เอกชนขนส่งตื่นตัวรับกรีนโลจิสติกส์ ลุยเปลี่ยนยานยนต์ไฟฟ้าสู่ภาคบริการ
เอกชนภาคขนส่งตื่นตัวยานยนต์ไฟฟ้า ดันเป้าหมายกรีนโลจิสติกส์ ล่าสุด “ทีเอ็น โลจิสติกส์” จับมือ “เอเชียพลัส อีวี” เอ็มโอยูบริหารรถขนส่งเชิงพาณิชย์พลังงานไฟฟ้า ตั้งเป้าเปลี่ยนรถโดยสาร 200 คัน
นายธนัช เงินประเสริฐศรี กรรมการบริหาร บริษัท ทีเอ็น โลจิสติกส์ เมเนจเม้นท์ จำกัด (TNL) เปิดเผยภายหลังลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การบริหารรถขนส่งเชิงพาณิชย์พลังงานไฟฟ้า” ระหว่าง บริษัท ทีเอ็น โลจิสติกส์ เมเนจเม้นท์ จำกัด (TNL) และบริษัท เอเชียพลัส อีวี จำกัด (AEV) โดยระบุว่า TNL เป็นบริษัทผู้ประกอบการขนส่งรถโดยสาร ปัจจุบันมีรถสำหรับให้บริการประมาณ 200 คัน ซึ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมและการเติบโตอย่างยั่งยืน ที่จะนำไปสู่เป้าหมายสร้างอุตสาหกรรม Green Logistic
โดยบริษัทฯ จะนำรถโดยสารพลังงานไฟฟ้ามาใช้ทดแทนรถเดิมที่เป็นพลังงานฟอสซิล จึงนำมาสู่ความร่วมมือกับ บริษัท เอเชียพลัส อีวี จำกัด ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายรถเชิงพาณิชย์พลังงานไฟฟ้าที่มีคุณภาพ มีโรงงานผลิตในประเทศไทย โดย บริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด และโรงงานผลิตแบตเตอรี่ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
อย่างไรก็ดี ความร่วมมือดังกล่าวนอกจากจะมีการนำรถพลังงานไฟฟ้า (EV) มาใช้ในการขนส่ง ซึ่งบริษัทฯ มีเป้าหมายจะปรับเปลี่ยนยานยนต์ภาคขนส่งที่มีให้บริการทั้ง 200 คัน และยังมีความร่วมมือเพื่อบริหารจัดการเส้นทางโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อให้ได้เส้นทางที่ดีที่สุด มีการวางแผน กำกับ ติดตาม และจัดทำรายงานประจำวัน รวมทั้งจะมีการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ นำไปสู่การสะสมคาร์บอนเครดิตเพื่อซื้อขายได้ในอนาคต
“ถ้าจะถามเรื่องความคุ้มทุนในการปรับเปลี่ยนรถเครื่องยนต์สันดาปมาเป็นรถ EV ในขณะนี้ยังคงพูดได้ไม่เต็มปาก เพราะรถ EV ถือเป็นเรื่องใหม่ แต่มองว่าหากเรามีการบริหารจัดการเส้นทาง มีการคำนวณระยะทางการขนส่ง มีการกำกับ ติดตามและควบคุม ถ้าทำได้ตามแผนที่วางไว้ก็จะช่วยลดความสิ้นเปลืองและส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งถูกลง เชื่อว่าในระยะยาวไม่เกิน 3-5 ปี การใช้รถ EV มีความคุ้มทุนกว่ารถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างแน่นอน” นายธนัช กล่าว
ด้านนายอิทธิวัตร เภาสูตร์ ประธานบริหาร บริษัท เอเชียพลัส อีวี จำกัด (AEV) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากระแสของรถ EV ยังคงมาแรงและมีแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากแทบทุกพรรคการเมืองมีนโยบายสนับสนุนการใช้รถ EV เพื่อลดมลพิษจากฝุ่น PM 2.5 และเดินหน้าเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ประกอบกับเรื่องของการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกำลังเป็นที่สนใจของสังคม โดยเฉพาะในส่วนของภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการขนส่ง ที่ตื่นตัวเดินหน้าสู่โลจิสติกส์สีเขียว
ทั้งนี้ การจะเปลี่ยนผ่านระบบการขนส่งเชิงพาณิชย์จากยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลงสู่ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังกังวลในเรื่องของความคุ้มทุน บริษัทได้ร่วมกับสถาบันวิจัยและบริการวิชาการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา พัฒนาเทคโนโลยีโซลูชั่นมาใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อตอบโจทย์ให้กับผู้ประกอบการขนส่ง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการและสนองนโยบายการเป็น Green Logistic แล้ว ยังสามารถสะสมคาร์บอนเครดิตเพื่อนำไปสู่การซื้อขายในอนาคต เป็นการสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการอีกทางหนึ่ง