'เอกชน' กระทุ้งฝ่ายการเมือง 'ลดค่าไฟ' งวด ก.ย.-ธ.ค. ลง 25 สต.ไม่พอ
"เอกชน" หวังจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็วเพื่อเร่งสางปมราคาพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้างวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 2566 นี้ ระบุ มติ กกพ. ลดแค่ 25 สตางค์ จากงวดก่อนไม่เพียงพอกับสมมติฐาน
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของประเทศไทยที่ยังคงติดลบ กลุ่มผู้ผลิต นักธุรกิจจึงได้รับผลกระทบ ดังนั้นภาครัฐจึงจำเป็นที่จะเข้ามาดูแลต้นทุนด้านพลังงานโดยเฉพาะราคาดีเซลและค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อประคับประคองภาคธุรกิจ รวมถึงประชาชนผู้บริโภค
ทั้งนี้ จากการที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟที และได้พิจารณากรณีศึกษาการปรับค่าเอฟทีขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนก.ย. – ธ.ค. 2566 โดยมีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเรียกเก็บจำนวน 66.89 สตางค์ต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับลดลงจากงวดปัจจุบัน (พ.ค. - ส.ค. 2566) จาก 4.70 บาทต่อหน่วยเหลืออยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย โดยให้มีผลตั้งแต่รอบบิลเดือนก.ย. 2566
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวไม่ยอมรับค่าเอฟทีที่ปรับลดเพียงแค่ 25 สตางค์แน่นอน ซึ่งมีปัจจัยบวก ทั้งภายใน และภายนอก ต่อค่าเอฟทีในงวดที่ 3 ปี 2566 มากมาย รวมทั้ง ข้อเสนอจาก คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ถึง รัฐบาล ทั้ง 2 ข้อเสนอ แต่ก็ไร้ การตอบรับ จากผู้รับผิดชอบ เพราะตัวเลข ที่ กกพ. ประกาศออกมาคือตัวเลขที่ค่อนข้าง Conservative ในสมมติฐานค่าเอฟที ทั้ง ๆ ที่ เอกชน มีข้อแนะนำไปแล้ว
นายอิศเรศ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า ค่าไฟฟ้างวดที่ 3 ปี 2566 ยังลงได้มากกว่า ที่ประกาศ ออกมา ด้วยเหตุผล คือ 1. การจัดการยืดหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ การกระทบยอดหนี้ กฟผ.ว่า เพิ่มขึ้นจากเดิม ได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ราคา LNG นำเข้า จ่ายจริงต่ำกว่าสมมุติฐาน ในการเรียกเก็บค่าเอฟทีทั้ง งวด 1 และ งวด2 ปี
2. การจัดซื้อ LNG เป็น One Team ได้มีการพิจารณา สั่งการหรือไม่ อย่างไร และ 3. การรื้อโครงสร้าง ค่า NG ระหว่าง ปิโตรเคมี และ ผู้ผลิตไฟฟ้า และ อื่นๆ อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
ทั้งนี้ หากกลไกภายใต้รัฐบาลรักษาการเป็นแบบนี้ จะต้องเป็นการบ้านเร่งด่วน ของรัฐบาลใหม่ ที่ต้องเข้ามาปฏิรูปเชิงรุก ดังนั้น เมื่อส่งหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรีแล้วก็ไม่มีความคืบหน้า จึงฝากความหวังไปยังรัฐบาลใหม่ที่กำลังจัดตั้งอยู่ให้มาบริหารอย่างจริงจัง เพราะเท่าที่เห็นนโยบายของว่าที่รัฐบาลใหม่ต่างให้ความสำคัญในเรื่องของราคาพลังงานทั้งสิ้น
สำหรับหนังสือที่ กกร. เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2566 เพื่อเป็นแนวทางในการปรับอัตราค่าเอฟที งวดที่ 3 ในรอบเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2566 ดังนี้
1. ขอให้พิจารณาขยายเวลาการคืนหนี้ให้กฟผ. จาก 5 งวด เป็น 6 งวด เพื่อให้ค่า Ft ลดลงอีก 10 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่ง กฟผ. จะได้รับเงินคืนครบภายในเดือนส.ค. 2568
2. ขอให้มีการบูรณาการในการจัดหาเชื้อเพลิง LNG โดยมอบหมายผู้นำเข้าหลักเพียงรายเดียวในการจัดหา (One Team) เพื่อเป็นการสกัด Demand เทียมจากผู้ส่งสินค้า (Shipper) หลายรายที่เข้ามาจัดหาในตลาด สำหรับนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในงวดที่ 3 เพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสมตามกลไกตลาดและไม่ให้ประเทศเสียเปรียบ โดยจัดหา LNG ล่วงหน้า ในราคาเฉลี่ยที่ 14 – 16 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งหากเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ราคา LNG ก็ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการใช้พลังงานในโลกที่เพิ่มขึ้น