อีอีซี ผนึก ม.แม่ฟ้าหลวง เสริมทักษะภาษา “อังกฤษ-จีน” เพิ่มโอกาสงานรายได้สูง
อีอีซี ร่วมมือ ม.แม่ฟ้าหลวง พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษและจีนให้ครู-นักเรียน ในพื้นที่อีอีซี เพิ่มโอกาสเข้าถึงงานรายได้สูงในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ และอุจฯที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
นางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการสายงานพื้นที่และชุมชน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นประธานในการเปิดโครงการและการนำเสนอผลงานวิชาการ โครงการต่อยอดการพัฒนาทักษะของครูด้านภาษาอังกฤษและภาษาจีน สู่การเป็น Smart Teacher และพัฒนานักเรียนสู่การเป็น Smart Local Leader พร้อมทั้งมอบเกียรติบัตรแก่ครูในพื้นที่ อีอีซี ที่เข้าร่วมโครงการ
โดยมี ผศ.ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พร้อมผู้บริหารผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง รองปลัดเมืองพัทยา ผู้อำนวยการโรงเรียนเข้าร่วมในพิธีเปิดและเป็นเกียรติในการมอบเกียรติบัตร ณ โรงแรมอมารี พัทยา จังหวัดชลบุรี
นางธัญรัตน์ กล่าวว่า อีอีซี ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรรองรับความต้องการของอุตสาหกรรม พร้อมเน้นย้ำให้ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้เข้าร่วมโครงการ เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรทุกช่วงวัย และทุกอาชีพโดยเฉพาะทักษะด้านภาษา
โดยการประเมินความสำเร็จของโครงการสำหรับนักเรียนและคุณครูที่เข้าร่วมโครงการ ด้วยหลัก Demand Driven คือการพัฒนาบุคลากรให้มีสมรรถนะตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม ในรูปแบบ EEC Model ที่มีผู้ประกอบการแต่ละอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมทุกกระบวนการ เพื่อรองรับและดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
"การพัฒนาทักษะบุคลากร โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา อีอีซี เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เนื่องจากพื้นที่ อีอีซี มีนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจมาเยี่ยมเยือนเฉลี่ยต่อปีกว่า 5 ล้านคน และจะเพิ่มมากขึ้นอีกปีละไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน ทั้งนี้ การที่บุคลากรมีความรู้ด้านภาษาทั้งจีน และอังกฤษ เพิ่มเติมจากสมรรถนะหลัก จะช่วยสร้างโอกาสในการมีงานทำที่รายได้สูง"
สำหรับโครงการต่อยอดการพัฒนาทักษะของครูด้านภาษาอังกฤษและภาษาจีน เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 - 2565 มีเป้าหมายเพื่อยกระดับศักยภาพครูและนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ในพื้นที่ อีอีซี ด้านภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ด้วยกระบวนการ Leaning Coaching และการจัดค่ายอบรมแบบ Intensive
รวมถึงการติดตามการสอนในโรงเรียนพร้อมการขยายผลสู่นักเรียน ในพื้นที่ อีอีซี ซึ่งจะเป็นทรัพยกรบุคคลที่สามารถตอบสนองความต้องการของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี ต่อไปในอนาคต มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 10 โรงเรียน ครู 57 คน และนักเรียน 400 คน