‘3 เลขาธิการ’ ชี้ตั้งรัฐบาลช้า กระทบจัดทำงบฯ - การลงทุน ฉุดเศรษฐกิจประเทศ

‘3 เลขาธิการ’ ชี้ตั้งรัฐบาลช้า กระทบจัดทำงบฯ - การลงทุน ฉุดเศรษฐกิจประเทศ

3 เลขาธิการ รัฐบาลทั้ง เลขาฯสศช. – เลขาฯ กฤษฎีกา - เลขาฯ ครม.ประสานเสียง ตั้งรัฐบาลช้า ทำประเทศชะงักหลายด้าน ทั้งเรื่องงบประมาณ แต่งตั้ง ขรก. การเบิกจ่ายงบลงทุน การเจรจาระหว่างประเทศ FTA ชะงัก เม็ดเงินลงระบบจำกัด คาด 2 ไตรมาส มีแค่ 1.8 ล้านล้าน จากงบประจำและงบฯผูกพัน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงข้อเสนอของบางพรรคการเมืองที่ให้รัฐบาลปัจจุบันรักษาการยาว 10 เดือน ก่อนที่จะมีการโหวตนายกรัฐมนตรี ว่าการที่รัฐบาลรักษาการยาวนานออกไปจะกระทบกับการบริหารราชการแผ่นดินในหลายด้านโดยเฉพาะเรื่องของการจัดทำงบประมาณ และการทำงบประมาณการลงทุนที่ไม่สามารถทำได้ในส่วนที่เป็นงบลงทุนใหม่

โดยหากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าออกไปกว่า 10 เดือนซึ่งถือว่าเป็นสมมุติฐานที่ยาวนานที่สุดก็จะกระทบกับการจัดทำงบประมาณถึง 3 ปีงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 – 2569 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเพราะปกติการจัดทำงบประมาณจะล่าช้าไปไม่กี่เดือนเท่านั้น 

เม็ดเงิน 2 ไตรมาสลงระบบเศรษฐกิจ 1.8 ล้านล้าน

ทั้งนี้ สศช.ได้ประเมินวงเงินที่จะลงไปในระบบเศรษฐกิจเฉพาะ 2 ไตรมาสหลังจากที่หมดปีงบประมาณ 2566  ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงที่มีเม็ดเงินที่จะลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงที่ใช้งบประมาณไปพลางก่อนประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท โดยเป็นวงเงินจากภาครัฐ 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งมาจากการเบิกจ่ายงบประจำ และงบลงทุนที่มีการผูกพันไว้แล้ว ส่วนอีก 2 แสนล้านบาทเป็นเม็ดเงินที่มาจากการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหากการจัดทำงบประมาณล่าช้าออกไปก็ต้องไปดูว่าจะมีเม็ดเงินจากรัฐวิสาหกิจที่ลงทุนได้เพิ่มหรือไม่ ส่วนเม็ดเงินการลงทุนจากภาครัฐที่เป็นรายการใหม่นั้นไม่สามารถทำได้เพราะต้องมาจากรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม 

นอกจากการจัดทำงบประมาณและการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนที่ล่าช้า อีกส่วนที่จะกระทบก็คือการเจรจาการค้ากับต่างประเทศ (FTA) รวมทั้งความตกลงต่างๆที่มีการเจรจาหารือกับต่างประเทศไว้แล้วต้องการการลงนามในสัญญาที่มีข้อตกลงอย่างเป็นทางการนั้นจะไม่สามารถขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เป็น ครม.รักษาการได้ ซึ่งในส่วนนี้ก็จะกระทบการค้า การลงทุนซึ่งทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจที่ควรจะได้รับด้วย  

ส่วนการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงนั้นก็อาจจะได้รับผลกระทบด้วยเนื่องจากเมื่อ ครม.เห็นชอบในการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงก็ต้องส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาด้วย ซึ่งอาจมีความล่าช้าออกไป  

เมื่อถามว่าในการแต่งตั้งโยกย้ายเมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณนี้มีตำแหน่งปลัดกระทรวงอะไรที่สำคัญๆบ้าง นอกจากตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง และตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงาน นายดนุชากล่าวว่าน่าจะมีเท่านี้  

