เปิดตัว ‘น้องนมเย็น’ โมโนเรลสายใหม่ เช็คอินแคราย - มีนบุรี 30 สถานี

เปิดตัว ‘น้องนมเย็น’ โมโนเรลสายใหม่ เช็คอินแคราย - มีนบุรี 30 สถานี

ทำความรู้จักรถไฟฟ้าสายสีชมพู โมโนเรลน้องใหม่ เชื่อมแคราย - มีนบุรี เตรียมเปิดทดลองให้บริการฟรี ก.ย.นี้ เช็คเส้นทางจุดรับส่ง 30 สถานี เชื่อม 4 โครงข่ายรถไฟฟ้า

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี เป็นหนึ่งในโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) เพื่อขยายโครงข่ายระบบขนส่งทางรางเชื่อมต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยโครงการได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 พัฒนาเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Stradle Monorial) มีระยะทางให้บริการรวม 34.5 กิโลเมตร และใช้วงเงินลงทุนประมาณ 53,490 ล้านบาท

โดยแนวเส้นทางของโครงการเริ่มต้นบนถนนรัตนาธิเบศร์บริเวณระหว่าง ศูนย์ราชการนนทบุรีและแยกแคราย ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่ – บางซื่อ) บริเวณสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี จากนั้นจะวิ่งเลี้ยวซ้ายบริเวณแยกแครายเข้าถนนติวานนท์ วิ่งตามถนนติวานนท์จนถึงแยกปากเกร็ด

หลังจากนั้นเลี้ยวขวาเข้าถนนแจ้งวัฒนะผ่านเมืองทองธานี ผ่านศูนย์ราชการ ผ่านทางแยกหลักสี่ เชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงที่สถานีหลักสี่ ลอดใต้ทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลเวย์) และผ่านวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยมีสถานีวัดพระศรีมหาธาตุเป็นสถานีเชื่อมต่อ (Interchange Station) เพื่อเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารระหว่างรถไฟฟ้าสาย สีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่

ก่อนจะวิ่งตามถนนรามอินทรา ยกระดับข้ามทางพิเศษฉลองรัชบริเวณแยกวัชรพล จนถึงแยกมีนบุรีแล้ววิ่งเข้าเมืองมีนบุรีตามถนนสีหบุรานุกิจ ข้ามคลองสามวาและเลี้ยวขวาข้ามคลองแสนแสบผ่านพื้นที่ว่างและข้ามเข้าถนนรามคำแหง (สุขาภิบาล 3 ) จนสิ้นสุดบริเวณทางแยกร่มเกล้า ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน – มีนบุรี ที่สถานีมีนบุรี

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู จะก่อสร้างเป็นทางวิ่งยกระดับตลอดสาย มีสถานีให้บริการทั้งสิ้น 30 สถานี และมีศูนย์ซ่อมบำรุงและจุดจอดแล้วจร (Park and ride) บริเวณสถานีมีนบุรี โดยโครงการยังมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 4 สายหลัก ได้แก่

  • รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่สถานีมีนบุรี
  • รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่สถานีหลักสี่
  • รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ
  • รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี

ส่วนสถานีให้บริการจำนวน 30 สถานีนั้น ประกอบด้วย

  • PK01 สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี

สถานีต้นทางตั้งอยู่ริมถนนรัตนาธิเบศร์ บริเวณหน้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรีและบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วง บางใหญ่-บางซื่อ

  • PK02 สถานีแคราย

ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ บริเวณด้านหน้าสถาบันทรวงอก

  • PK03 สถานีสนามบินน้ำ

ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ใกล้กับสามแยกสนามบินน้ำ

  • PK04 สถานีสามัคคี

ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ ใกล้ทางแยกเข้าถนนสามัคคี ระหว่างคลองบางตลาดกับถนนสามัคคี

  • PK05 สถานีกรมชลประทาน

ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ ใกล้กับโรงเรียนชลประทานวิทยา

  • PK06 สถานีแยกปากเกร็ด

ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมทางแยกปากเกร็ด ก่อนเข้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะ

  • PK07 สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด

ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าห้างบิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์และโฮมโปร ก่อนถึงทางแยกเลี่ยงเมืองปากเกร็ด

  • PK08 สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28

ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ใกล้กับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ บริเวณซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28

  • PK09 สถานีศรีรัช

ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 35 ก่อนถึงทางด่วนศรีรัช ใกล้กับหมู่บ้านเมืองทองธานี

  • PK10 สถานีเมืองทองธานี

ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าสำนักงานซ่อมบำรุงกรมทางหลวงและห้างแม็คโครซุปเปอร์สโตร์ สาขาแจ้งวัฒนะ

  • PK11 สถานีแจ้งวัฒนะ 14

ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ระหว่างบิ๊กซีแจ้งวัฒนะ และซอยแจ้งวัฒนะ 14

  • PK12 สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ

ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้ากรมการกงสุล ใกล้กับศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

