‘จีน’ เร่งตรวจสอบ ‘เทรดเงินหยวนออฟชอร์’ เหตุฟันด์โฟลว์ไหลออกอื้อ
“หน่วยงานกำกับดูแลจีน” เร่งตรวจสอบการซื้อขายสกุลเงินและกระแสเงินทุนข้ามพรมแดน เหตุพบเงินทุนไหลออกจำนวนมาก กดดันเงินหยวนอ่อนค่าลงสู่ระดับที่อ่อนแอที่สุดในรอบ 7 เดือน
Key Points
- หน่วยงานกำกับดูแลจีนเร่งตรวจสอบการซื้อขายสกุลเงินและกระแสเงินทุนข้ามพรมแดน
- ข้อมูลพบเงินทุนไหลออกจำนวนมากกดดันค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงสู่ระดับที่อ่อนแอที่สุดในรอบ 7 เดือน
- นักเศรษฐศาสตร์จากปักกิ่งเผย สภาวะปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นแบบสดใส
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานวันนี้ (30 มิ.ย.) ว่า หน่วยงานกํากับดูแลของจีนอยู่ในช่วง “ยกระดับการตรวจสอบ” การซื้อขายสกุลเงินและกระแสเงินทุนข้ามพรมแดนเนื่องจากเงินหยวนอ่อนค่าลงสู่ระดับที่อ่อนแอที่สุดในรอบ 7 เดือน
โดย ที่ผ่านมาธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (PBOC) และหน่วยงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (The State Administration of Foreign Exchange) เข้าสอบถามบรรดาผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เกี่ยวกับกระแสเงินและอุปสงค์ในการป้องกันความเสี่ยง (Hedging Demand) ทั้งยังรวบรวมความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์เงินหยวน รวมทั้งความเชื่อมั่นในการซื้อขายอีกด้วย
ประกอบกับ สำนักบริหารการแลกเปลี่ยนเงินตราฯ ขอคำแนะนำจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาหนทาง “รักษาเสถียรภาพของสกุลเงิน” โดยมีกำหนดส่งรายงานในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
ทั้งนี้ ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ทางการจีนส่งสัญญาณถึงความ “ไม่สบายใจ” กับการอ่อนค่าของเงินหยวน ซึ่งร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย.เมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยเมื่อเดือนที่แล้ว PBOC ให้คำมั่นที่จะควบคุมการเก็งกำไรและใช้ “อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงรายวัน” เพื่อผลักดันค่าเงินกลับในสัปดาห์นี้ แม้ว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายซึ่งตรงกันข้ามกับอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่สูงขึ้นและการเติบโตที่อ่อนแอกว่าที่คาดไว้ต่างสร้างแรงกดดันต่อสกุลเงินก็ตาม
“จากการสำรวจ ความคาดหวังของตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศโดยรวมมีเสถียรภาพ” สำนักบริหารการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแห่งรัฐ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก พร้อมเสริมว่า กิจกรรมการซื้อขายยังคงสมเหตุสมผล ขณะที่นักลงทุนรายใหญ่ซึ่งรวมถึงธนาคารและบริษัทต่างๆ อยู่ในช่วงปรับตัวเข้ากับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนแบบ 2 ทาง (Two-way Fluctuations)
โดย ในปีนี้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงเกือบ 5% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ จึงเป็นค่าเงินที่อ่อนค่าที่สุดเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชีย และหยวนร่วงลงในวันพฤหัสบดีสู่ระดับต่ำสุดใหม่ในปี 2566 ที่ 7.2769 ต่อดอลลาร์ใน การซื้อขายนอกประเทศ (Offshore) หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐหนุนกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งภายในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ ตามรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 กองทุนต่างประเทศลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลจีน ทั้งยังมีสัญญาณว่านักลงทุนจีนอยู่ในช่วงโยกย้ายเงินไปยังสินทรัพย์ต่างประเทศมากขึ้น
สภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรต่อหยวน
“สภาพแวดล้อมปัจจุบันไม่เป็นมิตรกับเงินหยวน”
เหอ เว่ย (He Wei) นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัย เกฟคาล ดราโกโนมิกส์ (Gavekal Dragonomics) ในกรุงปักกิ่งกล่าว “ช่วงนี้เป็นช่วงที่ความเชื่อมั่นต่ำที่สุดท่ามกลางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างอ่อนแอในไตรมาสที่สอง”
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปในเดือน พ.ค. PBOC และสำนักบริหารการแลกเปลี่ยนเงินตราฯ กล่าวว่า จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับการชี้นำของตลาด (Market Guidance) และดำเนินการต่อต้าน การเดิมพันสกุลเงินทางเดียว (One-way Currency Bets) ซึ่งกระตุ้นให้เงินหยวนปรับตัวขึ้นชั่วคราว
รวมทั้ง ในสัปดาห์นี้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา PBOC ยังกำหนด อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Reference Rate) ที่แข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เป็นครั้งที่ 3