'พลังงาน' ส่งหนังสือถึง 'กกต.' ขอตั้งผู้ว่าฯ กฟผ. คนใหม่ แก้ 'ไฟแพง-หนี้สะสม'

'พลังงาน' ส่งหนังสือถึง 'กกต.' ขอตั้งผู้ว่าฯ กฟผ. คนใหม่ แก้ 'ไฟแพง-หนี้สะสม'

กระทรวงพลังงาน ส่งเอกสารแจงเหตุผลขอความเห็นชอบจาก "กกต." ไฟเขียวแต่งตั้ง "เทพรัตน์ เทพพิทักษ์" ผู้ว่าฯ กฟผ. ท่านใหม่แทน "บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร" ที่จะหมดวาระงาน 21 ส.ค. 2566 นี้ หวั่นรัฐบาลใหม่ลากยาวกระทบการตัดสินใจโดยเฉพาะค่า "เอฟที" งวดสิ้นปี

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากกรณีที่ สำนักงานคณะกรรมการ การเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่เห็นชอบตามที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) รักษาการเสนอแต่งตั้ง นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ. ปฏิบัติงานที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ให้เป็นผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) คนใหม่แทน นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าฯ กฟผ.ที่จะหมดวาระในวันที่ 21 ส.ค. 2566 นี้ โดยกกต. ระบุว่าให้รอรัฐบาลใหม่ผู้มีอำนาจเต็มมาพิจารณา

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้มีการส่งเอกสารและข้อมูลถึงความจำเป็นในการตั้งผู้ว่า กฟผ.คนใหม่ไปยัง กกต.เป็นรอบที่ 2 เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้เร่งพิจารณาในตำแหน่งดังกล่าว เนื่องจากเหลือเวลาไม่ถึงเดือนที่ผู้ว่าฯ กฟผ. คนปัจจุบันจะหมดวาระการดำเนินงาน 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานมีความกังวลในเรื่องของการสานต่อการทำงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งดูจากแนวโน้มการจัดตั้งนรัฐบาลใหม่ที่ยังคงล่าช้า ดังนั้น จึงได้นำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมไปยังกกต. เพื่อให้ช่วยพิจารณาตำแหน่งดังล่าวระหว่างการบริหารงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) ของ ผู้ว่าฯ ปัจจุบันกับท่านใหม่ เพราะหากรัฐบาลใหม่ไม่สามารถจัดตั้งได้ก่อนที่ผู้ว่าฯ กฟผ. ท่านปัจจุบันจะหมดวาระ และหากกินระยะยาวเกินไประดับ 2-3 เดือน จะกระทบกับอำนาจบางอย่างที่รักษาการผู้ว่าฯ กฟผ. จะไม่สามารถอนุมัติได้ 

สำหรับประเด็นหลักที่ได้นำเสนอหลัก ๆ จะเป็นในเรื่องสำคัญที่ต้องให้ผู้ว่าการฯ เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ อาทิ วิกฤติราคาเชื้อเพลิง การบริหารสภาพคล่องจากกรณีที่กฟผ. ได้ร่วมรับภาระค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) แทนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ยังเป็นหนี้กว่า 1 แสนล้านบาท  อีกทั้ง หาก กฟผ. จะยังคงต้องรับภาระหนี้ตรงนี้อยู่ ก็จะกระทบต่อการบริหารหนี้สาธารณะของรัฐบาล เพราะกฟผ. อาจจะต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อมาเสริมสภาพคล่อง โดยรัฐบาลจะต้องเป็นผู้ค้ำประกันให้ เป็นต้น 

"ในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. 2566 สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะจัดประชุมเพื่อพิจารณาค่าเอฟทีงวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 2566 เป็นการล่วงหน้า และอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล และก็ต้องอาศัยอำนาจการตัดสินใจจากผู้ว่าฯ กฟผ. เพราะที่ผ่านมา ต้องเข้าใจว่า กฟผ. แบกรับภาระเยอะ เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น แม้ว่าช่วงนี้จะลดลงแล้วก็ตาม แต่ด้วยหนี้ที่สะสม จึงทำให้สภาพคล่องและกระแสเงินสดกระทบไปด้วย"

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานยังหวังว่า กตต. จะพิจารณาในความจำเป็นของตำแหน่งผู้ว่าฯ กฟผ. ในครั้งนี้ อีกทั้ง ที่ผ่านมาการสรรหาผู้ว่าการกฟผ. ไม่เคยมีปัญหา เนื่องจากกระบวนการสรรหาฯ ผ่านขั้นตอนโดยมีนางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กรรมการกฟผ. เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาฯ และกรรมการสรรหาฯ ส่วนใหญ่ได้ลงคะแนนให้นายเทพรัตน์ 

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาทุกการสรรหาผู้ว่าฯ กฟผ. มีขั้นตอนที่โปร่งใสมาโดยตลอด อีกสิ่งสำคัญคือ จะต้องปฏิบัติตามสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กำหนด ก่อนที่บอร์ดกฟผ.จะพิจารณา ซึ่งต้องผ่านกระบวนการใน 2 ส่วน โดยส่วนแรกเป็นกระบวนการสรรหาฯ โดยคณะกรรมการสรรหาฯ ที่พิจรณาคุณสมบัติผู้ที่มีความเหมาะสม ส่วนที่สอง จะต้องผ่านคุณะอนุกรรมการเจรจาค่าตอบแทน ตามเงื่อนไขของ สคร.