‘บลูมเบิร์ก’ ชมไทยจัดการเงินเฟ้อได้ดี แนะเริ่มคิดถึงการผ่อนนโยบายการเงิน
“แดเนียล มอสส์” คอลัมนิสต์สายเศรษฐกิจเอเชียของบลูมเบิร์ก เผย หากไม่นับปัจจัยการเมือง เศรษฐกิจประเทศไทยยืดหยุ่นมาก รวมทั้งทางการสามารถจัดการเงินเฟ้อได้ดี ท่ามกลางเงินเฟ้ออเมริกาอยู่ในระดับสูง
Key Points
- ทางการไทยอาจต้องเริ่มคิดถึงการผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน เพราะสามารถจัดการเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับดี
- แต่ปัจจัยด้านการเมืองยังกดดันเศรษฐกิจในประเทศให้ไม่ไปไหน
- คาดการณ์เงินเฟ้อไทยปีหน้าอยู่ที่ 2.4%
แดเนียล มอสส์ (Daniel Moss) คอลัมนิสต์สายเศรษฐกิจเอเชียของบลูมเบิร์ก (Bloomberg) แสดงความคิดเห็นถึงเศรษฐกิจประเทศไทยในบทความ “Outside of Politics, Thailand Has a Good Story to Tell” ฉบับวันที่ 10 ก.ค. ว่า
เมื่อบรรดาธนาคารกลางประชุมกันเกือบทุกวันเพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ มันทำให้ผมคิดถึง “ประเทศไทย” ไม่ใช่คิดถึงรีสอร์ตชั้นดีและอาหารเลิศรส แต่เป็น “ความสำเร็จที่ไม่ได้รับการพูดถึง” โดยเฉพาะในเรื่องสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้อย่างอยู่หมัด
จนถึงจุดที่ทางการอาจต้องหันมาคิดเรื่องเกี่ยวกับมาตรการที่ผ่อนคลายมากขึ้น เพราะเกรงว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวมากเกินไป
เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยถูกบดบังจาก “การกลับมาเติบโตของเศรษฐกิจจีน” โดยการท่องเที่ยวซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักในภูมิภาคนี้กำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ปรับตัวดีขึ้น ทว่าดู “เหมือนการเมืองไทย” แบ่งฝักแบ่งฝ่ายจะไม่เป็นประโยชน์ต่อการเติบโตสักเท่าไร เพราะผ่านมา 2 เดือนแล้ว ประเทศไทยก็ยังไม่มีนายกรัฐมนตรี
บทวิเคราะห์ดังกล่าวระบุว่า อย่าปล่อยให้เรื่องราวทางการเมืองเหล่านี้กลบเรื่องราวที่ดีของประเทศ
บรรดาผู้กําหนดนโยบายส่วนใหญ่มักลืมว่าเมื่ออัตราเงินเฟ้อเริ่มไต่ระดับขึ้นครั้งแรกในปี 2564 ตอนนั้นพวกเขากลับยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับสถานการณ์เงินเฟ้อดังกล่าว หลังจากต่อสู้เพื่อหาวิธีรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวในช่วงหลายปีก่อนเกิดโรคระบาด บรรดาผู้กำหนดนโยบายเหล่านั้นก็ยังไม่สามารถที่จะรับมือกับสถานการณ์ในช่วงแรก
ในช่วงนั้นหลายฝ่ายพยายามใช้คำศัพท์มากมายเพื่ออธิบายสถานการณ์ช่วงแรกนั้นว่าไม่เป็นอันตราย เช่นคำว่า ชั่วคราว หรือ ระยะสั้น และทุกวันนี้เราก็เห็นแล้วว่า เหตุการณ์ดังกล่าว “ไม่ได้ชั่วคราว” อย่างที่เหล่าผู้กำหนดนโยบายชี้แจ้ง
“เจอโรม เพาเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐติดอยู่กับคำว่า 'T' (Transitory) นานเกินไป ก่อนที่สุดท้ายจะฝังมันลงและเริ่มดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างเข้มงวดในภายหลัง”
ในทางตรงกันข้าม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้คำว่าชั่วคราวตรงตามนิยามมากที่สุด โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาผู้บริโภคลดลงสู่ระดับ 0.2% ในเดือนมิ.ย. จากปีก่อนหน้า ซึ่งลดลงอย่างมากจากเกือบ 8% ในเดือนส.ค.
แม้ ธปท. จะไม่ได้มองว่าเงินเฟ้อจะคงอยู่นานมาจนถึงปัจจุบัน แต่ถึงแม้การคาดการณ์ในปีหน้าอยู่ที่ 2.4% นั่นก็หมายความว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ดีและอยู่ภายใต้การควบคุม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยควบคุมเงินเฟ้อได้โดยไม่ทําให้เศรษฐกิจตื่นตระหนกและสั่นคลอนต้นทุนการกู้ยืมอย่างรวดเร็วเกินไป
ประเทศไทยควรจะพูดถึงความสำเร็จนี้ของตัวเองให้มากขึ้นเพราะการเมืองที่ไม่นิ่งเข้ามาบดบังความสำเร็จดังกล่าวจนแทบจะมองไม่เห็น แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะประเทศไทยอยู่กับความขัดแย้งในเชิงสีเสื้อมาอย่างยาวนั้น โดยรัฐสภาจะยกมือเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างเร็วที่สุดในสัปดาห์นี้
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยมักถูกเรียกว่า ผิดปกติ (Outlier) เนื่องจากธปท.จะไม่ประกาศว่าสิ้นสุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว เมื่อคณะกรรมการเลือกที่จะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราว (Pauses) อย่างไรก็ตาม ความโดดเด่นที่แท้จริงคืออัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในจุดที่เหมาะสม ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง
ด้าน นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. แสดงจุดยืนที่ตรงกันข้ามกับสหรัฐ ในการให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์ก ทีวี (Bloomberg Television) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่า
“ในอเมริกา อัตราเงินเฟ้อส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจากตลาดแรงงานที่ตึงตัว ซึ่งตรงกันข้ามกับประเทศไทย”
อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า ประเทศไทยยังมีความท้าทายมากมาย แม้จะมีการจัดตั้งรัฐบาลในสัปดาห์นี้ แต่ผมจะไม่เดิมพันว่า “รัฐบาลจะมีอายุที่ยืนยาว” ซ้ำร้ายยังมีแรงฉุดจากการขยายตัวแบบชะลอตัวของจีนกำลังส่งผลร้ายต่อประเทศไทย และในระยะยาว ยังมีข้อจำกัดของสังคมสูงวัยที่ยังไม่ใช่สังคมที่ร่ำรวย รวมทั้งเงินบาทก็อ่อนค่ามากกว่า 3% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.
ถึงอย่างนั้นก็ต้องให้เครดิตประเทศไทยอยู่บ้างเพราะ ในช่วงยุคที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เงินบาทไทยแทบจะไม่ขยับเขยื้อนเลยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่เงินหยวน เงินเยน เงินริงกิตต และเงินรูปีกลับมีแรงขายออกไป
ที่สำคัญสำหรับใครก็ตามที่อาศัยและทำงานในภูมิภาคนี้ในช่วง วิกฤตการณ์ทางการเงินของเอเชีย ในปี 2540-2541 เมื่อการลดค่าเงินของประเทศไทยก่อให้เกิดการล่มสลายในวงกว้าง ทว่าประเทศก็รับรู้บทเรียนและกลับมาเติบโตได้อย่างน่าทึ่ง