สศอ. เผยสหรัฐ-จีน แข่งสงครามเทคฯ ยืดเยื้อ ไทยได้อานิสงส์
สศอ. เผยสงครามแข่งขันเทคโนโลยีสหรัฐ-จีน ยืดเยื้อ ไทยรับอานิสงส์หลายบริษัทเคลื่อนย้ายฐานการผลิต แนะผู้ประกอบการยกระดับภาคอุตฯ สู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง-วางแผนกระจายความเสี่ยง
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแข่งขันเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนต.ค. 2565 คาดการณ์ว่าจะยังไม่สิ้นสุดในระยะเวลาใกล้นี้ ส่งผลให้บริษัทรายสำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลกเริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนไปยังแหล่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประเทศคู่แข่งขันในสงครามเทคโนโลยี โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีบรรยากาศทางการเมืองค่อนข้างสงบและส่วนใหญ่วางตัวเป็นกลางระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์ดังกล่าว หลังจากบริษัทยักษ์ใหญ่ย้ายฐานการผลิตกล้องดิจิทัลออกจากจีนมาตั้งโรงงานในประเทศไทย ส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหมวดอื่นๆ และหากไทยสามารถดึงดูดการลงทุนจากบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงจากการแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่กล่าวมาข้างต้นนี้ได้ จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวได้มากขึ้น
นอกจากนี้ จากการพิจารณาปัจจัยห่วงโซ่อุปทานการผลิตเซมิคอนดักส์เตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ของแต่ละประเทศ พบว่าประเทศไทย เวียดนาม และอินเดีย มีการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีไม่ซับซ้อน เน้นการรับจ้างประกอบมากกว่าการผลิตในช่วงต้นน้ำ
ด้านมาเลเซียมีการผลิตแบบซับซ้อน ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิต จึงทำให้ปัจจัยด้านเงินเดือนเฉลี่ยของมาเลเซียมีระดับที่สูงกว่าทุกประเทศ โดยเงินเดือนมาเลเซีย เฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 788 ดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือ ไทย เฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 430 ดอลลาร์สหรัฐ เวียดนาม เฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 325 ดอลลาร์สหรัฐ และอินเดียเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 126 ดอลลาร์สหรัฐขณะที่ ท่าทีที่มีต่อสงครามเทคโนโลยี พบว่า ไทยและมาเลเซียแสดงจุดยืนเป็นกลาง
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจเข้าไปลงทุนของบริษัทต่างชาติ พบว่า ปัจจัยด้านห่วงโซ่อุปทานของไทยเมื่อเทียบกับคู่แข่งยังสามารถแข่งขันได้ เนื่องจากประเทศคู่แข่งยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีความไม่ซับซ้อนคล้ายคลึงกับไทย ในด้านการเป็นฐานการผลิตสินค้าแต่ละประเทศมีสินค้าที่คล้ายคลึงกัน คือ เป็นฐานการผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายที่ใช้ส่วนประกอบจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เหมาะแก่การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน
ขณะเดียวกัน ไทยมีโอกาสที่จะถูกเลือกเป็นประเทศปลายทางในการตั้งฐานการผลิต โดยหลายบริษัทมีแนวโน้มที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศคู่ขัดแย้งในสงครามเทคโนโลยีครั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดกับกิจการของตน และไทยเองมีศักยภาพที่จะดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเหล่านี้ได้
“ภาคอุตสาหกรรมไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการแข่งขันเทคโนโลยีครั้งนี้ภาครัฐและเอกชนต้องเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตที่มีความซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงให้ได้โดยเร็ว ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้งานได้จริงมากขึ้นกว่าปัจจุบัน ผู้ประกอบการควรวางแผนการกระจายความเสี่ยงกรณีห่วงโซ่อุปทานของโลกหยุดชะงัก โดยการจัดหาวัตถุดิบที่มาจากหลายแหล่ง ซึ่งขณะนี้ภาครัฐได้เร่งส่งเสริมให้เกิดพันธมิตรทางการค้าใหม่ๆ เพื่อขยายตลาดให้กับสินค้าและบริการของไทยอย่างต่อเนื่อง” นางวรวรรณ กล่าว