อีอีซี หมุดหมายนักลงทุนจีน  หลากหลายปัจจัยหนุน

จากนโยบายขยายการลงทุนในต่างประเทศและการมองหาพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ของจีน สะท้อนจากการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (WCEC) จำนวนกว่า 3,000 คน ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 24-26 มิ.ย.66 ที่ผ่านมา โดยไทยมีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

 รองรับการลงทุน สอดคล้องกับการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊าหรือ Greater Bay Area (จีบีเอ) ส่งผลให้จีนหันหมุดหมายมายังไทยมากขึ้น

ประเทศจีน นอกจากเป็นผู้ลงทุนหลักและก้าวขึ้นมาเป็นนักลงทุนเบอร์ 1 ของไทยในปี 2565 ด้วยมูลค่าการลงทุน 77,381 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 107 จาก 37,217 ล้านบาทในปี 2564 หรือคิดเป็นร้อยละ 17.8 ของมูลค่า FDI ทั้งหมดแล้ว ยังเป็นผู้ลงทุนสูงสุดในอีอีซี ด้วยมูลค่าการลงทุน 34,214 ล้านบาท

หากนับตั้งแต่เริ่มต้นอีอีซี จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2561-2565) จีนได้เข้ามาลงทุนสูงถึง 206,979 ล้านบาท โดยอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 99,436 ล้านบาท เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 34,358 ล้านบาท และพลังงานทดแทน 56,074 ล้านบาท ซึ่งพื้นที่ลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดระยอง มียอดลงทุน 108,942 ล้านบาท รองลงมาเป็นชลบุรี มูลค่าลงทุน 87,526 ล้านบาท และฉะเชิงเทรา มูลค่าลงทุน 10,511 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนการลงทุนของจีนในไทย ดังนี้

อีอีซีผนึกเขตเศรษฐกิจจีบีเอ ซึ่งมีความเจริญทางเศรษฐกิจและนวัตกรรม มีเทคโนโลยีทันสมัย และเป็นจุดบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่สำคัญของจีนและของโลก ซึ่งจีนต้องการให้เป็นพื้นที่เชื่อมโยงการลงทุนกับอีอีซี โดยมีการจับคู่ธุรกิจ ร่วมเซ็นสัญญาตั้งแต่ปีที่ผ่านมาในธุรกิจที่เกี่ยวกับดิจิทัล หุ่นยนต์ ยานยนต์แห่งอนาคต และการแพทย์สมัยใหม่

พื้นที่อีอีซีมีความได้เปรียบทางโลจิสติกส์ เนื่องจากครอบคลุมเส้นทางบกด้วยทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว-ไทย และเชื่อมเส้นทางทะเลระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง-มาบตาพุด-สัตหีบ และอ่าวกวางตุ้ง

ไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีน มีความพร้อมในด้านการจัดหาวัตถุดิบและทรัพยากร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมในกลุ่มโมเดลเศรษฐกิจ BCG อาทิ อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร ซึ่งมีการขยายตัวมากเช่นกัน

 

ทิศทางอุตสาหกรรมใหม่ของไทยสอดคล้องกับนโยบายของจีน ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์อีวี พลังงานสะอาดสุขภาพ อาหารแห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล ซึ่งไทยมีความพร้อมดึงนักลงทุนจีนเข้ามาช่วยสร้างความมั่นคงด้านซัพพลายเชนร่วมกัน โดยบีโอไอเชิญชวนให้บริษัทจีนเข้ามาจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทยโดยให้สิทธิประโยชน์และมาตรการเสริมทั้งด้านภาษีและการอำนวยความสะดวก

ไทย เชื่อมโยงประเทศที่อยู่ระหว่าง 2 มหาสมุทร คือมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นศูนย์กลางอาเซียน และเชื่อมโยงกลุ่มประเทศทั้ง RCEPและอินโด-แปซิฟิก โดยหากลงทุนในไทย สามารถใช้สิทธิตามข้อตกลงการค้าและใช้อีอีซีเป็นฐานส่งออกไปยังประเทศอื่นได้

ไทยสานสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนในหลายมิติ ทั้งการขับเคลื่อน FTA อาเซียน-จีน และ RCEP โดยจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยติดต่อกัน 11 ปีโดยในปี 2565 ไทยส่งออกไปจีน 1.19 ล้านล้านบาท ไทยนำเข้าจากจีน 2.49 ล้านล้านบาท แม้ไทยจะเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าจากการนำเข้า แต่ก็เป็นสินค้าประเภททุน เครื่องจักรไฟฟ้า

การเปิดประเทศของจีนในปี 2566 ถือเป็นการเปิดประตูการค้าการลงทุนของจีนสู่โลกอีกครั้ง ไทยจึงควรใช้โอกาสนี้ดึงดูดการลงทุนจากจีนเข้าสู่อีอีซีอย่างเต็มที่ ในส่วนของไทย คงต้องเร่งรัดโครงการเมกะโปรเจ็กต์ เพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดการลงทุนโดยตรงให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยพึงระมัดระวังที่อาจกระทบการลงทุน ได้แก่ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ กระแสโลกาภิวัตน์ตีกลับ การย้ายฐานจากจีนมายังอาเซียนยังมีต่อเนื่อง แต่นักลงทุนอาจเลือกเวียดนามมากกว่าไทยก็เป็นได้ จากต้นทุนแรงงานต่ำ ประชากรวัยแรงงานมาก และข้อตกลงทางการค้าที่มากกว่า ขณะที่เศรษฐกิจจีนอาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดหลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากภายในและภายนอกประเทศ