ค่าเงินหยวนวันนี้ อ่อนหนักสุดรอบ 7 เดือน ส่อกดดัน บาท ทะลุ 35 ต่อดอลล์
เงินหยวนวันนี้ ล่าสุดอ่อนลงทะลุ 7.2 หยวนต่อดอลลาร์ มากที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. ปี 2565 จากความล่าช้าในการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นักวิเคราะห์ “บล.กรุงไทย” ประเมินบาทอาจอ่อนทะลุ 35 ต่อดอลลาร์ หากเศรษฐกิจจีนแย่ ดอลลาร์แข็งหนัก และการเมืองไทยผันผวน
Key Points
- เงินหยวนวันนี้ล่าสุดอ่อนทะลุ 7.2 หยวนต่อดอลลาร์ จากความล่าช้าในการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ
- การอ่อนตัวดังกล่าวเป็นการอ่อนค่าหนักสุดตั้งแต่เดือน พ.ย.2565 และย้อนกลับไปในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมาหยวนอ่อนไปแล้ว 4%
- คริสโตเฟอร์ หว่อง ให้แนวต้านสําหรับเงินหยวนแบบออฟชอร์อยู่ที่ 7.2150 ต่อดอลลาร์
- นายพูน พานิชพิบูลย์ ชี้หยวนอ่อนกระทบบาทแน่ แต่หากจะทะลุ 35 บาทต่อดอลลาร์ต้องมีปัจจัยกดดันครบ 3 อย่างคือ จีนแย่ ดอลลาร์แข็งหนัก และการเมืองไทยผันผวนแรง
ท่ามกลางเศรษฐกิจจีนที่เผชิญกับความท้าทายมากมาย ตั้งแต่สงครามการค้ากับสหรัฐ ความปั่นป่วนในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งหนี้ท้องถิ่นที่ปรับตัวสูงขึ้น
ล่าสุด “ค่าเงินหยวนวันนี้” อ่อนค่าลงหลังจากระดับ 7.2 ต่อดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนส่วนหนึ่งขาดความเชื่อมั่นเพราะอ้างถึงความล่าช้าในการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลกลางรวมทั้งนโยบายกระตุ้นของธนาคารกลาง (PBOC) ที่หลายฝ่ายมองว่า “ไม่ถึงพริกถึงขิง”
โดยวันนี้ (21 มิ.ย.) ค่าเงินหยวนแบบออฟชอร์ (The Offshore Yuan) ย่อตัวลง 0.3% สู่ระดับ 7.2007 ต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ “อ่อนแอ” ที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. ในขณะที่สกุลเงินหยวนแบบออนชอร์ (The Onshore Unit) ปรับฐานลง 0.2% ซึ่งหากพิจารณาในช่วงสามเดือนที่ผ่าน สกุลเงินหยวนร่วงลงไปแล้วมากกว่า 4% ซึ่งถือว่าเป็นสกุลเงินที่เคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่แย่ที่สุดในภูมิภาค
ด้าน คริสโตเฟอร์ หว่อง (Christopher Wong) นักกลยุทธ์ที่ โอเวอร์ซี ไชนีส แบงกิ้ง (Overseas Chinese Banking) ระบุว่า “การอ่อนค่าลงครั้งนี้เป็นเพราะตลาดค่อนข้างร้อนใจเกี่ยวกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่ล่าช้าและขาดตอน” พร้อมเสริมว่า
“แนวต้านสําหรับเงินหยวนแบบออฟชอร์อยู่ที่ 7.2150 ต่อดอลลาร์ โดยสิ่งที่ต้องจับตามองคือการประชุมเศรษฐกิจครึ่งปีของโปลิตบูโรในปลายเดือน ก.ค. เพราะอาจจะมีประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากฝั่งรัฐบาลกลางออกมา”
ทั้งนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนนับตั้งแต่การผ่อนปรนมาตรการโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid) ค่อนข้างไม่เป็นไปตามที่บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ โดยในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ภาคการผลิตและยอดค้าปลีกหดตัวลง รวมทั้งการเปิดตัวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ช้าของรัฐบาลจีนต่างเพิ่มความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจ จนทำให้บรรดานักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในมาตรการดังกล่าว
