เสาเข็ม 'เศรษฐกิจ' ของเศรษฐกิจไทย ตอนที่ 1
บทความโดย ดร.ลัษมณ อรรถาพิช ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวถึงอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ล่าสุดปี 2566 ดีขึ้นมาอยู่ที่ 30 โดยในตอนที่ 1 ระบุถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ซึ่งไทยมีการใช้พลังงานที่เข้มข้นเมื่อเทียบกับผลของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
จากประกาศผลการจัดอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของเขตเศรษฐกิจโลก (Global Competitiveness) ประจำปี 2566 โดย IMD ที่เพิ่งจะออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ ในภาพรวมประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 30 ดีขึ้น 3 อันดับจากปีที่แล้ว แต่ช้าก่อนอย่าเพิ่งแปลกใจกัน ถ้าย้อนอดีตกลับไปดู ประเทศไทยนั้นเคยอยู่อันดับที่ 25 เมื่อปี 2562
อย่างไรก็ดี เราอาจจะพอใจชื้นขึ้นได้บ้างว่าสำหรับ IMD Ranking ของปีใด จะสะท้อนภาพของปีนั้น มิได้บ่งบอกอนาคต กล่าวคืออันดับที่จัดในแต่ละปี บ่งบอกสถานะเฉพาะของปีนั้นๆ (หรือที่จริงคือปีล่าสุดที่ผ่านมา) ไม่ได้บ่งบอกถึงขีดความสามารถในอนาคต ดังนั้น หากในปีถัดไปประเทศมีนโยบายใหม่ๆ ที่เหมาะสม และมีการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านต่างๆ ลำดับขีดความสามารถทางการแข่งขันก็จะดีขึ้นได้
สิ่งที่น่าสนใจ อยู่ที่ไส้ในหรือปัจจัยย่อยตัวชี้วัดขีดความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่ง IMD แบ่งออกเป็น 4 หมวดใหญ่ ได้แก่
1.Economic Performance
2.Government Efficiency
3.Business Efficiency
4. Infrastructure
ผู้เขียนมองว่าหมวด Infrastructure คือเสาเข็มสำคัญของเศรษฐกิจไทย พิจารณาดูไส้ในของหมวดนี้พบว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ด้านสาธารณูปโภค และด้านการสื่อสารของประเทศไทยเราอยู่ในอันดับที่ดี แต่โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม และด้านการศึกษา อยู่ในลำดับที่ต่ำมาก อันที่จริงแม้ IMD ไม่ทำข้อมูลจัดอันดับ หลายท่านก็คงจะสรุปเองได้
ผู้เขียนเองก็เคยเขียนในบทความที่ผ่านมาแล้วว่าเสาเข็มด้านเศรษฐกิจทั้ง 3 เสานี้ จำเป็นอย่างมากต่อการนำพาเศรษฐกิจไทยไปต่อแบบยาวๆ ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องลงทุนและลงแรง รวมถึงปฏิรูป 3 เสาเข็มนี้อีกมาก
สำหรับตอนที่ 1 นี้ จะขอชวนคุยเกี่ยวกับเสาเข็มด้านพลังงานก่อน ในรายงานของ IMD พบว่าประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่ดี แต่ความเข้มข้นของการใช้พลังงานมีมากเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับผลของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Energy Intensity)
นอกจากนี้ ในการเดินหน้าสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Nationally Determined Contribution: NCD) จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของพลังงานให้มีสัดส่วนของพลังงานสะอาดให้สูงขึ้น ไม่เพียงจะได้ผลที่ดีขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากต่อการดึงดูดการลงทุน และการส่งออกของไทยด้วย
การประเมินโดยใช้เครื่องมือ Climate Action Tracker เพื่อประเมินมาตรการและการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของโลกและประเทศไทย พบว่าเป้าหมายที่ประเทศไทยแสดงเจตจำนงไว้นั้น เมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศแล้ว ยังห่างไกลกับการที่จะช่วยให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตาม Paris Agreement
ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มรั้งท้าย โดยมีสิงคโปร์ และเวียดนาม อยู่ในกลุ่มเดียวกันนี้ด้วย แต่ข้อแตกต่างอาจอยู่ที่ ทั้งสิงคโปร์ และเวียดนาม กำลังเดินหน้าอย่างแข็งขันในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เพื่อจะสามารถขยับ NCD ขึ้นต่อไป คำถามคือประเทศไทยจะขยับเกมด้วยหรือไม่อย่างไร
ความพยายามในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานให้เร็วขึ้นของประเทศอย่างสิงคโปร์ เวียดนาม และจีนนั้น มีแรงผลักดันที่สำคัญประการหนึ่งมาจากเหตุผลด้านการค้าและการลงทุน กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วกำลังเดินเครื่องมาตรการทางการค้าการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยคาร์บอน แรงกดดันนี้ได้แพร่ไปยังทุกประเทศที่เป็นคู่ค้า ทำให้เสาเข็มด้านพลังงาน กลายเป็นเสาเข็มที่มีความสำคัญอย่างมากต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ความท้าทายต่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่พบในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย อาทิ
1.ต้นทุนที่สูงขึ้นจากการปรับเปลี่ยนไปสู่พลังงานสะอาด ซึ่งตามโครงสร้างการคิดค่าไฟฟ้า ต้นทุนดังกล่าวจะถูกส่งผ่านไปยังผู้บริโภคในรูปของค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น
2.ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบโครงข่ายไฟฟ้า (power grid) ทำให้ประเทศที่พึ่งพาถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ยังไม่สามารถเพิ่มปริมาณพลังงานทดแทนได้แบบก้าวกระโดด
3.ประเทศยังมีขีดความสามารถจำกัดในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ๆ การบริหารจัดการพลังงาน และการกักเก็บพลังงาน
4.งบประมาณ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศไทย ภายใต้ความท้าทายเหล่านี้ มี ‘โอกาส’ แฝงอยู่ ภาคเอกชนไทยมีการรับรู้และมีศักยภาพในการปรับตัวสูง ตลอดจนมีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านพลังงานทดแทนค่อนข้างมาก โดยภาครัฐสามารถใช้ศักยภาพนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานได้
แต่สิ่งที่สำคัญคือนโยบายของภาครัฐต้องชัดเจนและโปร่งใส การคำนวนต้นทุนต้องเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน ไม่ผลักภาระจากภาคส่วนหนึ่งไปยังอีกภาคส่วนหนึ่ง เพราะขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศขึ้นอยู่กับทั้ง energy intensity และ energy cost ของทั้งภาคอุตสาหกรรมและการบริโภคภาคครัวเรือนในประเทศ จากข้อมูลที่แสดงถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ยังไม่ดีนัก
ดังนั้น ‘โอกาส’ ที่ประเทศไทยจะสามารถบริหารประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้สมดุลยังมีอีกมากในภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ภาคบริการสาธารณะ และภาคครัวเรือน ซึ่งจะนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน รวมถึงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต หากมีความร่วมมือและการบริหารที่ดี จะเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยในมุมของ Carbon Trading ต่อไปได้
สุดท้ายสำหรับตอนที่ 1 นี้ ขอฝากไว้ว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ในการขับเคลื่อนให้เสาเข็มด้านพลังงานให้เกิดความเข้มแข็งเห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานะของความเป็นโครงสร้างพื้นฐาน จะต้องเป็นเสาเข็มที่ไม่บิดเบี้ยว เพื่อเป็นฐานรากที่มั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมส่งความยั่งยืนต่อไปยังรุ่นลูกหลาน