ไข่ไก่ ต้นทุนสูง ผลผลิตเกิน ราคาร่วงยาว ดันส่งออก ปลดแม่ไก่ รักษาสมดุล
Egg Board ถกเอกชนดันส่งออกไข่ไก่ต่อเนื่อง ปลดไก่ยืนกรง หลัง สงครามยูเครน-รัสเซียทำต้นทุนไข่ไก่พุ่ง 18 % ขณะผลผลิตเกินความต้องการ ราคาอาจร่วงยาวไปถึงตรุษจีน
นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ครั้งที่ 1/2566 เปิดเผยว่า ไตรมาส 2 ปี 2566 ต้นทุนการผลิตไข่ไก่เฉลี่ยอยู่ที่ 3.70 บาท ต่อฟอง คาดเพิ่มขึ้น 18% จากไตรมาส 1 ปี 2566 ที่มีต้นทุนอยู่ที่ 3.67 บาทต่อฟอง เนื่องจากค่าพันธุ์สัตว์ ราคาอาหารสัตว์ วัคซีน ยาป้องกันโรค ค่าน้ำ และค่าไฟปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มขยับสูงขึ้นอยู่ที่ราคา 3.80 บาทต่อฟอง
นอกจากนี้ปัจจุบันไก่ไข่ยืนกรงมี จำนวน 52.08 ล้านตัว ผลผลิต 43.21 ล้านฟองต่อวัน ยังเกินความต้องการบริโภคทั้งภายในประเทศและส่งออก รวมกันประมาณ 41.89 ล้านฟองต่อวัน โดยการส่งออกไข่ไก่สด ปี 2566 (ม.ค. - เม.ย.) จำนวน 163.53 ล้านฟอง เพิ่มขึ้น 179.97% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าส่งออกรวม 718.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 229.98% จากช่วงเดียวกันของปีที่ก่อน โดยมีการส่งออกสิงคโปร์ คิดเป็น 66% รองลงมา คือ ฮ่องกง 19%
ล่าสุดมีการส่งออกไข่ไก่สดไปไต้หวันจำนวน 20.8 ล้านฟอง และคาดการณ์ปี 2566 จะมีปริมาณการส่งออกไข่ไก่สดจากประเทศไทย ไปไต้หวันได้มากกว่า 50 ล้านฟอง มูลค่ากว่า 230 ล้านบาท
ดังนั้นเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการรายใหญ่ผลักดันการส่งออก หรือปลดไก่ไข่ยืนกรงก่อนกำหนด จำนวน 65 ล้านฟอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี กากถั่วเหลืองนำเข้า ราคาวัตถุดิบทดแทน (ปลายข้าว และมันเส้น) และปลาป่น ผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่ เป็นต้น
น.สพ.โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า แนวโน้มต้นทุนการผลิตไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.70 บาทต่อฟอง จากไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ที่ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 3.67 บาทต่อฟอง และต้นทุนการผลิตไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม ปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.26 บาทต่อฟอง เนื่องจากปัญหาสงครามรัสเซีย – ยูเครน ที่ส่งผลให้วัตถุดิบอาหารมีราคาปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และหากเทียบก่อนสงครามต้นทุนสูงขึ้นมากจากเดิมอยู่ที่ 2.90 บาทต่อฟอง
สำหรับกำลังการผลิตไข่ไก่ปี 2566 คาดว่ามีปริมาณผลผลิตไข่ไก่ประมาณ 15,700 ล้านฟอง หรือเฉลี่ยประมาณ 43 ล้านฟองต่อวัน ขณะที่อัตราการบริโภคไข่ไก่ ภายในประเทศ ประมาณ 15,200 ล้านฟอง หรือเฉลี่ยประมาณ 41.5 ล้านฟอง/วันจากการระบาดของโควิดที่คลี่คลายลง มีการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น จะทำให้มีอัตราการบริโภคภายในประเทศ เพิ่มขึ้น
“ผลผลิตไข่ไก่ต่อวันเกินความต้องการบริษัทอยู่ประมาณ 1.7 ล้านฟอง ดังนั้นราคาไข่ไก่ปี 2566 ตั้งแต่เดือนพ.ค. ราคาไข่ไก่ทรงตัวจนถึงช่วงเดือน ก.ย. 2566 และอาจมีการปรับตัวลดลงในช่วงเทศกาลกินเจและปิดภาคเรียนในระหว่างเดือนก.ย. – ต.ค. 2566 แต่ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์อื่นๆ เช่น ต้นทุนการผลิตที่อาจปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ขาดแคลนและมีราคาสูง ที่อาจกระทบต่ออัตราการบริโภคไข่ไก่”
อย่างไรก็ตามการส่งออกไข่ไก่ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมี.ค. 2566 จากปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนกส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนไข่ไก่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะไต้หวันที่มีปัญหาขาดแคลนไข่ไก่ประมาณ 500,000 ถึง 800,000 ฟองต่อวัน สำหรับประเทศไทยซึ่งสามารถป้องกันโรคไข้หวัดนกได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าจะมีอัตราการส่งออกไข่ไก่สดเพิ่มจากเฉลี่ยประมาณ 1 ล้านฟองต่อวัน เป็นประมาณ 1.1 - 1.5 ล้านฟองต่อวัน จนกว่าสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดนกในภูมิภาคข้างเคียงจะคลี่คลายลง