เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมถอดใจ น้ำนมลดฮวบ ใกล้ปิดอีกหลายฟาร์ม
เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ถอดใจน้ำนมดิบต่อวันลดฮวบจากวันละ 20 กก./ตัว/วัน เหลือแค่ 11-12 กก./ตัว/วัน หลังเกิดวิกฤตโรคลัมปีสกินระบาด แถมราคาไม่ขยับทั้งที่ผลผลิตน้อย สวนทางค่าอาหารพุ่งสูงเท่าตัว ส่งผลให้หลายฟาร์มรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว ต้องเลิกเลี้ยงวัวไปจำนวนมาก
จากวิกฤติปัญหาการขาดแคลนน้ำนมดิบในประเทศ และมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตนมโรงเรียนทั่วประเทศ
เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม นายไสว พิมพ์เสนา อายุ 78 ปี เจ้าของฟาร์มเลี้ยงโคนมพิมพ์เสนา บ้านวังใหม่ ต.วังใหม่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว ซึ่งเป็นครอบครัวที่เลี้ยงโคนมมาตั้งแต่เริ่มต้นจัดตั้งสหกรณ์โคนมฯ รุ่นแรกเมื่อปี 2530 ปัจจุบันมีโคนมอยู่ทั้งหมดเกือบ 100 ตัว และมีวัวที่ให้นมอยู่ในปัจจุบันประมาณ 40 ตัวต่อวัน เปิดใจกับทีมข่าวสำนักข่าวเนชั่นว่า อาชีพเลี้ยงโคนมวันนี้ลำบากมาก เงินเหลือจะไม่พอค่าอาหารด้วยซ้ำ ซื้อฟางทีต้องขายวัว เพราะนมไม่เหมือนเมื่อก่อน
โดยก่อนหน้านี้ที่บ้านได้ไม่ต่ำกว่า 18-20 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน เดี๋ยวนี้เหลือ 11-12 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน ซึ่งการรีดก็พอกันกัน ปัญหาเยอะ ทำให้คนยุบฟาร์มเลิกเลี้ยงไปมาก ไม่มีเงินซื้อฟางให้วัวก็ต้องขาย เพราะเงินค่านมไม่เหลือ
ซึ่งราคาขายนมวัวขณะนี้อยู่ไม่ได้แน่นอน ยังไม่รู้ว่าจะอยู่ได้แค่ไหน ซึ่งช่วงประมาณ 2 ปีที่ผ่านมายังพอได้นมอยู่ แต่หลังจากโรคลัมปีสกินเข้ามาในประเทศไทย หลังจากวัวนมฟื้นแล้ว หายแล้ว ก็ไม่ได้นมเหมือนเดิม ไม่รู้ว่าเป็นที่วัคซีนที่ฉีดให้วัวหรือเปล่า ทำให้เกษตรกรเลิกเลี้ยงกันไปเยอะ
ลุงไสว กล่าวต่อไปว่า นอกจากได้น้ำนมลดลง อาหารสัตว์ยังขึ้นราคา แต่ราคาน้ำนมไม่ได้ขึ้นตาม ก็อยู่กันไม่ได้ ก่อนหน้านี้เคยได้น้ำนมดี ส่งวันละ 700-800 กิโลกรัมต่อวัน เดี๋ยวนี้รีดพอๆ กัน ได้น้ำนมส่งวันละแค่ 400 กิโลกรัมต่อวัน บางวันไม่ถึง 400 กิโลกรัมด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ขึ้นมา
โดยเฉพาะอาหาร จึงเลิกเลี้ยงกันไปมาก เพราะอยู่ไม่ได้ ทำต่อไปก็เป็นหนี้ ขายวัวไปเรื่อยๆ นมยิ่งลดไปอีก ไม่มีเงินใช้ก็ต้องขายวัวออกไป เพื่อซื้อฟางซื้ออาหาร สุดท้ายอยู่ไม่ได้ก็ต้องขายและเลิกเลี้ยงไป ตอนนี้เลิกไปเยอะแล้ว เหลืออยู่เพียงไม่กี่ฟาร์มเท่านั้น
ตอนนี้จะดิ้นรนมากก็ดิ้นไม่ได้ เพราะต้นทุนมันก็สูง ยังไม่รู้ว่าจะเลี้ยงต่อไปได้อีกนานแค่ไหน ถ้าเป็นอย่างนี้ก็คงไม่นาน จากเดิมที่เลี้ยงมาตั้งแต่รุ่นแรกปี 2530-2531 หากจำเป็นก็ต้องเลิกเลี้ยง เพราะค่าฟางปีหนึ่งหลายแสนบาท ส่วนค่าอาหารจากราคา 30 บาท 35 บาท ขึ้นเป็น 40 บาท ปีที่แล้วซื้อถึง 80 บาท ขณะที่ราคานมเพิ่มมาแค่ 1.50 บาท เท่านั้น
ตอนแรกราคานม 17.50 บาท เห็นว่าเพิ่มเป็น 19.00 บาท ตามจริงก็ได้ไม่ถึง 19.00 บาท เพราะหักแล้วเหลือ 18 บาทกว่าๆ เท่านั้น
และมาประสบปัญหาน้ำนมลดลงกันทุกฟาร์ม โรคหายแล้ว แต่นมไม่กลับคืนมาอย่างเก่า วัวนมทุกวันนี้ก็ไม่ได้มีโรคอะไร มีการฉีดวัคซีนครบหมด โดยสั่งซื้อวัคซีนมาจาก จ.ขอนแก่น ซึ่งหลังจากโรคระบาดหายไป ปัญหาน้ำนมลดลงก็มาเกิดขึ้นตามในปัจจุบัน