‘100 CEO’ จี้เร่งตั้งรัฐบาล แก้เศรษฐกิจ ยก 'เพื่อไทย' แกนนำ 'เศรษฐา' นั่งนายกฯ
100 ซีอีโอจี้เร่งตั้งรัฐบาล 89% ระบุ รัฐบาลใหม่ต้องรีบแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หนี้ ระบุการเมืองยืดเยื้อกระทบเศรษฐกิจมากถึงมากที่สุด ฉุดเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ ไร้ความต่อเนื่องนโยบาย ยก “เพื่อไทย” แกนนำ “เศรษฐา” นั่งนายกฯ ซีอีโอ เกินครึ่ง ‘ค้าน’ ดึงนายกฯ คนนอกนั่งนายกฯ
Key Points :
- CEO Survey กรุงเทพธุรกิจ สำรวจ100 ซีอีโอท่ามกลางการเมืองร้อน
- ซีอีโอ จี้เร่งตั้งรัฐบาลให้เร็ว 89% ระบุรัฐบาลใหม่ต้องรีบแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-หนี้ หวั่นเศรษฐกิจพัง
- โพลยก “เพื่อไทย” แกนนำตั้งรัฐบาล “เศรษฐา” นั่งนายกรัฐมนตรี
“กรุงเทพธุรกิจ” สำรวจความคิดเห็น "100 ซีอีโอ" องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หลากหลายกลุ่ม เช่น ภาคการผลิต เกษตร พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ส่งออก การเงิน ค้าปลีก ไอทีดิจิทัล ภาคบริการ เอสเอ็มอี สตาร์ตอัปฯ ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองยืดเยื้อ ทางออกของประเทศควรเป็นอย่างไรเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจบอบช้ำไปมากกว่านี้
โดยสำรวจความเห็นนักธุรกิจ ซีอีโอ ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างระหว่างวันอังคารที่ 25-30 ก.ค.2566 ผ่านแบบสำรวจออนไลน์
ยก'เพื่อไทย’ นำ ‘เศรษฐา’นายกฯ -‘จี้แก้ศก.ด่วน
ผลสำรวจ ซีอีโอ พบว่า อยากให้ตั้งรัฐบาลโดยเร็ว โดยซีอีโอ 60.2 % อยากให้ “พรรคเพื่อไทย” เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล รองลงมา คือ พรรคก้าวไกล 25.5% ขณะที่ ซีอีโอเกินครึ่ง 66.3% อยากให้ “นายเศรษฐา ทวีสิน” นั่งนายกรัฐมนตรี รองลงมาเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล 9.5% และ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร 8.4%
ทั้งนี้ ซีอีโอ ต้องการให้จัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว และหากได้รัฐบาลใหม่ “นโยบาย" ที่ต้องทำทันที ซีอีโอเห็นตรงกันเกือบ 90% คือ แก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ รองลงมา 59% ปรับปรุงกฎหมายด้านเศรษฐกิจให้ทันสมัย รองลงมา 52% บอกว่าควรดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ขณะที่ 42% อยากให้รัฐบาลใหม่สนับสนุนซอฟต์เพาเวอร์ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูง พัฒนาท่าเรือน้ำลึก รวมถึงต้องเร่งแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ สนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมทั้งรับมือปมภูมิรัฐศาสตร์
อย่างไรก็ตาม มีซีอีโอส่วนหนึ่ง เห็นว่า รัฐบาลใหม่ควรมีแนวทางในการสนับสนุนเอสเอ็มอี สตาร์ตอัป และหันมาให้ความสำคัญในเรื่องของความยั่งยืน (Sustainability) ให้ความสำคัญเรื่องการประกันรายได้เกษตรกร สร้างให้ประเทศไทย กลายเป็นฮับ Health & Wellness ของโลก
ขณะที่ บางส่วน มองว่า ภาครัฐควรปรับปรุงขั้นตอนการทำงานให้สอดคล้องกกับการทำงานของภาคเอกชน และหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น มี ซีอีโอ ราว 30% ระบุว่ารัฐบาลใหม่ควร “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” ด้วย
“ยืดเยื้อ”กระทบศก.หนัก-จี้รัฐบาลเร่งแก้
การสำรวจครั้งนี้ ซีอีโอ ส่วนใหญ่ มองว่า หากการเมืองลากยาว ไม่ชัดเจนจะกระทบเศรษฐกิจมากถึงมากที่สุด โดยซีอีโอ 41% มองว่า หากสถานการณ์การเมืองยืดเยื้อจะกระทบเศรษฐกิจ "มาก" ขณะที่ 38% มองว่า จะกระทบเศรษฐกิจ "มากที่สุด" โดยส่วนใหญ่ มองว่า ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศลดลง และประเทศจะไร้ความต่อเนื่องการขับเคลื่อนโยบายเศรษฐกิจ รองลงมา จะกระทบต่อการจัดทำงบประมาณปี 2567 และการลงทุนเมกะโปรเจคชะงัก
อย่างไรก็ตาม ซีอีโอ ธุรกิจยังมองถึงการรับมือสถานการณ์ที่ยืดเยื้อเอาไว้ด้วย โดยส่วนใหญ่จะ wait & see รองลงมา คือ ชะลอการลงทุน ขณะที่ ซีอีโอบางส่วน ระบุว่า สถานการณ์แบบนี้ควรเก็บเงินสดเอาไว้ รวมถึงอาจต้องมีการวางแผนงบประมาณ หากรัฐบาลจัดตั้งได้ล่าช้า
หนุนแก้ “หนี้ครัวเรือน-ดึงเม็ดเงินลงทุนตปท.”