เลื่อนปฏิทินการทำงานรัฐบาลใหม่

นางณัฐฎ์จารี อนันตศิลป์เลขาธิการ ครม.กล่าวว่าขณะนี้ปฏิทินการทำงานของรัฐบาลใหม่ต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากการตั้งรัฐบาลใหม่ยังไม่เสร็จสิ้น จากเดิม ที่คาดว่าไม่เกินสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนส.ค.จะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งกรณีนี้คือต้องได้นายกรัฐมนตรีใหม่อย่างช้าที่สุดคือวันที่ 27 ก.ค.ซึ่งตอนนี้ดูแล้วจากสมมุติฐานตอนนี้คือการได้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลใหม่จะล่าช้าออกไป และไม่รู้ว่าจะเอาสมมุติฐานอะไรมากำหนดว่าจะได้รัฐบาลใหม่เมื่อไหร่ เนื่องจากมีการเลื่อนโหวตนายกรัฐมนตรีออกไป ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเลื่อนนายกรัฐมนตรีเมื่อไหร่  

ทั้งนี้เมื่อล่าช้าออกไปก็จะส่งผลกระทบต่อการบริหารแผ่นดิน โดยเฉพาะเรื่องของงบประมาณที่จะต้องใช้งบประมาณฯไปพลางก่อน ไม่สามารถที่จะเบิกจ่ายงบประมาณในการลงทุนได้ ทำให้การเบิกจ่ายงบฯลงทุนในโครงการใหม่ยังไม่สามารถทำได้ 

"วิษณุ" ให้นโยบายแก้ปัญหาตั้งข้าราชการล่าช้า 

สำหรับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงได้รับนโยบายจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่าในขณะนี้ให้หน่วยงานราชการที่มีความจำเป็นต้องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงให้เสนอมายัง ครม.ได้แต่ ครม.จะส่งต่อไปยัง กกต.ให้พิจารณาซึ่งคาดว่าในขณะนี้ กกต.อาจพิจารณาเห็นชอบได้เนื่องจากเรื่องของเงื่อนไขเวลาที่ใกล้จะถึงวันสิ้นสุดปีงบประมาณซึ่งบางหน่วยงานราชการต้องมีการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงเพื่อทดแทนตำแหน่งที่จะเกษียณอายุ ซึ่งหากมีความจำเป็น กกต.ก็คงจะอนุมัติ  

 

เลขาฯกฤษฎีกาห่วงกระทบงบลงทุนฯ

ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาและกรรมการกฤษฎีกา  กล่าว่ากรณีที่รัฐบาลรักษาการต่อเนื่องไปแม้ว่าในทางกฎหมายนั้นสามารถทำได้และไม่กระทบกับการทำกฎหมายต่างๆเนื่องจากในขณะนี้กฎหมายที่เป็นพรบ.ไม่มีค้างอยู่ในขั้นการพิจารณาของ ครม.มีแต่เพียงกฎหมายลูก หรือกฎกระทรวงที่ขออนุมัติ แต่เรื่องที่จะมีผลกระทบก็คือ เรื่องการจัดทำพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่ไม่สามารถทำต่อได้ ซี่งจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนภาพรวมของประเทศเท่านั้น และกฎหมายนโยบายใหม่เรื่องเศรษฐกิจซึ่งต้องรอนโยบายรัฐบาลใหม่ เพราะยังไม่รู้ว่านโยบายจะเป็นอย่างไร 

 ส่วนการแต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชการระดับสูงตั้งแต่ระดับปลัดกระทรวงขึ้นไปรัฐบาลรักษาสามารถทำได้ โดยให้หน่วยงานเสนอให้สำนักเลขาคณะรัฐมนตรีเสนอ ครม. เพราะจะสิ้นปีงบประมาณแล้วไม่อย่างนั้นจะไม่มีคนทำงาน  เพราะประเทศต้องเดินต่อไปข้างหน้า ซึ่ง ครม. แต่งตั้งและเสนอขอความเห็นชอบจาก กกต. หาก กกต. เห็นว่าเป็นเรื่องการเมืองมีสิทธิ์ที่จะไม่อนุมัติก็ได้   เช่น กรณีการแต่งตั้งผู้ว่าการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  และ หาก กกต. ไม่อนุมัติก็ต้องรอจนรัฐบาลใหม่เป็นผู้แต่งตั้ง โดยในส่วนของกระทรวงต่างๆหากปลัดกระทรวงเกษียณอายุแล้วยังไม่มีการแต่งตั้งคนใหม่ระหว่างนี้รองปลัดอาวุโสสูงสุดรักษาการไปก่อน ซึ่งในการทำงานต้องทำเฉพาะที่เป็นงานปกติในลักษณะงานประจำ การทำงานในเชิงรุกที่เป็นงานใหม่ก็จะไม่มี