แบงก์รัฐจีนตุน ทุนสำรองเงา 3 ล้านล้าน หวั่นขายกระทบราคาสินทรัพย์โลก
“แบรด เซ็ตเซอร์” สมาชิกอาวุโสของสภาความสัมพันธ์ต่างประเทศ เผยจีนมีปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์ ราวครึ่งหนึ่งเป็น "ทุนสำรองเงา" หวั่นเทขายเร็วแรง กระทบราคาสินทรัพย์โลก กูรูประเมินอาจเป็นวิธีที่จีนใช้แทรกแซงค่าเงินโดยไม่ให้สหรัฐรู้
Key Points
- แบรด เซ็ตเซอร์ เผยจีนมีทุนสำรองเงาอยู่เกือบ 3 ล้านล้านดอลลาร์
- จีนสะสมทุนสำรองเงาโดยให้ธนาคารของรัฐเข้ามาถือครอง
- ด้าน “ดร.จิติพล” ชี้ กรณีนี้คล้ายเป็นการบอกว่าธนาคารออมสินของไทยถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐรวมอยู่ในทุนสำรองระหว่างประเทศ
- ส่วน “ดร.พิพัฒน์” ระบุ อาจเป็นวิธีการแทรกแซงค่าเงินโดยไม่ให้สหรัฐจับได้ เพราะจีนเกินดุลการค้าตลอด แม้ปริมาณทุนสำรองเท่าเดิม
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานถ้อยแถลงของ แบรด เซ็ตเซอร์ (to Brad Setser) สมาชิกอาวุโสของ สภาความสัมพันธ์ต่างประเทศ (Council on Foreign Relations) ซึ่งเป็นคณะทำงานระดับมันสมองในมหานครนิวยอร์ก ว่า จีนมีปริมาณเงินกองทุนสำรองระหว่างอยู่ที่ 6 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 198 ล้านล้านบาท) ซึ่งครึ่งหนึ่งของปริมาณเงินกองทุนดังกล่าวเป็นเงินที่ไม่เปิดเผยเป็นสาธารณะ หรือทุนสำรองเงา (Shadow Reserve ) และนับว่าเป็นความเสี่ยงรูปแบบใหม่ต่อเศรษฐกิจโลก
เซ็ตเซอร์ กล่าวโดยอ้างอิงรายงานของอดีตเจ้าหน้าที่การค้าและกระทรวงการคลังของสหรัฐต่อว่า ธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (PBOC) ไม่เปิดเผยปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจำนวนมากในหนังสือทางการซึ่งเผยแพร่ให้ประชาชนและบุคคลภายนอกรับรู้ ซึ่งเรียกการกระทำดังกล่าวว่า “ทุนสำรองเงา” ที่ไปปรากฏอยู่ในทรัพย์สินของหลายหน่วยงาน เช่น ธนาคารพาณิชย์ของรัฐและธนาคารเฉพาะกิจ (Policy Banks)
“ความไม่โปร่งใสในจีนค่อนข้างเป็นปัญหาสำหรับทั่วโลก” เซ็ตเซอร์ระบุพร้อมเสริมว่า “โครงสร้างเศรษฐกิจของจีนค่อนข้างสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก สำคัญจนกระทั่งไม่ว่าอะไรก็ตามที่จีนทำ ไม่ว่าจะมองเห็นหรือไม่เห็นก็ตาม ในที่สุดก็จะมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อส่วนอื่นๆ ของโลกตามไปด้วย”
ด้าน สํานักงานบริหารเงินตราต่างประเทศของจีน (State Administration of Foreign Exchange) หรือ SAFE ยังไม่ตอบสนองต่อคำร้องขอสัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กในทันที
ทั้งนี้ ตัวอย่างของอิทธิพลที่ทุนสำรองของจีนมีต่อเศรษฐกิจทั่วโลกคือ บทบาทของพวกเขาในการให้เงินแก่โครงการเส้นทางสายไหมใหม่ (Belt and Road Initiative) ซึ่งเกิดขึ้นจากการผลักดันหลังวิกฤตการเงินให้กระจายการถือครอง
“จีนมีอำนาจเยอะมาก มากพอที่จะทำให้แผนโครงการโครงสร้างพื้นฐานทั้งโลกเป็นไปในทิศทางที่จีนต้องการ จากเพียงผลข้างเคียงของการตัดสินใจในปี 2552 ที่จะหาวิธีใหม่ในการจัดการการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของจีน” เซ็ตเซอร์ระบุ พร้อมเสริมว่า
“จีนมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก ดังนั้นกิจกรรมทั้งหมดของจีนไม่ว่าจะออกมาทางใดก็ตามล้วนมีผลกระทบที่ใหญ่หลวงไปทั่วโลก”
โดยเซ็ตเซอร์ระบุว่า SAFE รายงานเมื่อสิ้นปีที่แล้วว่ามีเงินสำรองอย่างเป็นทางการ ที่ 3.1 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่สถาบันต่างๆ ซึ่งต้องรายงานตัวเลขต่อรัฐบาลกลางอาจมีสินทรัพย์ต่างประเทศในพอร์ตรวมเกือบ 6 ล้านล้านดอลลาร์
