‘EEC’ เตรียมเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัย’ อย่างสมบูรณ์
สกพอ. เผยแนวโน้มลักษณะประชากรในพื้นที่อีอีซีเตรียมเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ผลจากอัตราการเกิดน้อยและผู้สูงอายุมากขึ้น ระบุอัตราการพั่งพิงอยู่ที่ 40 ต่อ 100 คน
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี คาดการณ์ว่าแนวโน้มประชากรของ 3 จังหวัดในพื้นที่อีอีซี ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านคน ในปี 2580 คิดเป็นประชากรแฝง46.3%
ขณะที่ปี 2565 อีอีซีมีประชากรอยู่ที่ 3.06 ล้านคน มีประชากรแฝงที่เข้ามาอาศัยและทำงานอีกประมาณ 1.31 ล้านคน โดยเมื่อแบ่งประชากรเป็นแต่ละช่วงวัย พบว่า มีสัดส่วนประชากรวัยทำงาน (อายุ 15-64 ปี) มากที่สุด 71.6% ตามด้วยวัยเด็ก(อายุ 0-14 ปี) 18.1% และวัยสูงอายุ (อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป) 10.3%
โดยเมื่อเปรียบเทียบประชากรปี 2560 และปี 2565 พบว่าประชากรวัยสูงอายุเพิ่มขึ้น 15.4% ส่วนวัยทำงานเพิ่มขึ้น 5.1% ขณะที่วัยเด็กลดลง 3.5%
ดังนั้น ประชากรในพื้นที่อีอีซีจึงมีสัดส่วนเป็นไปตามเกณฑ์ของสังคมสูงวัย รวมทั้งมีอัตราการแจ้งเกิดที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 โดยปี 2565 มีการแจ้งเกิดทารกเพียง 67,838 คน คิดเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำกว่า 10 คนต่อประชากร 1,000 คน ตามภาวะสังคมที่แต่งงานช้าลงและไม่ต้องการมีลูก
ปัจจุบัน อัตราการพึ่งพิงของประชากรวัยเด็กและวัยสูงอายุเท่ากับ 40 คน ต่อประชากร 100 คน ซึ่งหากแนวโน้มของอัตราการพึ่งพิงสูงขึ้นอาจส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่ายและการออมเงินของคนวัยแรงงาน