ด้าน นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน กรุงไทย โกลบอล มาร์เก็ต ธนาคารกรุงไทย ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า สถานการณ์ของหยวนวันนี้เป็นภาพสะท้อนมาตั้งแต่เหตุการณ์เมื่อต้นปี 2566 คืออ่อนตัวลงตามตัวเลขเศรษฐกิจของจีนที่ออกมาแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ประกอบความล่าช้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลกลาง
หากย้อนไปในช่วงแรกพีบีโอซี ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) แบบ 1 ปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนลง 0.10% สู่ระดับ 2.65% จากระดับ 2.75% ขณะนั้นตลาดตอบรับในเชิงบวกจนตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินหยวนที่แข็งค่าขั้น
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดพีบีโอซีประกาศลดดอกเบี้ยต่อ แต่ตลาดผิดหวังเพราะปรับลดในอัตราส่วนที่น้อยมากจนหลายฝ่ายมองว่าอาจไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง บรรดานักลงทุนจึงขายสินทรัพย์เพื่อทำกำไรออกไปบางส่วนประกอบกับความกังวลจากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
อย่างไรก็ดี บล.กรุงไทยมองว่า มาตรการของพีบีโอซี ครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการส่งสัญญาณจากทางการจีนว่าพร้อมจะเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ดังนั้นต้องรอการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ ปลายเดือน ก.ค. อาจเห็นมาตรการเพิ่มเติมมาจากภาครัฐ เพราะตอนนี้พีบีโอซีเป็นฝ่ายเดินหน้าลดดอกเบี้ย อัดสภาพคล่อง ซึ่งช่วยเรื่องบรรยากาศการลงทุน (Sentiment) มากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจจริง
“ตอนนี้เหลือทางการจีนว่าจะออกนโยบายมาทิศทางไหน น่าจะมีออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ และเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจการบริโภคภายในประเทศ ณ ตอนนั้น ตลาดอาจตอบรับในเชิงบวก หยวนกลับมาแข็งและหุ้นจีนอาจกลับมารีบาวด์ได้”
เมื่อถามถึงผลกระทบต่อประเทศไทย นายพูน กล่าวว่า สกุลเงินหยวนและบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกัน (Correlation) อยู่ที่ประมาณ 70% ดังนั้นหากหยวนอ่อนค่า บาทก็จะปรับตัวอ่อนตามลงไป ซึ่งการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ก็ได้รับอิทธิพลมาจากการอ่อนค่าของหยวนแล้วส่วนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันเงินบาทยังไม่สามารถทะลุ 35 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ แต่หากต้องการให้เป็นเช่นนั้น ต้องเกิด3 ปัจจัยดังต่อไปนี้
1. เศรษฐกิจจีนแย่: การเติบโตของเศรษฐกิจจีนต้องชะลอ ซึ่งปัจจุบันจีนอยู่ในสภาวะดังกล่าวแล้ว
2. ดอลลาร์แข็ง: ดอลลาร์จำเป็นต้องแข็งค่ามากขึ้น ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวคือ นักลงทุนต้องเข้าสู่โหมดลดความเสี่ยง (Risk Off) หุ้นอย่างร้อนแรง เช่นลดความเสี่ยงหุ้นปัญญาประดิษฐ์ (AI) ลง โดยสำหรับในประเทศไทยสังเกตได้เมื่อหุ้นบริษัทเดลต้า อิเล็กทรอนิกส์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ปรับตัวลงอย่างร้อนแรงเพราะเป็นหุ้นที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐ
3. การเมืองไทยแย่: การเมืองไทยเกิดความไม่แน่นอนมากกว่านี้ คือการไม่สามารถตั้งประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรีได้ทันเดือน ก.ค. จึงจะเป็นปัจจัยร่วมทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงมาอย่างรุนแรง
“หากทั้งสามปัจจัยเกิดขึ้นพร้อมกันก็จะส่งผลกดดันให้บาทอ่อนค่าลงถึงโซน 35 บาทต่อดอลลาร์ได้”