รัฐสวัสดิการ vs รัฐที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โต | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยรู้สึกว่า เศรษฐกิจขยายตัวไม่มาก และยังเกิดภาวะรวยกระจุก จนกระจาย ทำให้รู้สึกว่า จะต้องจัดการกับการผูกขาดของทุนขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นจากอำนาจของรัฐ (ซึ่งผมเห็นด้วย)
ตามมาด้วยการนำเสนอนโยบาย ปรับโครงสร้างประเทศไทยให้ไปสู่ รัฐสวัสดิการ (welfare state) แปลว่า รัฐบาลจะต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้นโดยรวมและเก็บภาษีคนรวยเพิ่มขึ้นอย่างมากเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
แนวทางดังกล่าว ฟังแล้วดูจะยุติธรรมดี แต่ต้องเข้าใจว่า “คนรวย” คือ คนที่มีเงินเหลือจากการบริโภคส่วนเกินนี้ หากนำไปฝากธนาคาร
ก็เป็นหน้าที่ของธนาคารที่จะนำเงินดังกล่าว ไปปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการใช้ในการทำธุรกิจหรือขยายธุรกิจ (ผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น) หรืออาจนำเอาไปลงทุนเอง ก็เพื่อการเพิ่มการผลิตสินค้าและบริการในอนาคต
กล่าวคือ การลงทุนเพื่อทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่องนั้น โดยปกติแล้ว ส่วนใหญ่จะทำโดย “คนรวย” ผ่านการลงทุนโดยตรง (โดยคนไทยหรือคนต่างชาติ) หรือการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นแหล่งจัดสรรทรัพยากรที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่ง
สำหรับการลงทุนโดยรัฐบาลนั้น มีสัดส่วนไม่มากนัก เช่น ในปีนี้ รัฐบาลมีงบลงทุนประมาณ 650,000 ล้านบาท แต่มักจะลงทุนต่ำกว่าเป้าคือหากลงทุนได้ 3% ของจีดีพี ก็ถือว่าสูงมากแล้ว ในขณะเดียวกัน การลงทุนของภาคเอกชนจะมากกว่า 20% ของจีดีพี
ผมได้เคยกล่าวมาหลายครั้งแล้วว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวนั้น ต้องอาศัยการลงทุนและเทคโนโลยีเป็นหลัก และทั้งสองมักจะไปด้วยกันคือ การลงทุนเกิดขึ้นเพื่อนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ผลิตสินค้าและบริการใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิม หรือไม่เคยมีมาก่อน
หลายครั้งก็ไม่ประสบความสำเร็จ (ผู้ประกอบการก็ต้องยอมรับความเสียหายไป) แต่ในบางกรณีก็ประสบความสำเร็จเกินกว่าคาด ทำให้กลายเป็นมหาเศรษฐี เช่น Bill Gates และ Steve Jobs เป็นต้น
แล้วผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาวเป็นอย่างไร ระหว่างรัฐบาลที่เน้นสวัสดิการ กับรัฐบาลที่มุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ตรงนี้ผมขอนำเอาประสบการณ์ของ 2 ประเทศในช่วงประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา ให้ดูเปรียบเทียบกับประเทศไทย รายละเอียดเห็นได้จากตารางข้างล่าง
ประเทศ A นั้น รายได้ต่อหัวติดอันดับ 5 ประเทศแรกของโลกในช่วง 1950 และรายได้ต่อหัว คิดเป็นเหรียญสหรัฐก็โตขึ้นเป็นลำดับ เห็นได้จากรายละเอียดในตาราง