  • PK13 สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ

ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ระหว่างซอยแจ้งวัฒนะ 5 และซอยแจ้งวัฒนะ 7

  • PK14 สถานีหลักสี่

ตั้งอยู่บริเวณจุดตัดถนนแจ้งวัฒนะและถนนวิภาวดีรังสิตสามารถเชื่อมต่อกับโครงการระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ทางเดินยกระดับลอยฟ้า (Skywalk)

  • PK15 สถานีราชภัฏพระนคร

สถานีสุดท้ายบนถนนแจ้งวัฒนะ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

  • PK16 สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ

ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ สามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ด้วยทางเดินยกระดับลอยฟ้า (Skywalk)

  • PK17 สถานีรามอินทรา 3

สถานีแรกบนถนนรามอินทราตั้งอยู่บริเวณหน้าโครงการลุมพินี รามอินทรา-หลักสี่ และศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก

  • PK18 สถานีลาดปลาเค้า

ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราระหว่างซอยรามอินทรา 21 และซอยรามอินทรา 23 ใกล้กับห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า

  • PK19 สถานีรามอินทรา กม.4

ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ระหว่างซอยรามอินทรา 33 และซอยรามอินทรา 37

  • PK20 สถานีมัยลาภ

ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราหน้าปากซอยรามอินทรา 41 ใกล้กับสามแยกมัยลาภ

  • PK21 สถานีวัชรพล

ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ถัดจากทางพิเศษฉลองรัช บริเวณซอยรามอินทรา 59 และซอยรามอินทรา 61

  • PK22 สถานีรามอินทรา กม.6

ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ช่วงระหว่างซอยรามอินทรา 40 และซอยรามอินทรา 42

  • PK23 สถานีคู้บอน

ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราช่วงระหว่างซอยรามอินทรา 69 และซอยรามอินทรา 46

  • PK24 สถานีรามอินทรา กม.9

ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ใกล้กับโรงพยาบาลสินแพทย์ ช่วงระหว่างซอยรามอินทรา 54 และซอยรามอินทรา 56

  • PK25 สถานีวงแหวนรามอินทรา

ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราถัดจากถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก ใกล้ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ และ The Promenade

  • PK26 สถานีนพรัตน์

ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ใกล้ซอยรามอินทรา 103/1 และโรงพยาบาลนพรัตน์

  • PK27 สถานีบางชัน

ตั้งอยู่บนถนนบริเวณซอยรามอินทรา 113 และซอยรามอินทรา 115

  • PK28 สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ

ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราใกล้กับโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ระหว่างซอยรามอินทรา 121 และ ซอยรามอินทรา 123

  • PK29 สถานีตลาดมีนบุรี

สถานีแรกบนถนนสีหบุรานุกิจ ตั้งอยู่บริเวณหน้าตลาดนัดจตุจักร 2

  • PK30 สถานีมีนบุรี

ตั้งอยู่ริมถนนรามคำแหง บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงของระบบขนส่งมวลชนสายสีชมพูฯ ใกล้กับถนนรามคำแหง เป็นสถานีปลายทางของโครงการ และสามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี ได้ด้วยทางเดินยกระดับลอยฟ้า (Skywalk)

เปิดตัว ‘น้องนมเย็น’ โมโนเรลสายใหม่ เช็คอินแคราย - มีนบุรี 30 สถานี

สำหรับความคืบหน้าในขณะนี้ เอกชนผู้รับสัมปทาน บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด จัดตั้งโดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR JV consortium) ที่ร่วมทุนกันระหว่าง บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS), บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และ บมจ. ราช กรุ๊ป (TATCH) อยู่ระหว่างทดสอบระบบการเดินรถ เริ่มทดสอบตั้งแต่ศูนย์ซ่อมบำรุง (DEPOT) ไปยังสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) รวม 30 สถานี หรือตลอดแนวเส้นทางของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งภาพรวมพบว่าไม่มีปัญหาติดขัด และ รฟม.คาดการณ์ว่าจะเริ่มทดสอบการเดินรถไฟฟ้าเสมือนจริง (Trial Run) ในวันที่ 15 ส.ค.2566

โดยความก้าวหน้าของงานก่อสร้างล่าสุดในเดือน ก.ค.2556

  • งานโยธาช่วงแคราย - มีนบุรี อยู่ที่ 97.35%
  • งานระบบรถไฟฟ้า คืบหน้า 97.74%
  • ความก้าวหน้ารวมสะสมอยู่ที่ 97.54%

ทั้งนี้ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด มีเป้าหมายเปิดทดสอบการเดินรถไฟฟ้าเสมือนจริง (Trial Run) ภายในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ หลังจากนั้นจะเปิดให้ประชาชนร่วมทดลองใช้บริการฟรี ระหว่างเดือน ก.ย.-ต.ค.2566 ก่อนจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ จัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู ในเดือน พ.ย.2566 ซึ่งภาพรวมของโครงการจึงถือว่าเร็วกว่าแผนกำหนดไว้