ความท้าทายธุรกิจไทยหลังสหรัฐเล็งเพิ่มคว่ำบาตร"เมียนมา"
ภาคธุรกิจไทย-เมียนมา แนะรัฐบาลไทยอยู่นิ่งๆ รอช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล พร้อมหารือทูตพาณิชย์ประจำย่างกุ้ง เพิ่มความเชื่อมั่นการลงทุน สร้างความเข้าใจบริบทการเมืองในเมียนมา ชี้บริษัทไทยเข้าไปลงทุนในเมียนมาลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่มีโควิด
การคว่ำบาตรของสหรัฐต่อเมียนมาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 โดยทันทีที่มีรัฐประหารได้ประกาศคว่ำบาตรผู้เกี่ยวข้องกับรัฐประหาร 10 คน เช่น นายพลมิน อ่องหลาย หลังจากนั้นเพิ่มการคว่ำบาตรไปที่การห้ามส่งออกหรือขายน้ำมันอากาศยานให้รัฐบาลเมียนมา
รวมทั้งปัจจุบันกำลังพิจารณาคว่ำบาตรธนาคาร 2 แห่ง คือ ธนาคารการค้าต่างประเทศเมียนมา (Myanmar Foreign Trade Bank) และธนาคารลงทุนและพาณิชย์เมียนมา (Myanmar Investment and Commercial Bank) ซึ่งจะมีผลต่อการทำธุรกรรมทางการเงินของบริษัทต่างชาติในเมียนมา
นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เปิดเผยว่า การลงทุนใหม่ของนักธุรกิจต่างชาติในเมียนมาลดลงภายหลังจากการแพร่ระบาดโควิด โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ชะลอการลงทุนหรือบางรายระงับแผนการลงทุน ขณะที่ผู้ประกอบการไทยก็ถอยหลังออกมา
ทั้งนี้ รัฐบาลเมียนมามีความพยายามที่จะให้มีการลงทุนในเมียนมา โดยออกมาตรการจูงใจการลงทุนหลายแนวทาง ซึ่งล่าสุดสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ได้หารือกับสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อขอให้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นการลงทุนไทยในเมียนมา รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับบริบทการเมืองภายในเมียนมาเพื่อไม่ให้นักธุรกิจตื่นตระหนก
สำหรับนักลงทุนใหม่ที่ต้องการเข้าไปลงทุนในเมียนมาจำเป็นต้องหาข้อมูลที่ถูกต้อง การตัดสินใจต้องแม่นยำ และต้องยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ส่วนนักลงทุนไทยในปัจจุบันได้ปรับตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้มีผลกระทบมากมาย และไม่ได้ตื่นตระหนกกับสิ่งที่เกิดขึ้นมากนัก
นอกจากนี้ รัฐบาลเมียนได้จัดตั้ง Myanmar Investment Commission (MIC) เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการลงทุนเมียนมา เพื่อดำเนินการให้การบริการด้านการจดทะเบียนบริษัท รวมถึงการให้แนะนำด้านการลงทุนในลักษณะ One stop service และเมียนมายืนยันถึงการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทุนของต่างชาติ
จับตาธนาคารพาณิชย์เมียนมา
สำหรับกรณีสหรัฐจะคว่ำบาตรธนาคารในประเทศเมียนมาเพิ่ม 2 แห่ง พบว่า เป็นธนาคารรัฐที่จะกระทบการนำเข้าหรือส่งออกทางเรือ โดยผลกระทบอาจอยู่ในวงจำกัดเพราะนักธุรกิจในเมียนมาส่วนจะใช้บริการของธนาคาร KBZ , ธนาคาร CB และธนาคาร AYA
รวมทั้งมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐที่ผ่านมาทำให้เมียนมาประกาศการทำการค้าชายแดนเมียนมา-จีน จะใช้เงินหยวนและเงินจ๊าด เช่นเดียวกับการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ที่ใช้เงินบาทและเงินจ๊าด ดังนั้นการคว่ำบาตรครั้งนี้มองว่าเป็นการแก้เกี้ยวของสหรัฐจึงไม่ส่งผลกระทบรุนแรงนัก