เมื่อผมนำเอาตัวเลขรายได้ต่อหัวในปี 1972 กับตัวเลขเดียวกันในปี 2021 มาคำนวณอัตราการขยายตัว (แบบทบต้น) ต่อปี (Compounded Annual Growth Rate หรือ CAGR) เท่ากับ 5.65% ต่อปี ทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นจาก 3,295 เหรียญต่อปีในปี 1972 มาเป็น 48,781 เหรียญต่อปีในปี 2021
อีกประเทศคือ ประเทศ B ที่มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกัน (5.45 ล้านคน) แต่เป็นประเทศที่เน้นการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัว โดยการส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงาน โดยเฉพาะการเชื้อเชิญทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศ ปรากฏว่า รายได้ต่อหัวประเทศ B เพิ่มจากเพียง 1,264 เหรียญในปี 1972 มาเป็น 72,794 เหรียญในปี 2021
กล่าวคือ CAGR เท่ากับ 8.62% ต่อปี (ต่างกัน “เพียง” 3% ต่อปี) กล่าวคือประเทศ A นั้นประชาชนเคยมีรายได้ต่อหัวมากกว่าประเทศ B ถึง 161% แต่เวลาผ่านไป 50 ปี รายได้ต่อหัวของประเทศ B สูงกว่ารายได้ต่อหัวของประเทศ A ถึง 49% ในช่วงเดียวกันนั้น นโยบายของไทยทำให้รายได้ต่อหัวขยายตัวแบบ CAGR เท่ากับ 7.38% ต่อปี
หากเศรษฐกิจไทยขยายตัว CAGR สูงเท่ากับประเทศ B รายได้ต่อหัวของคนไทยในปี 2021 จะไม่ใช่ 7,066 เหรียญ แต่จะสูงถึง 12,400 เหรียญ ในทางตรงกันข้าม หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวช้าลงแบบประเทศที่ใช้นโยบายรัฐสวัสดิการ รายได้ต่อหัวของคนไทยในปี 2021 จะลดลงเหลือ 3,190 เหรียญคือต่างกันเกือบ 4 เท่าตัว
ประเทศ A นั้น เป็นรัฐสวัสดิการเห็นได้จากการคำนวณภาษีที่เก็บเทียบกับจีดีพีเฉลี่ยเกือบ 30% ของจีดีพี เทียบกับประเทศ B ที่เก็บภาษีเฉลี่ยประมาณ 15% ของจีดีพีใกล้เคียงกับประเทศไทย เห็นได้จากตาราง
ในความเห็นของผมนั้น ประเทศที่มีจีดีพีต่อหัวเฉลี่ยมากถึง 72,794 เหรียญต่อปีนั้น ประชาชนโดยเฉลี่ยก็จะต้องอยู่ดีกินดีมากกว่าประเทศที่จีดีพีต่อหัวเฉลี่ย “เพียง” 48,781 เหรียญต่อปี
ผมขอเฉลยว่าประเทศ A คือ นิวซีแลนด์ (ที่ผมเรียนหนังสือตั้งแต่เด็กจนโตเป็นเวลา 8 ปี) และประเทศ B คือ สิงคโปร์ที่ผมเดินทางไปครั้งแรกตอนอายุ 10 ปีและเห็นว่ายังไม่ได้มีอะไรดีกว่าประเทศไทยมากนักตอนปี 1967
ทิ้งท้ายด้วยการวัดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ โดยใช้ดัชนี Gini ของสิงคโปร์ที่ 0.378 เทียบกับนิวซีแลนด์ที่ 0.35 ตัวเลขนี้ยิ่งต่ำยิ่งดีเพราะ 0 คือทุกคนมีรายได้เท่ากันหมด แต่ 1 คือความเหลื่อมล้ำสูงสุด ประเทศไทยนั้นสภาพัฒน์ฯ บอกว่าประมาณ 0.43.
ผมจึงอยากเห็นรัฐบาลที่มีขนาดเล็กแต่มีความเฉลียวฉลาด (small but smart government) เช่นในกรณีของสิงคโปร์นั้น ได้จัดตั้งกองทุนมั่งคั่งของชาติ (sovereign wealth fund, SWF) ตั้งแต่ปี 1981 ทำให้วันนี้คาดการณ์ว่าทรัพย์สินของ SWF มีมูลค่า 1.2 ล้านล้านเหรียญ และให้ผลตอบแทนคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 20% ของรายได้ของรัฐบาล (ลดภาระภาษีของประชาชน)
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร