“พลังงาน”ดับฝัน "Net Metering" ติดโซลาร์รูฟที่บ้าน ยังหักลบค่าไฟไม่ได้
ดับฝัน “Net Metering “พลังงาน” แจง ครม. 3 เหตุผล ไทยยังไม่ควรใช้ระบบหักลบกลบหน่วยอัตโนมัติไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์กับไฟฟ้าที่ใช้ไป ชี้ระบบยังไม่รองรับ ไม่เข้ากรอบภาษี ห่วงทำต้นทุนค่าไฟแพงขึ้น แต่คงราคาขายไฟเข้าระบบหน่วยละ 2.2 บาท
นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (11 ก.ค.)รับทราบผลการศึกษาการดำเนินโครงการโซลาร์ภาคประชาชน กรณีที่ให้ประชาชนส่งไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้เข้าระบบเพื่อหักลบจากหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนใช้ไฟฟ้าในเดือนถัดไป หรือระบบ “Net Metering”
โดยจากการศึกษาพบว่าประเทศไทยยังไม่สามารถใช้ ระบบNet Metering ได้โดยมีเหตุผลหลักๆ ดังนี้
1.ด้านระเบียบและข้อกฎหมาย การส่งไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้เข้าระบบเพื่อหักลบจากหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนใช้ในเดือนถัดไป เป็นการทำธุรกรรมซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประชาชนและการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายและเกิดภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งธุรกรรมการซื้อและการขายโดยการดำเนินธุรกรรม
ดังกล่าวยังไม่มีระเบียบและข้อกฎหมายรองรับวิธีการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากผลต่างของแต่ละธุรกรรมที่เกิดขึ้น หากจะคำนวณภาษีของการดำเนินธุรกรรมดังกล่าวจำเป็นต้องขอยกเว้นมูลค่าฐานภาษี ซึ่งเป็นอำนาจพิจารณาของอธิบดีกรมสรรพากร
2. ด้านเทคนิคและวิธีการที่เกี่ยวข้อง จะส่งผลกระทบทำให้แรงดันไฟฟ้าในระบบไม่สมดุลเนื่องจากไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์มีความผันผวนและไม่แน่นอน ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าในระบบเสียหาย ประสิทธิภาพและอายุการใช้งานลดลง
ทั้งนี้ หากมีการผลิตไฟฟ้าไหลย้อนเข้าสู่ระบบโครงข่ายเป็นจำนวนมากจะต้องเปลี่ยนขนาดและพิกัดของอุปกรณ์ป้องกันในระบบไฟฟ้าใหม่เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงต้องมีระบบควบคุมและบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพไฟฟ้าและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาพรวม และยังเพิ่มภาระแก่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้ง Solar Rooftop ที่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์มิเตอร์เป็นแบบดิจิทัลมิเตอร์เพื่อให้สามารถตรวจสอบคุณภาพไฟฟ้าและปริมาณไฟฟ้าที่ไหลย้อนกลับเข้ามาในระบบไฟฟ้าได้
ต้นทุนซื้อไฟเพิ่มทำส่วนใหญ่ใช้ไฟแพง
3. ด้านผลกระทบต่อประเทศและประชาชนโดยรวม พบว่า ด้านต้นทุนของหน่วยไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะแปรผันไปตามต้นทุนค่าเชื้อเพลิงของแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าโดยรวมทั้งประเทศต้องรับภาระต้นทุนจากการรับซื้อไฟฟ้าราคาสูงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีรายได้น้อยหรือบ้านอยู่อาศัยที่ไม่สามารถติดตั้ง Solar Rooftop เนื่องจากต้นทุนส่วนเพิ่มจากการรับซื้อไฟฟ้าจาก Solar Rooftop จะถูกกระจายกลับไปสู่ค่า Ft และยังเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า
ทั้งนี้ผลการศึกษาสรุปว่าประเทศไทยยังไม่สามารถใช้ระบบ Net Metering ได้แต่รัฐบาลยังคงมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) แบบเดิม คือให้ประชาชนสามารถนำกระแสไฟฟ้าที่เหลือดังกล่าวขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายในอัตรารับซื้อ 2.20 บาท
โดยหากในอนาคตมีการติดตั้งโซลาร์รูฟเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองภายในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น จะมีการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนแฝง เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เกิดขึ้นด้วย พร้อมจะศึกษาถึงความเหมาะสมในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนดำเนินการติดตั้งโซลาร์รูฟเพิ่มเติม
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทยคิดค่าไฟในโครงการโซลาร์ภาคประชาชน แบบ Net Billing คือ การคำนวณค่าไฟแบบแยกคิดระหว่างค่าซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเข้าสู่บ้าน กับค่าขายไฟฟ้าจากโซลาร์ให้การไฟฟ้า แล้วจึงนำเงินค่าขายไฟฟ้ามาหักลบกัน
คิดค่าไฟจากโซลาร์ที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม สำหรับระบบ Net Metering ถือเป็นการคำนวณค่าไฟแบบหักลบหน่วยไฟฟ้าระหว่างหน่วยไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้ากับหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้เองจากโซลาร์เซลล์ ซึ่งเมื่อเทียบกับระบบ Net Billing ก็จะสามารถลดค่าไฟได้มากกว่า เป็นต้น
ทั้งนี้ ระบบ Net billing ถือเป็นกลไกที่พัฒนาจาก Net Metering เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการปรับค่าไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปที่ไหลเข้าสู่ระบบโครงข่ายให้สมดุลกับปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ โดยการกำหนดค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมควรพิจารณาจากผลกระทบของโซลาร์รูฟท็อปต่อระบบไฟฟ้าของประเทศ เช่น หากไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปไม่ได้ช่วยลดต้นทุนของระบบไฟฟ้า เพราะผู้ติดตั้งโซลาร์ยังต้องใช้ไฟฟ้าจากระบบของการไฟฟ้าอยู่ ราคาที่รับซื้อไฟจากโซลาร์รูฟท็อปควรต่ำกว่าอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก
นอกจากนี้ การให้บริการไฟฟ้ามีต้นทุนสูง ที่ไม่ได้มีแต่ต้นทุนจากเชื้อเพลิง แต่ยังมีต้นทุนจากโครงข่ายระบบไฟฟ้า อาทิ เสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า หม้อแปลง และมิเตอร์ เป็นต้น ดังนั้นหากจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าหายไปเพราะหันไปใช้โซลาร์รูฟท็อป ต้นทุนการลงทุนดังกล่าวก็จะถูกเกลี่ยให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ยังคงเหลืออยู่ในระบบแบกรับไป จะกระทบต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่ต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น
กลไกการใช้ระบบ Net Metering และ Net Billing จึงส่งเสริมการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์เพื่อเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองเป็นหลัก ไม่ได้เน้นให้ผลิตเพื่อการขายไฟฟ้า จึงเห็นว่าการกำหนดราคาที่รับซื้อจึงถูกกว่าราคาค่าไฟปกติ เพราะไม่มีต้นทุนเท่ากับไฟฟ้าปกติที่ใช้กัน