“การคว่ำบาตรของสหรัฐรอบใหม่ไม่น่าจะส่งผลกระทบรุนแรงสำหรับนักลงทุน ผู้ประกอบการไทยเพราะที่ผ่านมาไม่ได้ใช้บริการธุรกรรมทางการเงินของ 2 ธนาคารนี้ อีกทั้งยังใช้เงินบาท-จ๊าดในการทำการค้าระหว่างกัน“ นายกริช กล่าว
ทั้งนี้ ในกรณีที่สหรัฐยกระดับการคว่ำบาตรเพิ่มขึ้นให้ครอบคลุมธนาคารพาณิชย์จะส่งผลกระทบมากขึ้น แต่จากการประเมินเบื้องต้นอาจจะไม่ถึงขั้นนั้น เพราะการคว่ำบาตรของสหรัฐและประเทศตะวันตกยังทำให้รัฐบาลเมียนมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไปได้ เพราะหากคว่ำบาตรรุนแรงจะทำให้ประชาชนในเมียนมาเดือดร้อนด้ว
นายกริช กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมองว่ารัฐบาลไทยควรอยู่นิ่งๆ เพราะไทยก็อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล และกรณีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่าง จัดหารืออย่างไม่เป็นทางการกับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในเมียนมาเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2566 มองว่าทำหน้าที่ได้สมศักดิ์ศรีแล้ว แต่ไม่ควรจะดำเนินการอะไรไปมากกว่านี้
รัฐบาลเมียนมาพยายามดึงลงทุน
นายธนวุฒิ นัยโกวิท ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง (ทูตพาณิชย์) ประเทศเมียนมา กล่าวว่า นักธุรกิจในเมียนมารับทราบถึงสถานการณ์ภายในเมียนมาอยู่แล้ว โดยระยะเวลาที่ผ่านมาก็อาศัยธนาคารไทยที่ตั้งอยู่ในเมียนมาทำธุรกรรมการเงิน โดยขอแนะนำให้นักธุรกิจหรือนักลงทุนไทยหากเป็นเรื่องการเงินขอให้ติดต่อกับธนาคารของไทยที่ตั้งอยู่ในเมียนมา เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
“การคว่ำบาตรธนาคารไม่ใช่รอบแรก เกิดมาตั้งแต่สถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ซึ่งนักธุรกิจ นักลงทุนไทย และต่างประเทศทราบถึงข้อจำกัดด้านธุรกรรมการเงินและความเสี่ยง จึงมีความพร้อมและปรับตัวได้พอสมควร”นายธนวุฒิ กล่าว
นอกจากนี้ เมียนมาได้ตั้ง MIC เพื่อดูแลการลงทุน โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์การลงทุน การคุ้มครองการลงทุน ซึ่งปัจจุบันการลงทุนในเมียนยังมีต่อเนื่อง แต่มีความเสี่ยงจากสถานการณ์ความไม่สงบแม้จะอยู่ภายใต้การคุ้มครองของ MIC อย่างถูกต้อง เพราะอาจถูกมองจากชาติตะวันตกว่าการเข้ามาลงทุนในเมียนมาจะเป็นการสนับสนุนรัฐบาลเมียนมาได้ ซึ่งนักลงทุนต่างชาติต้องพร้อมพิจารณาประเด็นนี้ด้วย
ทั้งนี้หน่วยงาน MIC เปิดขึ้นมาตั้งแต่เมียนมาเปิดประเทศ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทำให้นักลงทุนอาจเกิดความไม่มั่นใจในการลงทุน ทางรัฐบาลเมียนมาก็พยายามส่งสัญญาณยืนยันว่า รัฐบาลพร้อมสนับสนุนการลงทุนของต่างชาติในเมียนมาทั้งสิทธิประโยชน์ การลงทุน การคุ้มครองการลงทุน เนื่องจากนักลงทุนใหม่มีความกังวลว่าจะมีปัญหาในการลงทุน
อีกทั้ง MIC ยืนยันว่าการลงทุนที่ได้รับอนุญาตแล้วหรือการลงทุนที่ดำเนินการไปแล้วจะไม่มีการยกเลิกทั้งสิ้น และสามารถเดินหน้าได้เต็มที่ ที่ผ่านมาก็ไม่มีการยกเลิกการลงทุนในโครงการหรือธุรกิจต่างๆมีเพียงแต่การถอนการลงทุนของนักธุรกิจชาวต่างชาติที่ไม่มั่นใจในสถานการณ์ต่างๆ