'โอกาสเศรษฐกิจ' ที่เสียไป เมื่อ 'ประเทศไทย' ตั้งรัฐบาลได้ล่าช้า

'โอกาสเศรษฐกิจ' ที่เสียไป เมื่อ 'ประเทศไทย' ตั้งรัฐบาลได้ล่าช้า

การจัดตั้งรัฐบาลของประเทศไทยภายหลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมากินระยะเวลามาครบ 3 เดือนเต็ม เป็นระยะเวลา 3 เดือนที่ประชาชนต่างติดตามสถานการณ์ข่าวสารอย่างใกล้ชิด

ประชาชนก็ได้เห็นแล้วว่าช่วงที่ผ่านมาฝ่ายต่างๆ สร้างเงื่อนไขทางการเมืองที่ซับซ้อน มีการยื่นตีความข้อกฎหมายไปยังหน่วยงาน และศาลยุติธรรม จนวันนี้ยังไม่ชัดเจนว่าการเมืองไทยจะคลี่คลายได้ข้อยุติเมื่อใด

ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลายด้าน ทั้งในแง่ของความเชื่อมั่นของประชาชน

การสะดุดลงของการลงทุนภาครัฐรวมไปถึงความไม่เชื่อมั่นที่เกิดกับนักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศที่กำลังรอดูนโยบายที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาลใหม่ ถือเป็น“โอกาสทางเศรษฐกิจ" ที่สูญเสียไปในช่วงที่ไทยมีสุญญากาศทางการเมือง

หากจะไล่เลียงโอกาสทางเศรษฐกิจไทยที่สูญเสียไปจากการตั้งรัฐบาลช้ามีอยู่อย่างน้อย 3 ข้อ ได้แก่

1.การจัดทำและเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ปกติแล้วงบประมาณรายจ่ายประจำปีต้องสามารถเบิกจ่ายได้ในวันที่ 1 ต.ค.แต่เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลรักษาการที่ยุบสภาไปตั้งแต่เดือน มี.ค.2566 การจัดทำงบประมาณปี 2567 จึงหยุดชะงัก เมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ 2566 จะสามารถใช้งบประมาณไปพลางก่อนได้เท่านั้น หมายความว่าจะใช้ได้เฉพาะรายการงบประจำ และงบที่ผูกพันไว้แล้ว แต่งบฯลงทุนที่เป็นโครงการใหม่ที่มีอยู่ประมาณ 5 – 6 แสนล้านบาท จะยังไม่สามารถทำได้

หากการตั้งรัฐบาลล่าช้ายืดยาวไปจนถึงเดือน ก.ย.การจัดทำงบประมาณปี 2567 ก็อาจจะล่าช้าไปเกินกว่า 6 เดือน ที่ตั้งเป้าจะเริ่มเบิกจ่ายได้ภายในเดือน มี.ค.2567 หรือไตรมาสที่ 1 ของปีหน้า ก็จะล่าช้าออกไปอีก

แม้ว่าสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)เตรียมที่จะเร่งรัดการลงทุนของรัฐวิสาหกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เป็นวงเงินประมาณ 3 แสนล้านบาท แต่ก็คงช่วยเศรษฐกิจได้ในบางส่วนเท่านั้น​

2.การออกมาตรการช่วยเหลือประชาชน และการกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่สามารถทำได้แม้ว่ารัฐบาลรักษาการจะพยายามที่จะดูแลค่าครองชีพ และเศรษฐกิจในภาพรวม แต่ต้องยอมรับว่าด้วยข้อจำกัดของอำนาจของรัฐบาล และ ครม.รักษาการที่กฎหมายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169 (1)ไม่อนุญาตให้ทำโครงการที่ผูกพัน และจะกระทบกับรัฐบาลหน้าได้​​

มาตรการบางอย่างจึงต้องยกเลิก เช่นการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตรที่กระทรวงการคลังไม่เสนอต่ออายุมาตรการตั้งแต่เดือนที่ผ่านมา และให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามารับภาระส่วนนี้แทน แต่กองทุนน้ำมันฯก็ส่งสัญญาณแล้วว่าอาจไม่สามารถแบกรับส่วนนี้ได้หลายเดือนนัก

และ 3.การเจรจาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลรักษาการไม่สามารถทำได้โดยเฉพาะหากจะต้องมีการลงนามในข้อตกลงต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมานั้นไทยอยู่ระหว่างการเจรจา FTA หลายฉบับ รวมทั้งเจรจาความร่วมมือกับเศรษฐกิจเพิ่มเติมกับหลายประเทศ เช่น ซาอุดิอาระเบีย และจีน เป็นต้น ความร่วมมือเหล่านี้ควรมีต่อเนื่องแต่จะต้องอาศัยรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มมาสานต่อ​

ยิ่งนานไปผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการตั้งรัฐบาลได้ล่าช้าก็จะยิ่งมากขึ้นผลกระทบกับภาคส่วนต่างๆมากขึ้นเป็นค่าเสียโอกาสของประเทศ

...รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาก็จะเจอกับโจทย์เศรษฐกิจที่ยากขึ้นเรื่อยๆ

จึงถึงเวลาแล้วที่ “นักการเมือง”จะต้องละ วาง การสร้างเงื่อนไข และการเอาชนะกันทางการเมือง มุ่งที่จะตั้งรัฐบาลให้แล้วเสร็จเพื่อเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจมากมากมายที่รออยู่