ผ่าสัญญา 'รถไฟฟ้าสายสีเหลือง' ทำไมค่าโดยสาร 15 - 45 บาท
เปิดสัญญา “รถไฟฟ้าสายสีเหลือง” รฟม.เตรียมจ่ายงวดแรกค่าสนับสนุนงานโยธารถไฟฟ้าสายสีเหลือง ส.ค.นี้ หลัง “บีทีเอส” ทยอยเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ ขณะที่รายได้จากค่าโดยสาร มั่นใจเกิน 1 พันล้านบาท
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยว่า ภายหลังเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ตามสัญญาร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการนี้กำหนดไว้ว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะต้องเริ่มจ่ายเงินสนับสนุนงานโยธาในจำนวน 25,050 ล้านบาท
โดยตามสัญญากำหนดไว้ว่าทางภาครัฐจะเริ่มจ่ายเงินสนับสนุนแบ่งเป็นจำนวน 10 งวด หรือ 10 ปี โดยงวดแรกมีกำหนดจ่ายภายหลังเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์รถไฟฟ้าเป็นเวลา 45 วัน ส่งผลให้ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองนั้น คาดการณ์ว่าบีทีเอสจะได้รับเงินสนับสนุนงวดแรกจากทาง รฟม.ในจำนวน 2,505 ล้านบาท ภายในเดือน ส.ค.นี้
“ปีนี้จะเริ่มรับรู้รายได้ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองรวมกว่า 3 พันล้านบาท แบ่งเป็น เงินสนับสนุนจากภาครัฐ 2,505 ล้านบาท และเงินจากการจัดเก็บรายได้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่คาดว่าจะมีกว่า 1 พันล้านบาท ส่วนปีหน้ารถไฟฟ้าสายสีเหลืองจะรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นอีก จากการเปิดให้บริการเต็มปี คาดว่าจะมีรายได้ค่าโดยสารมากกว่า 2 พันล้านบาท”
ขณะเดียวกัน บีทีเอสยังคาดการณ์รายได้ในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน มี.ค.2567 โดยคาดการณ์ว่านอกจากรายได้ที่เกิดขึ้นส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองแล้ว ขณะนี้บีทีเอสยังเตรียมเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี ภายในเดือน พ.ย.นี้ ดังนั้นหากสามารถเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ตามแผนภายในปี 2566 จะส่งผลให้บีทีเอสได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐส่วนของรถไฟฟ้าสายสีชมพูอีกประมาณ 2,250 ล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 22,500 ล้านบาท
นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ภายในปีงบประมาณ 2566 หากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าโมโนเรลเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ครบทั้งสองสายภายในปีนี้ จะส่งผลให้บีทีเอสรับรู้รายได้ส่วนของเงินสนับสนุนจากภาครัฐทั้งสองโครงการรวมประมาณ 5 พันล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีรายได้จากค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่มีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพูเนื่องจากเป็นการเปิดให้บริการในช่วงสิ้นปีแล้ว จึงประเมินว่าอาจรับรู้รายได้ไม่ทันปีงบประมาณนี้
สำหรับบีทีเอสเป็นหนึ่งในเอกชนร่วมลงทุนบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู ภายใต้กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) โดยจดทะเบียนดำเนินงานในชื่อ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีชมพู
รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เผยว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง มูลค่าโครงการอยู่ที่ 51,810 ล้านบาทแบ่งเป็น การลงทุนภาครัฐในส่วนของการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 6,013 ล้านบาท ขณะที่ภาคเอกชนลงทุนงานโยธา 23,206 ล้านบาท และงานระบบรถไฟฟ้า 22,591 ล้านบาท โดยทางเอกชนขอรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐในโครงการนี้เป็นจำนวน 25,050 ล้านบาท ซึ่ง รฟม.จะทยอยจ่ายจำนวน 10 งวด
ขณะที่ส่วนแบ่งรายได้ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ซึ่งมาจากค่าโดยสาร ค่าจอดรถ และการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ตลอดระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี ตามสัญญาเอกชนได้ตกลงแบ่งรายได้ให้แก่ รฟม. ประมาณ 250 ล้านบาท แบ่งเป็น ในปีที่ 11-15 หรือระหว่างปี 2576-2580 ต้องจ่ายผลตอบแทนให้ รฟม. ปีละ 5 ล้านบาท ขณะที่ปีที่ 16-20 หรือระหว่างปี 2581-2585 จะต้องจ่ายเพิ่มเป็นปีละ 10 ล้านบาท หลังจากนั้นในปีที่ 21-25 หรือระหว่างปี 2586-2590 จะต้องจ่ายเพิ่มเป็นปีละ 15 ล้านบาท และปีที่ 26-30 หรือระหว่างปี 2591-2595 จ่ายเพิ่มเป็นปีละ 20 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ในทุกๆ ปีของการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ รฟม.มีตัวชี้วัดการประเมินประสิทธิภาพการให้บริการทุกปี ดังนั้นหากพบว่าการบริการของภาคเอกชนลดลง ไม่เป็นไปตามดัชนีชี้วัด รฟม.จะมีบทลงโทษเป็นค่าปรับ และส่งผลต่อการจ่ายเงินค่าสนับสนุนงานก่อสร้างในปีนั้นๆ ลดลง โดยข้อกำหนดเหล่านี้เป็นหลักเกณฑ์ปกติที่ปฏิบัติกับรถไฟฟ้าทุกสายที่อยู่ภายใต้การดูแลของ รฟม.เพื่อรักษาประสิทธิภาพของการให้บริการ
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง ปัจจุบันได้เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์แล้วทั้ง 23 สถานี เชื่อมต่อการเดินทางจากสถานีลาดพร้าว ถึงสถานีสำโรง รวมระยะทาง 30.4 กิโลเมตร โดยมีอัตราค่าโดยสาร เริ่มต้นที่ 15 บาท สูงสุด 45 บาท ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00 - 24.00 น. อีกทั้งยังรองรับการแตะจ่ายผ่านบัตร EMV (Europay, Mastercard and Visa) เพื่อใช้เป็นตั๋วร่วมเชื่อมระบบรถไฟฟ้าและได้รับสิทธิจ่ายค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว
สำหรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลือง รฟม.ได้กำหนดเป็นไปตามมาตรฐานที่ใช้ในระบบรถไฟฟ้าทุกสายที่อยู่ภายใต้การกำกับของ รฟม. โดยคำนวณจากดัชนีผู้บริโภค (CPI) และมีการปรับเพิ่มขึ้นตามระยะทางคิดเป็นกิโลเมตร ซึ่งในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจะสังเกตเห็นว่ามีบางช่วงสถานีที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นสูง เนื่องจากระยะทางระหว่างสถานีค่อนข้างไกล ส่งผลให้การคำนวณอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันได