'แหลมฉบัง' หนุนใช้พลังงานสะอาดสู่ท่าเรือสีเขียว
ดร.สุปรีย์ ศรีสำราญ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS นำเสนอบทความถึงแนวทางการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ที่จะพัฒนาไปสู่ท่าเรือสีเขียว โดยมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ จะสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน
ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เป็นอีกหนึ่งโครงการเมกะโปรเจกต์สำคัญในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าทางทะเลจากปัจจุบันที่ 11 เป็น 18 ล้านตู้ต่อปี และรองรับการขนส่งรถยนต์จากปัจจุบันที่ 2 เป็น 3 ล้านคันต่อปี
นอกเหนือจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าแล้ว ท่าเรือแหลมฉบังยังได้มีการเตรียมพัฒนาสู่ท่าเรือสีเขียว (Green Port) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีแนวทางพัฒนา 6 ด้าน ได้แก่
1.การใช้รถบรรทุกไฟฟ้าและการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่
2.การใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์
3.การเปลี่ยนระบบการขนส่งตู้สินค้าจากรถบรรทุกเป็นรถไฟมากขึ้น
4.การใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์เครื่องจักรภายในท่า
5.การใช้ระบบ IT Intelligence ในการจัดการพลังงานและการจราจร
6.การบริหารจัดการของเสียและรีไซเคิลน้ำ
“แนวทางเหล่านี้ นอกจากจะส่งผลบวกในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับท่าเรือและผู้อยู่อาศัยรายรอบแล้ว ยังสอดคล้องกับเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของไทยภายในปี 2593 อีกด้วย”
Krungthai COMPASS ได้วิเคราะห์ผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 สู่ท่าเรือสีเขียว ใน 3 ด้านแรก ประกอบด้วย
1.การใช้รถบรรทุกไฟฟ้า ประเมินว่า หากมีการเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกไฟฟ้าในท่าเรือแหลมฉบังราว 10% หรือประมาณ 1,000 คันต่อวัน นอกจากจะประหยัดค่าเชื้อเพลิง (ค่าน้ำมันเทียบค่าไฟฟ้าในการชาร์จ) โดยเฉลี่ยได้ถึง 50% และประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาแล้ว ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 6.8 หมื่นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (tCO2e) ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 8.5 ล้านต้น
2.การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ความต้องการกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในท่าเรือ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 4.9 เมกะวัตต์ ในปี 2568 เป็น 15.7 เมกะวัตต์ ในปี 2579 ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนในการผลิตและจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นจาก 147.4 ล้านบาท ในปี 2567 เป็น 470 ล้านบาท ในปี 2578
3.ในอนาคตท่าเรือมีแผนที่จะพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator: SRTO) เพื่อเพิ่มความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้อีก 4 ล้าน TEU ต่อปี เป็น 6 ล้าน TEU ต่อปี ซึ่งหากสามารถขยายขีดความสามารถ ICD ลาดกระบังจากปัจจุบันที่ 7 แสน TEU ต่อปี หรือพื้นที่ใกล้เคียงให้เพิ่มขึ้นอีก 5.3 ล้าน TEU ต่อปี จะสามารถลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงจากการขนส่งทางถนนได้อย่างน้อยราว 660 ล้านบาทต่อปี และลดการปลดปล่อยมลพิษได้อย่างน้อย 7.1 แสน tCO2e
การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ใน 3 ด้าน ได้แก่ การใช้รถบรรทุกไฟฟ้า การใช้พลังงานสะอาด และการขนส่งระบบรางมากขึ้น นอกจากจะนำไปสู่การพัฒนาท่าเรือสีเขียวแล้ว ยังส่งผลบวกกับธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจผลิตรถบรรทุกไฟฟ้า ธุรกิจชิ้นส่วนและแบตเตอรี่รถบรรทุกไฟฟ้า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ผู้ประกอบการในธุรกิจเหล่านี้จึงควรศึกษาและเตรียมพร้อมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่กับการพัฒนาท่าเรือไปด้วย