'กอบศักดิ์' หวังรัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพ หนุนเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง
“กอบศักดิ์” หวังตั้งรัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ช่วยหนุนเศรษฐกิจไทย ชี้ครึ่งปีหลังปัจจัยเสี่ยงภายนอกรออยู่หลายเรื่อง ส่วนในไทยได้อานิสงค์ท่องเที่ยวฟื้น ชี้ไทยมีโอกาสดึงการลงทุนจากต่างประเทศ ควรเปิดโอกาสให้แรงงานคุณภาพสูงเข้าประเทศมากขึ้นหนุนเศรษฐกิจ
การเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะมีขึ้นในวันที่ 3 ก.ค.2566 หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งทุกฝ่ายกำลังจับตาดูเสถียรภาพการจัดตั้งรัฐบาล เพราะจะมีผลต่อการขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินและเศรษฐกิจ
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 จะสามารถขยายตัวเพิ่มได้และมีปัจจัยบวกจากเรื่องของภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้แรงงานที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยวกว่า 10 ล้านคนเริ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นในปีนี้อะไรที่เป็นอุปสรรคต่อเรื่องท่องเที่ยว รัฐบาลต้องแก้ไขให้หมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเร่ิมใช้ระบบอี-วีซ่า ของกระทรวงการต่างประเทศ แล้วมีผลกระทบต่อการอนุมัติวีซ่าให้ชาวจีนที่ต้องการมาเที่ยวไทยในรูปแบบของกรุ๊ปทัวร์ได้น้อยลงนั้น จะต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้ และดีที่สุด จากกลางปีนี้ไปจนถึงปลายปีให้ยกเว้นการออกวีซ่าเป็นการชั่วคราวไปก่อน เพื่อให้นักท่องเที่ยวจากหลายประเทศเข้ามาเที่ยวไทยได้สะดวกขึ้น
“เท่าที่คำนวณคร่าวๆ นักท่องเที่ยวต่างชาติ 4 ล้านคนมีผลให้จีดีพีไทยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1% ฉะนั้นจากปี 2565 ที่มีนักท่องเที่ยว 11 ล้านคน และในปีนี้มี 25-26 ล้านคน จะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 4 %
แต่ที่หน่วยงานเศรษฐกิจต่างๆ ประเมินว่าปี 2566 จีดีพีจะขยายตัวได้ 3% เพราะเห็นแล้วว่าส่งออกจะติดลบ 1 % ฉะนั้น ท่องเที่ยวในปีนี้จึงสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ แะไรที่เป็นอุปสรรคต่อเรื่องท่องเที่ยวต้องกำจัดให้หมด และข้อเสนอเรื่องวีซ่าสามารถทำได้เลย รัฐบาลไม่ต้องควักเงินแต่อย่างใด”
ขณะเดียวกันแรงส่งเศรษฐกิจอีกส่วนคือกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่งนอกจากมาจากภาคการท่องเที่ยวยังมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรที่ได้ประโยชน์จากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น และจะเพิ่มมากขึ้นจากปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตามในส่วนของปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของครึ่งหลังในปี 2566 ความเสี่ยงยังมาจากความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจจีน ซึ่งสองประเทศนี้มีความขัดแย้งกันที่ยังไม่ยุติทำให้บรรยากาศการค้าของโลกได้รับผลกระทบ รวมถึงเศรษฐกิจยุโรปที่อ่อนแอซึ่งกระทบกับเศรษฐกิจโลกและส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในส่วนของภาคการส่งออกที่เห็นได้ว่ามีการติดลบมาต่อเนื่องหลายเดือน
สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย มองว่าตอนนี้ก็มีความก้าวหน้าไปพอสมควรแล้วและกำลังจะมีการเปิดประชุมสภาฯในวันที่ 3 ก.ค.ซึ่งก็จะนำไปสู่ขั้นตอนต่างๆทางการเมืองซึ่งหากมีความชัดเจน มีคำตอบที่แน่ชัดว่าการเมืองไทยจะเดินหน้าไปอย่างไร ที่สำคัญสิ่งที่ทุกฝ่ายอยากเห็นก็คือความมีเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลซึ่งหากตั้งรัฐบาลแล้วรัฐบาลมีเสถียรภาพก็จะช่วยให้เกิดความมั่นใจในทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วย
ส่วนเมื่อถามว่ากรณีที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับลดลงหลุดจากระดับ 1500 จุด เป็นผลมาจากปัจจัยเรื่องการเมืองหรือไม่ นายกอบศักดิ์ กล่าววาก็อย่างที่รู้ทุกคนก็รอคำตอบ หากตั้งรัฐบาลแล้วจะต้องมีเสถียรภาพด้วย
“ตอนนี้นอกจากคำตอบว่าจะจัดตั้งรัฐบาลอย่างไรสิ่งที่ทุกฝ่ายรอดูอยู่ก็คือ เมื่อได้คำตอบของการจัดตั้งรัฐบาลแล้วก็อยากเห็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพบริหารงานได้ในระยะต่อไปด้วย” นายกอบศักดิ์ กล่าว
ประธาน FETCO กล่าวต่อว่าในขณะนี้ถือว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญของการย้ายฐานการผลิตจากบางประเทศเข้ามาในอาเซียนซึ่งประเทศไทยก็ต้องแสดงให้เห็นว่าเรามีความพร้อม และมีนโยบายในการดึงการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น การที่มีการจัดงานประชุมนักธุรกิจจีนทั่วโลกที่มีผู้ร่วมงานถึง 4,000 คน ก็ทำให้เห็นศักยภาพของประเทศไทย ซึ่งถือว่ามีความพร้อมอย่างมากในการรองรับการลงทุนโดยเฉพาะในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน และเรื่องอาหารความอุดสมบูรณ์
สำหรับการขาดแคลนแรงงานในประเทศไทย บางสาขาอาชีพไม่สามารถผลิตได้ทันก็สามารถปรับเงื่อนไข หรือใช้เงื่อนไขเดิมของวีซ่าระยะยาว (LTR) ในการส่งเสริมให้นักธุรกิจ หรือแรงงานที่มีศักยภาพสูงเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ซึ่งจะช่วยให้มีแรงงานที่มีความสามารถเข้ามาช่วยยกระดับการผลิตในประเทศไทยได้