สำหรับ “นโยบายเฉพาะด้านเศรษฐกิจ" ที่รัฐบาลใหม่ต้องให้ความสำคัญ และทำอย่างเร่งด่วน ซีอีโอ 64% ให้แก้ปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน และหนี้เสีย รองลงมา 60% มีนโยบายดึงการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่ม ขณะที่ 58% แก้ปัญหาความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และ 54% มองว่า ให้เร่งนโยบายการลงทุนภาคเอกชนในประเทศ
ขณะที่มากกว่า 31% บอกให้เปิดตลาดการค้าต่างประเทศใหม่ๆ พร้อมรับมือความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ และเร่งนโยบายเรื่อง Sustainabilty ให้เป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ความคาดหวังตัวเลขทางเศรษฐกิจ ซีอีโอ เกินครั้งอยากเห็นตัวเลข จีดีพีอยู่ในระดับ 2-3%
อยากเห็นความชัดเจนตั้งรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม มีความเห็นเพิ่มเติม ของซีอีโอ ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะรัฐบาลใหม่ ย้ำอยากให้ ตั้งรัฐบาลให้ได้เร็ว อย่ามัวแต่เล่นการเมือง อยากเห็นความชัดเจน และรัฐบาลใหม่ต้องเดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เน้นนโยบายเศรษฐกิจที่จับต้องได้ มีความโปร่งใส ลดการคอรัปชั่น นึกถึงประเทศชาติก่อนพรรคพวก
ที่สำคัญ ต้องบูรณาการการทำงานของหน่วยงานราชการ ให้สอดคล้องกับภาคเอกชนที่ต้องการคำตอบที่รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ ทั้งแนะว่า รัฐบาลใหม่ควร ทบทวนโอกาสทางเศรษฐกิจของไทย ปลดล็อกข้อจำกัดเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศโดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์
ขณะเดียวกัน อยากให้รัฐบาลใหม่ทำงานทันที เร่งอนุมัติโครงการการลงทุนต่างๆ ที่รออยู่ รวมทั้งทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับอียูและประเทศอื่นๆ ให้เสร็จโดยเร็ว และรัฐบาลใหม่ ควรจะตั้งทีมเศรษฐกิจ โดยดึงคนที่มีความรู้ ความสามารถจริงๆ เข้ามาแก้ปัญหา
นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลใหม่ ใช้กฎหมายเคร่งครัด ปรับเปลี่ยนการเก็บภาษีบริษัท และบุคคลธรรมดา ขยายฐานการเก็บภาษีให้กว้างขึ้น แก้กฎหมายองค์กรอิสระ ที่ไม่เป็นประโยชน์และขัดแย้งกฏหมายเดิม หันส่งเสริมเอสเอ็มอี ปรับปรุงกฎหมายอุดมศึกษา เข้มงวดกำกับงบประมาณของมหาวิทยาลัย และองค์กรอิสระที่ตรวจสอบไม่ได้
ทั้งอยากให้รัฐบาลใหม่ สานต่อนโยบายที่ดีโดยปราศจากอคติ เข้าช่วยเหลือผู้ประกอบรายย่อยและสตาร์ทอัปในเรื่องกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ เพื่อให้รายเล็กกว่าไม่เสียเปรียบภายใต้กฎเกณฑ์กติกาเดียวกัน ขณะที่มีต้นทุนที่ไม่เสียเปรียบรายที่ใหญ่กว่ามากจนเกินไป
ซีอีโอค้านคนนอก นั่งนายกฯ
อย่างไรก็ตาม การสำรวจครั้งนี้ ยังได้ถามความเห็นว่า 8 พรรค (312 เสียง) ควรยืนหยัด ตั้งรัฐบาล หรือไม่ โดยซีอีโอ 51.5% อยากให้ 8 พรรคเดิมร่วมจัดตั้งรัฐบาล และอีก 48.5% บอกว่า 8 พรรคการเมือง “ไม่ควร” ยืดหยัดตั้งรัฐบาล
ขณะที่ เกือบ 70% บอกว่า นายกรัฐมนตรีไม่ควรมาจากคนนอก ขณะที่ซีอีโอ 31% เห็นด้วยว่า ควรหานายกฯ คนนอก หากการเมืองติดทางตัน หาทางออกไม่ได้ นอกจากนี้ ซีอีโอเกิน 80% ยัง “ไม่เห็นด้วย”ที่จะรออีก 10 เดือน เพื่อรอให้สมาชิกวุฒิสภาหมดอายุ แล้วค่อยเลือกนายกรัฐมนตรี