รายจ่ายครัวเรือนไทยลดลงตามเงินเฟ้อเฉลี่ย18,023 บาทต่อเดือน

รายจ่ายครัวเรือนไทยลดลงตามเงินเฟ้อเฉลี่ย18,023 บาทต่อเดือน

เดือนพ.ค.คนไทยควักกระเป๋าค่าใช้จ่ายครัวเรือน 18,023 บาทต่อเดือนลดลง 130 บาทเมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. ผลจากเงินเฟ้อลดลง เผยค่าโดยสารสาธารณะ น้ำมันเชื้อเพลิง บริการโทรศัพท์มือถือ ยังคงเป็นค่าใช้จ่ายสูงสุด

ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย หรือเงินเฟ้อทั่วไป ของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานข้อมูลเงินเฟ้อเดือน เดือนพ.ค.2566 เพิ่มขึ้น 0.53% ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 21 เดือน ตั้งแต่เดือนก.ย.2564 ที่เงินเฟ้ออยู่ที่ 1.68 % ซึ่งเงินเฟ้อที่ลดลงมาจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงเป็นสำคัญ

นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้ค่าครองชีพของคนไทยลดลง  เมื่อไปดูรายละเอียดค่าใช้จ่ายครัวเรือนเดือนพ.ค. พบว่า คนคนไทยมีค่าใช้จ่ายรายเดือน 18,023 บาทต่อเดือน หรือเกือบ 2 หมื่นบาทต่อเดือน  แม้ว่าค่าใช้จ่ายครัวเรือนจะลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.ที่อยู่ที่ 18,153  บาทต่อเดือนหรือลดลง 130 บาท และเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายครัวเรือนเดือนม.ค.ที่อยู่ 18,190 บาทต่อเดือน ลดลง 167 บาท  แต่ก็ถือว่ายังสูงอยู่

รายจ่ายครัวเรือนไทยลดลงตามเงินเฟ้อเฉลี่ย18,023 บาทต่อเดือน

ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายครัวเรือน ครอบคลุมสินค้าและบริการ 7 หมวดที่จำเป็นต่อการครองชีพ ได้แก่ 1. หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2. หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 3. หมวดเคหสถาน 4. หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล 5. หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร 6.หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ และ7.หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์

โดยเดือนพ.ค.คนไทยยังต้องควักกระเป๋าจ่าย ค่าโดยสารสาธารณะ น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ มากสุดถึง 4,170 บาท รองลงมาเป็นค่าเช่าบ้าน  ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ในบ้าน  3,922 บาท ,  เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ 1,704 บาท, อาหารบริโภคในบ้าน ดีลิเวอรี่ 1,641 บาท, อาหารบริโภคนอกบ้าน เช่น ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง  KFC ฯลฯ  1,254 บาท  ,ค่าผักและผลไม้ 1,065  บาท ,ค่าแพทย์ ค่ายาและค่าบริการส่วนบุคคล 985 บาท

ค่าหนังสือ ค่าสันทนาการ ค่าเล่าเรียนและการกุศลต่างๆ 763 บาท, ค่าข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง 674 บาท, เครื่องปรุงอาหาร 428 บาท,  เครื่องดื่มไม่มีอัลกอฮอล์ 401บาท, ค่าไข่และผลิตภัณฑ์นม 396 บาท,ค่าเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 376 บาท ,ค่าบุหรี่ ค่าเหล้า ค่าเบียร์ 241 บาทหากเจาะลงไปในค่าใช้จ่ายในสัดส่วนการบริโภคต่อครัวเรือน ก็พบว่า  คนไทยจ่ายเงินในสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 58.03 %  อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ 41.97 %

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ค่าใช้จ่ายครัวเรือนเดือนพ.ค.ลดลงมาจากหมวดสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 1.83 % ตามการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มดีเซล แก๊สโซฮอล์ และเบนซิน ค่ากระแสไฟฟ้า เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า แป้งผัดหน้า หน้ากากอนามัย และค่าสมาชิกเคเบิลทีวี

ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารสาธารณะ เครื่องบิน แท็กซี่ จักรยานยนต์รับจ้าง รถเมล์เล็ก สองแถว เรือ ค่าการศึกษา สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด สารกำจัดแมลง น้ำยาล้างห้องน้ำ   และค่าบริการส่วนบุคคล ค่าแต่งผมชาย สตรี ค่าทำเล็บ 

ส่วนเดือน มิ.ย.คงต้องจับตาว่า ค่าใช้จ่ายครัวเรือนจะเป็นอย่างไร เพราะคาดว่า เงินเฟ้อไทยจะยังมีทิศทางปรับลดลงอีก ซึ่งหากเป็นตามที่คาด ค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทยก็น่าจะปรับลดลงเช่นกัน