'โลก' ตื่นรับมือความมั่นคงอาหาร สศก.ชี้ไทยมีแผนรับมือวิกฤติ
ทั่วโลกเกาะติดสถานการณ์วิกฤติอาหาร หลังราคายังสูงทั่วโลก ผลพวงจากสงครามของรัสเซียในยูเครนและอากาศแปรปรวน ล่าสุดอินเดียห้ามส่งออกข้าว ซ้ำเติมความมั่นคงอาหาร สศก.คาดผลผลิตเกษตรบางรายการลดลง เผยมีแผนรับมือวิกฤติอาหาร “ทีดีอาร์ไอ” ห่วงผลกระทบปีหน้ามากขึ้น
Key Points
- อินเดียประกาศห้ามส่งออกข้าวทำให้หลายประเทศมีความกังวลต่อความมั่นคงทางอาหารเพิ่มมากขึ้น
- IMF กังวลต่อความมั่นคงทางอาหารจึงมีข้อเสนอให้หลายชาติทบทวนนโยบายห้ามการส่งออกอาหาร
- สศก.มั่นใจว่าไทยรับมือกับปัญหาความมั่นคงทางอาหารได้ และมีแผนรับมือปัญหาดังกล่าวทั้งระบบ
- TDRI ประเมินว่าเอลนีโญ่จะทำให้ปี 2567 ไทยมีความเสี่ยงภาวะราคาอาหารสูงขึ้นเพราะผลผลิตลดลง
ความกังวลต่อสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารมีมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาโลกได้รับผลกระทบจากราคาธัญพืชสูงขึ้นจากสถานการณ์สงคราม ในขณะที่ปัจจุบันภาวะเอลนีโญกำลังส่งผลต่อผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง
ธนาคารโลกรายงานวันที่ 31 ก.ค.ว่า เงินเฟ้อราคาอาหารยังสูงทั่วโลก โดยข้อมูลเดือน ก.พ.-พ.ค.2566 ชี้ว่าเงินเฟ้อสูงในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางส่วนใหญ่ กล่าวคือในบรรดาประเทศที่เงินเฟ้อสูงกว่า 5% เป็นประเทศรายได้ต่ำ 63.2%, ประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ 79.5%, ประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง 67% หลายประเทศเงินเฟ้ออยู่ในระดับเลขสองหลัก
ไม่เพียงเท่านั้น 78.9% ของประเทศรายได้สูงกำลังเผชิญเงินเฟ้อราคาอาหารสูง ประเทศที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกา อเมริกาเหนือ ละตินอเมริกา เอเชียใต้ ยุโรป และเอเชียกลาง
ในความเป็นจริงเงินเฟ้อราคาอาหารสูงเกินเงินเฟ้อทุกตัวใน 80.1% จาก 166 ประเทศที่เวิลด์แบงก์มีข้อมูล โดยเมื่อกลางเดือน ก.ค.ดัชนีราคาสินค้าเกษตร ส่งออกและธัญพืชปิดสูงขึ้น 6%, 4% และ 10% ตามลำดับ
ราคาข้าวโพดและข้าวสาลีเพิ่มขึ้น ปิดบวก 12% และ 14% ตามลำดับ หลังลดลงช่วงครึ่งแรกของเดือน ก.ค.ส่งผลดัชนีราคาธัญพืชเพิ่มสูง ขณะที่ราคาข้าวยังคงทรงตัว หากเทียบเป็นรายปีราคาข้าวโพดและข้าวสาลีลดลง 15% และ 17% ตามลำดับ เมื่อเทียบราคาเดือน ม.ค.2564 ราคาข้าวโพดเพิ่มขึ้น 8% ราคาข้าวสาลีเพิ่มขึ้น 11% และราคาข้าวสูงขึ้น 3%
วันที่ 17 ก.ค.2566 รัสเซียประกาศยุติร่วมข้อตกลงส่งออกธัญพืชจากยูเครนและรัสเซียผ่านทะเลดำ ที่องค์การสหประชาชาติและตุรกีเป็นตัวกลางเจรจา เพราะเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับผลผลิตของรัสเซียไม่ได้รับการปฏิบัติ โดยมีการบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2565 เพื่อให้การส่งออกธัญพืชจากยูเครนได้ปลอดภัยและป้องกันวิกฤติอาหารทั่วโลก ซึ่งได้ขยายเวลาข้อตกลงมาหลายครั้งก่อนจะหมดอายุวันที่ 17 ก.ค.
วันที่ 19 ก.ค.2566 รัฐบาลอินเดียแก้ไขนโยบายส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่พันธุ์บาสมาตี จากที่เคยส่งออกได้ไม่ต้องเสียภาษี 20% เป็นห้ามส่งออกทันที เพื่อให้มีข้าวพอบริโภคในประเทศ แม้จะช่วยลดราคาข้าวในอินเดียเพราะเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เกือบ 40% ของตลาดโลก
อินเดียส่งออกข้าวกว่า 40% ของโลก ในปี 2565 ทั่วโลกส่งออกข้าว 55.4 ล้านตันเป็นของอินเดีย 22.2 ล้านตันสูงเป็นประวัติการณ์ มากกว่าการส่งออกของ 4 ประเทศรองลงมารวมกัน ได้แก่ ไทย เวียดนาม ปากีสถาน และสหรัฐ โดยอินเดียส่งออกข้าว 140 ประเทศ ผู้ซื้อข้าวที่ไม่ใช่สายพันธุ์บาสมาตีรายใหญ่ ได้แก่ เบนิน บังกลาเทศ แองโกลา คาเมรูน จิบูตี กินี ไอโวรีโคสต์ เคนยาและเนปาล ขณะที่อิหร่าน อิรักและซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ซื้อข้าวบาสมาตีพรีเมียมรายใหญ่
IMF เตือนอินเดียห้ามส่งออกข้าวซ้ำเติมโลก
เว็บไซต์ดิอินดิเพนเดนท์รายงาน ไม่กี่วันก่อนหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่าการที่อินเดียลดการส่งออกข้าว “ยิ่งทำให้ราคาอาหารโลกผันผวน” รัฐบาลนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ควรพิจารณานโยบายนี้ใหม่
ทั้งนี้ รัฐบาลโมดีต้องการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าในประเทศ ก่อนการเลือกตั้งสำคัญในปีนี้ ซึ่งอินเดียเผชิญราคามะเขือเทศสูงจนเกิดความขาดแคลนต้องปล้นกัน และผู้บริโภคเดินทางไปซื้อมะเขือเทศถึงเนปาล
นายปิแอร์-โอลิวิเยร์ กูรินชาส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ไอเอ็มเอฟ แสดงความกังวลว่า การเคลื่อนไหวของอินเดียอาจกระทบแบบเดียวกันต่ออุปทานอาหารโลก หลังข้อตกลงส่งออกธัญพืชทะเลดำถูกระงับไปหนุนราคาในต่างประเทศพุ่งขึ้น
“ในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน การออกข้อจำกัดเช่นนี้มีแต่จะซ้ำเติมให้ราคาอาหารในส่วนอื่นๆ ของโลกผันผวนยิ่งขึ้น และอาจนำไปสู่มาตรการตอบโต้ด้วย เราขอเรียกร้องให้ยกเลิกควบคุมการส่งออกแบบนี้ เพราะอาจส่งผลเสียไปทั้งโลก” นายกูลินชาสกล่าว
นอกจากนี้ราคาธัญพืชโลกที่สูงสูดในรอบ 11 ปีไปแล้ว อาจเพิ่มขึ้น 10-15% ในปีนี้ ความเคลื่อนไหวของอินเดียอาจทำให้ตัวเลขสูงขึ้นอีก
"ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาราคาข้าวทั่วโลกสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี หลังรัฐบาลอินเดียประกาศเพิ่มราคาอุดหนุนข้าวขั้นต่ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ปีก่อนอินเดียห้ามส่งออกข้าวสาลีสร้างความเดือดร้อนทั่วโลก"
ความกลัวขาดแคลนยังทำให้เกิดการกักตุนด้วย ข้าวเป็นอาหารหลักของประชากรราวครึ่งโลก เฉพาะเอเชียทวีปเดียวบริโภคข้าวราว 90% ของโลก ประเทศนำเข้าข้าวอย่างอินโดนีเซีย จีน และฟิลิปปินส์รุกกักตุนข้าวอย่างมากในปีนี้
สศก.เผยไทยมีแผนรับมือวิกฤติความมั่นคงอาหาร
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่แนวโน้มรุนแรง ส่งผลให้ความวิตกกังวลความมั่นคงด้านอาหารในหลายประเทศมากขึ้น
โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าจะมีปัญหาราคาอาหารแพงขึ้น ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยมีประชากรโลกกว่า 200 ล้านคน ที่กำลังประสบปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหาร
สำหรับไทยเป็นผู้ผลิตอาหารและมีเป้าหมายเป็นครัวของโลกจึงพร้อมรับมือวิกฤติความมั่นคงอาหาร โดยมั่นใจว่ามีผลผลิตเพียงพอต่อประชากรในประเทศ ทั้งกลุ่มสินค้าคาร์โบไฮเดรต ไขมันและโปรตีน เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สุกร ไก่เนื้อและไก่ไข่
นอกจากนี้วิกฤติดังกล่าวที่เกิดขึ้น ไทยวางแผนเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงอาหารทั้งระบบ ผ่านกลไกคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับด้านนโยบายอาหารของประเทศ โดยดำเนินงานผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนทุกมิติ
"ขณะเดียวกันยังใช้วิกฤตการณ์เป็นโอกาสสำคัญของไทยในการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปประเทศต่างๆ ได้มากขึ้น”
นอกจากนี้ สศก.ได้สรุปสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรอาหารในปี 2566 พบว่าผลผลิตบางรายการปรับตัวลดลง อาทิ
- ข้าวนาปี ในปีการผลิต 2566/67 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.37 ล้านไร่ ลดลง 0.53% จากปีที่แล้ว เพราะฝนมาช้าและปริมาณฝนน้อยกว่าปี 2565 ส่งผลให้เกษตรกรบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่างและบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีรอบเดียว โดยคาดว่าได้ผลผลิตรวม 25.7 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลง 3.27% ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 432 กิโลกรัม ลดลง 2.7% เพราะปริมาณฝนน้อย จากผลกระทบเอลนีโญในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.ที่ผ่านมา
- ปาล์มน้ำมัน ผลผลิต 18.08 ล้านตัน ลดลง 5.12% เมื่อเทียบปีที่แล้ว เพราะช่วงต้นปีนี้ถึงเดือน พ.ค.ต้นปาล์มได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อนแล้ง ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอ ส่งผลให้ทางใบบางส่วนพับ ต้นปาล์มน้ำมันไม่สมบูรณ์ ทะลายที่เก็บเกี่ยวช่วงต้นปีแห้งฝ่อคาต้น
- มันสำปะหลัง จะมีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 10.12 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 4.07% แต่ผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง 0.89% เพราะช่วงปลูกมันสำปะหลัง มีภาวะแล้งตั้งแต่ต้นปีถึงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้งเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงช่วง มิ.ย.- ก.ค.ทำให้ต้นมันสำปะหลังเจริญเติบโตไม่เต็มที่
- กุ้ง มีเนื้อที่เลี้ยงกุ้ง 268,818 ไร่ ลดลง 0.09% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เพราะต้นทุนค่าอาหารและพลังงานสูงขึ้น โดยจะได้ผลผลิต 371,559 ตัน เพิ่มขึ้น 0.04% และผลผลิตต่อไร่ใกล้เคียงปีที่แล้วที่ 1,382 กิโลกรัม
TDRI ห่วงเอลนีโญกระทบราคาอาหารปีหน้า
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ภาวะเอลนีโญรุนแรงต่อเนื่อง 1 -2 ปี ประเมินว่าไม่ส่งผลให้ไทยเกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร หรือเกิดผลกระทบความมั่นคงทางอาหาร เพราะไทยเป็นประเทศที่ถือว่ามีความสมบูรณ์ในเรื่องอาหาร เป็นเสมือนผู้ส่งออกอาหาร และครัวของโลก
“ปัญหาภัยแล้งยังไม่กระทบมากในปีนี้ หากจะกระทบมากขึ้นไปจนถึงเรื่องของอาหารภายในประเทศอาจจะเป็นปีหน้า ต้องดูว่าในปีหน้ามีปัญหาความแห้งแล้งมากขนาดไหน หากไม่ใช่ภัยแล้งที่รุนแรงก็คงไม่มีปัญหาในการกระทบกับซัพพลายอาหารในประเทศมากนัก”
ทั้งนี้หน่วยงานรัฐต้องติดตามปริมาณน้ำฝนที่จะเข้าสู่เขื่อนหลัก และการวางแผนบริหารจัดการน้ำในเขื่อน และในพื้นที่ชลประทานให้ดี ไม่เช่นนั้นจะกระทบการเพาะปลูกได้ นอกจากนั้น เกษตรกรบางส่วนควรปรับมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยลง ซึ่งหน่วยงานภาครัฐควรวางแผนปรับเปลี่ยนการผลิตในส่วนนี้