พ.ย. 2565 และสินเชื่ออีกกว่า 4.77 แสนล้านยูโร จะครบกำหนดชำระช่วงสิ้นเดือน มิ.ย. นี้ ดังนั้นปัญหาสภาพคล่องในยุโรปก็น่าจะระส่ำไม่แพ้ในสหรัฐ”

ขณะเดียวกัน โคลาโนวิช ประเมินว่า ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนในหุ้นด้านเทคโนโลยี นำความเสี่ยงดังกล่าวเข้าไปคำนวณในราคาหุ้น (Price In) เรียบร้อยแล้ว ส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากกระแสความนิยมหุ้นที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่แม้ราคาจะปรับตัวสูงขึ้น แต่มูลค่าบริษัทกลับไม่เพิ่มขึ้น (Bubble-like)

ดังนั้นหากพิจารณาสถานการณ์ข้างต้นประกอบกับสภาพคล่องโดยรวมที่ลดลง “หุ้นมีความเสี่ยงที่จะลดลงมากกว่าเพิ่มขึ้น”

“มุมมองที่ว่าแรงกดดันต่อเศรษฐกิจสหรัฐที่เลวร้ายที่สุดผ่านไปแล้วอาจจะไม่จริง เนื่องจาก หากเปรียบเทียบสถิติในอดีต ผลกระทบจากการดำเนินนโยบายทางการของแบบเข้มงวดของเฟดค่อนข้างแสดงให้เห็นช้ากว่าเวลาปกติ  รวมทั้งปัจจัยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจบางตัวชะลอตัวลง ไม่ว่าจะเป็น การออมส่วนเกิน (Excess Savings) และ มาร์จิ้นที่ยังแกร่ง (Strong Margins) ดังนั้นในมุมมองของเรา ตลาดหุ้นจะต้องรับความเสี่ยงจากนโยบายการเงินที่เกี่ยวข้องกับเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีความท้าทายมากขึ้น”

โคลาโนวิช ทิ้งท้ายว่า ปริมาณเงินฝากที่หดตัวอย่างรุนแรงไม่ได้ทำให้สภาพคล่องหรือเงินสดเพื่อลงทุนในสินทรัพย์กลุ่มการเงินน้อยลง แต่จะปริมาณเงินฝากที่น้อยลงจะกดดันระบบธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐอย่างมาก โดยเฉพาะหากปริมาณเงินฝากในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นลดลงถึง “ระดับเปราะบาง”

อ้างอิง

1. Business Insider