เปิดเหตุผล 'GPSC' พับแผนลงทุน พลังงานสะอาดใน 'เวียดนาม'
เปิดเหตุผล ทำไม 'GPSC' กลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าเครือ "ปตท." ถึงถอดใจพับแผนที่จะไปลงทุนพลังงานสะอาดใน "เวียดนาม" ภายหลังเข้าศึกษาแผนธุรกิจนานถึง 4 ปี
การจะสร้างพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะที่มาจากแสงอาทิตย์อย่าง โซลาร์ฟาร์มซึ่งหากยิ่งต้องการจำนวนกิกะวัตต์ มากเท่าไหร่ นอกจากจะต้องการประเทศที่มีภูมิอากาศที่ร้อนมากแล้ว พื้นที่ก็ยิ่งสำคัญ
นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการที่บริษัทฯ ได้รับภาระกิจด้านพลังงานสะอาดมาจากบริษัทแม่ตามวิสัยทัศน์ใหม่ปตท.คือ Powering Life with Future Energy and Beyond โดยปตท. มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนธุรกิจ (Business Diversification) ไปสู่การเติบโตในธุรกิจพลังงานอนาคต และธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน สอดรับกับแนวโน้มความเปลี่ยนแปลง กระแสของโลกในอนาคต
ดังนั้น การดำเนินธุรกิจในกลุ่มโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ จึงจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนปตท. สู่เป้าหมายระยะสั้นถึงระยะยาว มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ภายในปี 2030 บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050
อย่างไรก็ตาม อย่างที่ทราบว่าการผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยยังมีปัจจัยหลายอย่างที่ไม่สามารถเติบโตได้เท่าที่ควร ดังนั้น การที่บริษัทฯ จะเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตพลังงานสะอาดจึงจะต้องออกไปหาส่วนแบ่งตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ภาครัฐได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนอย่างจริงจัง อาทิ อินเดีย จีน ใต้หวัน ออสเตรเลีย สหรัฐ หรือทวีปยุโรป เป็นต้น
ทั้งนี้ หากมองประเทศในกลุ่มอาเซียน อย่าง เวียดนาม ซึ่งบริษัทสนใจที่จะไปลงทุนพลังงานหมุนเวียนนานแล้ว โดยใช้เวลาศึกษาถึง 4 ปี แต่ก็ไม่สามารถปิดดีลกิจการได้ เนื่องจากปัจจัยหลักคือ ปัญหาที่ดินที่ยังมีความไม่ชัดเจน ส่งผลให้บริษัทฯ ไม่สามารถเข้ามาเป็นเจ้าของที่ดินได้ รวมถึงเมื่อเข้าไปทำดีลพบว่าข้อมูล บางโปรเจ็คต์ไม่มีแบบการก่อสร้าง ซึ่งต้องยอมรับว่าบริษัทฯ ยังหาพาร์ทเนอร์ที่ดีไม่ได้ แต่เมื่อมองความสำเร็จของโรงไฟฟ้าประเทศไทยที่ไปดำเนินธุรกิจพลังงานสะอาดที่เวียดนามแล้วประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งคือการได้พาร์ทเนอร์ที่ดี ถือเป็นหัวใจหลักที่สำคัญมาก
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้จากการที่บริษัทได้ร่วมลงทุนที่อินเดีย ผ่ายบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GRSC) ที่ GPSC ถือหุ้น 100% ได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับบริษัท อวาด้า เวนเจอร์ ไพรเวท จำกัด เพื่อลงทุนใน บริษัท อวาด้า เอนเนอร์ยี่ ไพรเวท จำกัด บริษัทในกลุ่มอวาด้า ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียนชั้นนำในประเทศอินเดีย โดย GRSC เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 42.93% และยังได้ขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจในกลุ่มอวาด้าให้ครอบคลุมธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ (BESS) อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันอวาด้ามีการเติบโตโดยชนะประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในอินเดียอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การเข้าร่วมทุนกับอวาด้ามีส่วนสำคัญต่อการขยายสัดส่วนกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนของ GPSC ให้ได้ตามเป้าหมายมากกว่า 50% ในปี 2573 โดยGPSC ที่เข้าร่วมลงทุนกับอวาด้าด้วยมูลค่า 779 ล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลอินเดีย ที่ได้ประกาศวาระแห่งชาติ ให้มีการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ที่มีเป้าหมายการผลิตพลังงานโดยไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ 500 กิกะวัตต์
สำหรับในปี 2566 นี้ กลุ่มอวาด้าสามารถชนะการประมูลโครงการเสนอราคาการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ จากโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการผลิต PLI (Production- Linked Incentive Scheme) เพื่อผลิตแผ่นเวเฟอร์ โซลาร์เซลล์ และโมดูล และยังชนะการประมูลการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ 2.5 กิกะวัตต์ ซึ่งทำให้ปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นมากกว่า 7 กิกะวัตต์ รวมทั้งบริษัท Brookfield ได้เข้ามาร่วมลงทุนมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ในกลุ่มอวาด้า เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจไฮโดรเจน/แอมโมเนียที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบัน GPSC มีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 3,629 เมกะวัตต์ คิดเป็น 45% ของกำลังการผลิตรวม โดยตั้งเป้าปี 2030 จะมีกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนที่ 12 กิกะว้ตต์ ถือเป็นไปตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานเพื่อความยั่งยืน และได้กำหนดทิศทางการเติบโตของธุรกิจ เพื่อก้าวสู่การเป็นหนึ่งในบริษัทนวัตกรรมผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้