ทอท.ปรับทัพผู้บริหาร 68 ตำแหน่ง สั่งย้าย ผอ.ดอนเมือง เซ่นเหตุบันไดเลื่อน
ทอท.ปรับทัพผู้บริหาร แต่งตั้ง - โยกย้ายล็อตใหญ่รวม 68 ตำแหน่ง เด้ง “การันต์ ธนกุลจีรพัฒน์” ผอ.สนามบินดอนเมืองเข้ากรุ เซ่นเหตุทางเลื่อนดูดขาผู้โดยสาร พร้อมสรุปผลสอบทางเลื่อน พบมีปัญหาที่แผ่นพื้นหลุดออกจากโครงยึดทำให้เกิดช่องว่าง ส่งผลให้ผู้โดยสารหล่นบาดเจ็บสาหัส
รายงานข่าวจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) วันนี้ (26 ก.ค.) มีคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายพนักงาน ทอท.ระดับ 10-11 และระดับ 9 รวมจำนวน 68 ตำแหน่ง โดยทยอยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้ และ 1 ต.ค.2566 เป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ เพื่อให้การบริหารงานของ ทอท. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
สำหรับรายละเอียดของการแต่งตั้งโยกย้าย พบว่ามีผู้บริหารในตำแหน่งสำคัญ โดยเฉพาะตำแหน่ง นายการันต์ ธนกุลจีรพัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง ที่ถูกโยกย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา 11 ทอท.ภายหลังมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางเลื่อนดูดขาผู้โดยสาร โดยจะมีการแต่งตั้ง นายวิจิตต์ แก้วไทรเทียม ตำแหน่ง ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ระดับ 11) มาดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมืองแทน
ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่ผู้โดยสารประสบอุบัติเหตุเท้าติดทางเลื่อน บริเวณทางเดิน South Corridor ระหว่าง Pier 4-5 ของอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ อาคาร 2 ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) เมื่อเวลาประมาณ 08.21 น.ของวันที่ 29 มิ.ย. 2566 ทอท.ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้ข้อสรุปสาเหตุจากพยานหลักฐานที่ปรากฏข้อเท็จจริง คือ ทางเลื่อนที่เกิดเหตุมีปัญหาที่แผ่นพื้นหลุดออกจากโครงยึดทำให้เกิดช่องว่าง ส่งผลให้ผู้โดยสารหล่นลงไปได้รับบาดเจ็บสาหัส
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบและได้ข้อสรุปสาเหตุข้อเท็จจริง คณะกรรมการฯ ได้เสนอแนวทางเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้อุปกรณ์ทางเลื่อนของท่าอากาศยานดอนเมือง ได้แก่ การฟื้นฟูความมั่นใจในการใช้อุปกรณ์ โดยการตรวจสอบแผ่นทางเลื่อน โครงสร้างของแผ่นทางเลื่อน ทุกอุปกรณ์ โดยการจ้างหน่วยงานหรือบุคคลที่สาม (Third Party) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านลิฟต์ บันไดเลื่อน และทางเลื่อนมาดำเนินการตรวจสอบและปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยตามมาตรฐาน EN115-2 ใน version ล่าสุด
โดยการติดตั้งตัวตรวจจับกรณีแผ่นทางเลื่อนหายไป การตรวจสอบบำรุงรักษาอุปกรณ์ทางเลื่อน เช่น การติดตั้งกล้อง CCTV ประจำทางเลื่อน รวมถึงจัดให้มีการตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอก (External Audit) ของระบบการบำรุงรักษาของอุปกรณ์เครื่องกลของท่าอากาศยาน เพื่อให้ทราบข้อบกพร่องของการบำรุงรักษาของท่าอากาศยาน ตลอดจนการพัฒนาความรู้และความสามารถของบุคคลากรและการปรับปรุงคู่มือและขั้นตอนการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure: SOP) อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย