'คิงเพาเวอร์’ - ‘เซ็นทรัล’ เปิดศึกชิงพื้นที่เชิงพาณิชย์กรุงเทพอภิวัฒน์
คิงเพาเวอร์-เซ็นทรัล เตรียมเปิดศึกชิงบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ 47,675 ตารางเมตร การรถไฟฯ ปักหมุดยื่นข้อเสนอ 4 ก.ค.นี้ คาดตลอดอายุสัญญา 20 ปี โกยรายได้กว่า 5.5 พันล้านบาท
นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้างานประกาศเชิญชวนเอกชนเสนอผลตอบแทนการใช้ประโยชน์พื้นที่ประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์-ติดตั้งป้ายโฆษณา บริเวณสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และสถานีรถไฟสายสีแดง 12 สถานี จำนวน 4 สัญญา โดยระบุว่า หลังจากเปิดขายซองเอกสารระหว่างวันที่ 15 มี.ค. – 28 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา มีเอกชนให้ความสนใจซื้อเอกสารประกวดราคา จำนวน 5 ราย โดย ร.ฟ.ท.กำหนดจะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 4 ก.ค.นี้
โดยเอกชนที่เข้าซื้อซองเอกสารทั้ง 4 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 โครงการยื่นข้อเสนอผลตอบแทนการใช้ประโยชน์พื้นที่ เพื่อประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ บริเวณอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ คิดเป็นพื้นที่จำนวน 47,675 ตารางเมตร อายุสัญญา 20 ปี มีผู้สนใจซื้อเอกสาร จำนวน 3 ราย ได้แก่
1. บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)
2. บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด
3. บริษัท เปรม กรุ๊ป เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
สัญญาที่ 2 โครงการยื่นข้อเสนอผลตอบแทนการใช้ประโยชน์พื้นที่ เพื่อประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ บริเวณอาคารสถานีรถไฟสายสีแดง จำนวน 12 สถานี คิดเป็นพื้นที่จำนวน 3,759 ตารางเมตร อายุสัญญา 3 ปี พบว่าไม่มีบริษัทเอกชนซื้อเอกสารการประกวดเสนอผลตอบแทน ซึ่งขณะนี้ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างเตรียมเปิดขายซองข้อเสนอเป็นครั้งที่ 2 และคาดว่าจะเปิดให้มีการประมูลอีกครั้งในเดือน ก.ค. 2566
อย่างไรก็ดี หากผลปรากฏว่าไม่มีเอกชนมายื่นข้อเสนอ เบื้องต้น ร.ฟ.ท.มีแผนจะนำสัญญาที่ 2 มอบให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) ซึ่งเป็นบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของ ร.ฟ.ท.นำไปบริหารจัดการ เนื่องจากส่วนของสัญญานี้ มีอายุสัญญาระยะสั้นเพียง 3 ปี จึงอาจไม่จูงใจเอกชนร่วมลงทุนมากนัก แต่หลังจากครบอายุสัญญา 3 ปี ร.ฟ.ท.จะนำโครงกานนี้มาเปิดประมูลใหม่อีกครั้งพร้อมกับโครงการจัดหาเอกชนร่วมลงทุนบริหารและเดินรถโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ซึ่งจะจูงใจเอกชนในการประกวดราคามากขึ้น
ส่วนสัญญาที่ 3 โครงการยื่นข้อเสนอเพื่อสิทธิการบริหารจัดการพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณา บริเวณอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ คิดเป็นพื้นที่จำนวน 2,303 ตารางเมตร อายุสัญญา 20 ปี พบว่ามีผู้สนใจซื้อเอกสาร จำนวน 2 ราย ประกอบด้วย
1. บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน)
2. บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
เช่นเดียวกับสัญญาที่ 4 โครงการยื่นข้อเสนอเพื่อสิทธิการบริหารจัดการพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณา บริเวณอาคารสถานีรถไฟสายสีแดง จำนวน 12 สถานี คิดเป็นพื้นที่จำนวน 2,080 ตารางเมตร อายุสัญญา 3 ปี มีผู้สนใจซื้อเอกสาร จำนวน 2 ราย ประกอบด้วย
1. บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน)
2. บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
นายอนันต์ กล่าวต่อว่า ขั้นตอนต่อไปในส่วนของสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 3 มีกำหนดยื่นซองเอกสารข้อเสนอ ในวันที่ 4 ก.ค.นี้ เวลา 09.00 – 16.00 น. ณ ห้องประชุมบุรฉัตร สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ชั้น 1 และประกาศผลผู้ผ่านคุณสมบัติ ในวันที่ 13 ก.ค. 2566 และประกาศผู้ผ่านข้อเสนอด้านเทคนิค ในวันที่ 15 ส.ค.2566 โดยกำหนดเปิดซองข้อเสนอด้านผลตอบแทนสัญญาที่ 1 ในวันที่ 16 ส.ค.2566 เวลา 09.00 – 12.00 น. และสัญญาที่ 3 เวลา 13.00 – 16.00 น.
ส่วนสัญญาที่ 4 กำหนดยื่นซองเอกสารข้อเสนอ ในวันที่ 5 ก.ค.นี้ เวลา 09.00 – 16.00 น. ณ ห้องประชุมบุรฉัตร สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ชั้น 1 และประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติ ในวันที่ 13 ก.ค. 2566 หลังจากนั้นกำหนดประกาศผลผู้ผ่านข้อเสนอด้านเทคนิค ในวันที่ 15 ส.ค. 2566 โดยกำหนดเปิดซองข้อเสนอด้านผลตอบแทน ในวันที่ 17 ส.ค. 2566 เวลา 13.00 – 16.00 น.
ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.คาดว่าจะได้ผู้ประกอบการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ดังกล่าว ภายในเดือน พ.ย. นี้ และคาดว่าจะมีรายได้ตลอดอายุสัญญาขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 5,520 ล้านบาท ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการให้บริการผู้โดยสารภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ให้เป็นจุดนัดพบ ตลอดจนแหล่งช็อปปิ้ง เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของคนกรุงเทพในอนาคต
นายอนันต์ กล่าวด้วยว่า รูปแบบการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ นอกจาก ร.ฟ.ท.ต้องการให้มีร้านอาหาร และพื้นที่ช็อปปิ้งมอลล์ คล้ายกับห้างสรรพสินค้า เพื่อเพิ่มตัวเลือกในบริการแก่ผู้โดยสารที่อยู่ระหว่างคอยเที่ยวเดินรถไฟ และดึงดูดให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการเพื่อพักผ่อนหย่อนใจในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์มากขึ้นแล้ว ยังมีข้อกำหนดให้เอกชนประกวดราคาให้เอกชนผู้รับสัมปทานต้องจัดสรรพื้นที่ขายสินค้าชุมชน (OTOP) จำนวน 600 ตารางเมตร
“ร้านค้าร้านอาหารในพื้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โมเดลตอนนี้ก็น่าจะคล้ายห้างสรรพสินค้า ราคาก็อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับห้างสรรพสินค้า คือ อาจมีราคาสูงกว่าพื้นที่ด้านนอก แต่การรถไฟฯ จะกำหนดให้มีพื้นที่ขายสินค้าชุมชน และมีโซนร้านอาหารราคาประหยัด คล้ายกับการจัดสรรพื้นที่เชิงพาณิชย์ของสนามบิน ที่มีโซนร้านอาหารและมีโซนอาหารราคาประหยัดไว้บริการ แต่อยู่ในพื้นที่ที่ไกลออกไปหน่อย”