ขนาดของ “ทุนสำรองเงา” เหล่านี้ เป็นประเด็นหนึ่งที่หลายฝ่ายมักละเลยหรือลืมกล่าวถึงเมื่อเจรจากันในประเด็นสำคัญ” เซ็ตเซอร์ระบุ พร้อมเสริมว่า “จีนยังคงเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของทั้งโลก และทุกประเทศล้วนรับรู้แรงสั่นสะเทือนจากการที่จีนสะสมเงินตราต่างประเทศจำนวนมหาศาลจวบจนทุกวันนี้”
ส่วน ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผอ.ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ให้สัมภาษณ์ในประเด็นดังกล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า ยังไม่ทราบที่มาที่ไปของวิธีการเก็บข้อมูลของแหล่งข่าวของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก เพราะระบุเพียงว่าเป็นเงินที่ซ้อนอยู่ในธนาคารพาณิชย์ของรัฐและธนาคารเฉพาะกิจของจีน คล้ายกับเป็นการกล่าวหาว่าถ้าธนาคารออมสินของประเทศไทยถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐแบบนี้ถือเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ แบบนี้ก็อาจจะไม่ใช่ ดังนั้นจึงยังสรุปไม่ได้ว่าทุนสำรองเงานั้นจะเกิดผลกระทบอย่างไร
“แหล่งข่าวของบลูมเบิร์กไม่ได้บอกว่าเงินสำรองเงานั้นเป็นของหน่วยงานใด และสินทรัพย์ที่ถืออยู่นั้นเป็นสินทรัพย์อะไรของประเทศอะไร ซึ่งต้องยอมรับว่ามูลค่า 3 ล้านล้านดอลลาร์นั้นเยอะมาก มีขนาดเท่าบริษัทแอปเปิลในปัจจุบัน ดังนั้นสมมุติว่ามีหน่วยงานไหนถือจริง สมมุติเป็นพันธบัตรของสหรัฐ แล้วมีการบังคับขายเกิดขึ้น หน่วยงานนั้นก็อาจถึงขึ้นล้มละลายได้เลย เพราะก็คงไม่มีใครเข้ามาซื้อไว้”
ดร.จิติพล ระบุเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันยังไม่ทราบข้อเท็จจริงใดๆ เลยทั้งวิธีการเก็บข้อมูล หรือหน่วยงานที่ถือเงินสำรองระหว่างประเทศจำนวน 3 ล้านล้านที่แหล่งข่าวระบุ ดังนั้นจึงยังไม่สามารถฟันธงประเด็นใดได้
ด้าน ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า หากพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจของจีน ซึ่งเกิดดุลการค้ามาต่อเนื่อง แต่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศกลับอยู่ในระดับเดิมมาตั้งแต่ปี 2559 ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่าจีนสะสมสินทรัพย์ต่างประเทศไว้ในรูปแบบสินทรัพย์อื่นในธนาคารของรัฐเพื่อแทรกแซงค่าเงิน (Currency Manipulation) โดยไม่ต้องการให้สหรัฐจับได้
“หลายคนอาจกลัวว่าการที่จีนสะสมสินทรัพย์ต่างประเทศทั้งในฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศและทุนสำรองเงาอาจสร้างผลกระทบในเชิงที่ว่าจีนอาจเทขายสินทรัพย์เหล่านั้นออกมาอย่างรวดเร็วจนกระทั่งกระทบราคาสินทรัพย์ทั่วโลก แต่เอาเข้าจริงจีนคงไม่อยากทำแบบนั้นเพราะเหมือนเป็นการทำลายความมั่งคั่งของตัวเองที่สะสมมาเป็นเวลานาน”
ทั้งนี้ ดร.พิพัฒน์กล่าวต่อว่า หากจีนถือครองทุนสำรองระหว่างประเทศเยอะๆ โดยเฉพาะในรูปสกุลเงินดอลลาร์ นั้นอาจไม่ใช่สิ่งที่สหรัฐต้องกังวล แต่เป็นจีนเองต่างหากที่ต้องระวัง เพราะหากเกิดกรณีแบบรัสเซียที่สหรัฐยึดสินทรัพย์ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ทั้งหมดไปจากการบุกยูเครน จีนก็จะได้รับผลกระทบอย่างมาก ดังนั้นมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตจีนจะเริ่มลดการถือครองสินทรัพย์ในรูปเงินดอลลาร์ลงเพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งก็จะกระทบราคาสินทรัพย์ดังกล่าวทั่วโลก
“อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่าจีนคงไม่ขายสินทรัพย์ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ออกมาทีเดียวอย่างรวดเร็วจนกระทบราคาสินทรัพย์ทั่วโลกหรอกเพราะมันเป็นเหมือนการทำร้ายตัวเอง”