เปิดเหตุผล ทำไม 'กขค.' ห้ามรัฐเพิ่มหุ้น หลัง 'บางจาก' ปิดดีล 'เอสโซ่'
เปิดเหตุผลหลัก ทำไมบอร์ดแข่งขัน ถึงกำหนดเงื่อนไข ห้าม "บางจาก" เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นภาครัฐ ภายหลังควบรวม "เอสโซ่" เป็นเวลา 5 ปี
จากการที่ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา ให้การควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ที่ประกาศเข้าซื้อหุ้นจากบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 55,000 ล้านบาท โดยกำหนดเงื่อนไขในการควบรวมไว้ 6 ข้อ พร้อมให้เวลาบางจาก 60 วันนับจากที่ได้รับทราบผลการพิจารณาของ กขค. ในการอุทธรณ์เงื่อนไขทั้ง 6 ข้อ
นายพรายพล คุ้มทรัพย์ ประธานคณะทำงานศึกษาแนวทางกำหนดเงื่อนไขดีลควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ที่ประกาศเข้าซื้อหุ้นจากบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO กล่าวว่า เงื่อนไข 6 ข้อ ที่กขค. มีมติ ประกอบด้วย
1. ห้ามมิให้บางจากเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของหน่วยงานภาครัฐเป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่รวมธุรกิจแล้วเสร็จ
2. ให้บางจากจัดซื้อน้ำมันดิบจากคู่ค้ารายใดรายหนึ่งไม่เกินกว่าร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่รวมธุรกิจแล้วเสร็จ เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันดิบจากรายใดรายหนึ่งมากเกินไป
3. ให้บางจากคงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงระหว่างลูกค้าในตลาดค้าส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ได้ทำไว้กับเอสโซ่จนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาตามเงื่อนไขในสัญญาเดิม
4. ให้บางจากคงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงระหว่างผู้ประกอบธุรกิจสถานีบริการภายนอกของแบรนด์ ESSO ที่ได้ทำไว้กับเอสโซ่จนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาตามเงื่อนไขในสัญญาเดิม
5. ให้บางจากจัดทำแผนการพัฒนานวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและธุรกิจพลังงานสีเขียว โดยต้องดำเนินโครงการไม่น้อยกว่าในปีที่ผ่านมาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่รวมธุรกิจแล้วเสร็จ
6. ให้บางจากจัดทำแผนการส่งผ่านประโยชน์ที่ได้รับจากการรวมธุรกิจไปสู่ผู้บริโภคและสังคม โดยต้องดำเนินโครงการไม่น้อยกว่าในปีที่ผ่านมาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่รวมธุรกิจแล้วเสร็จ เพื่อเป็นหลักประกันการส่งผ่านประโยชน์ไปยังผู้บริโภคและสังคม ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
นายพรายพล กล่าวว่า ในการกำหนดเงื่อนไขเพื่ออนุมัติให้บางจากซื้อกิจการเอสโซ่ ถือว่าพิจารณาตามกฎหมาย โดยจะต้องดูว่าซื้อกิจการเมื่อควบรวมธุรกิจกันแล้ว จะมีผลเสียต่อภาพรวมของเศรษฐกิจหรือไม่ หรือมีความจำเป็นทางด้านธุรกิจมากน้อยแค่ไหน
นอกจากนี้ ยังจะก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้บริโภคหรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ ตามหลักทางกฎหมายนั้น คณะทำงานพิจารณาตั้งแต่โรงกลั่น ตลาดขายส่ง และตลาดขายปลีก โดยให้ความสำคัญกับสถานีบริการน้ำมันเป็นหลักเพราะกระทบกับผู้บริโภคมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันว่า อุตสาหกรรมน้ำมันเป็นอุตสาหกรรมที่มีผู้เล่นเพียงไม่กี่ราย เมื่อบางจากซื้อเอสโซ่แล้วจะทำให้บางจากมีอำนาจเหนือตลาด และมีอำนาจในการผูกขาดธุรกิจน้ำมันมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากมองในการดำเนินธุรกิจน้ำมันของบางจากเดิมก็ถือว่าเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่สูสีกับอีก 2 ผู้ให้บริการ
นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญในการเพิ่มเงื่อนไขในการห้ามมิให้บางจากเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของหน่วยงานภาครัฐเป็นระยะเวลา 5 ปี นั้น เหตุผลหลัก ๆ คือ ไม่อยากให้ภาครัฐมีสัดส่วนการถือหุ้นมากเกินไป เพราะรัฐเอง ก็อาจจะไปลดการแข่งขันทางธุรกิจแทนที่จะเพิ่มการแข่งขันโดยไม่ได้ตั้งใจ
อีกทั้ง การเข้าไปแทรกแซงตลาดมากเกินไป ทั้งในฐานะผู้ถือหุ้น และในฐานะผู้กำกับอุตสาหกรรมด้านพลังงาน เมื่อรวมสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่มาจากภาครัฐทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงานประกันสังคม และกองทุนรวมวายุภักษ์ แม้ว่าสัดส่วนจะกระจัดกระจาย และรวมกันแล้วแม้จะไม่เกิน 50% แต่ถือว่ามีอำนาจพอสมควร
ทั้งนี้ ปัจจุบันบางจากฯ มีหน่วยงานรัฐถือหุ้นประกอบด้วย
สำนักงานประกันสังคม ถือหุ้นสัดส่วน 14.41%
กระทรวงการคลัง ถือหุ้นสัดส่วน 4.76%
รวมทั้งมีกองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 9.92% และกองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 9.92%