'นักธุรกิจต่างชาติ' แตะเบรกลงทุนไทย สุญญากาศการเมืองฉุดความเชื่อมั่น

'นักธุรกิจต่างชาติ' แตะเบรกลงทุนไทย สุญญากาศการเมืองฉุดความเชื่อมั่น

นักธุรกิจต่างชาติรายใหม่แตะเบรกลงทุน “หอการค้าต่างประเทศ” ห่วงเจรจารัฐบาลรักษาการทำไทยเสียโอกาสดึงต่างชาติลงทุน ขอตั้งรัฐบาลเร็ว เดินหน้านโยบายดึงลงทุน อำนวยความสะดวกลงทุน “ดับบลิวเอชเอ” เผยมีบริษัทต่างชาติชะลอตัดสินใจช่วงสุญญากาศ รอความชัดเจนทางการเมือง

Key Points

  • นักธุรกิจต่างชาติจับตาดูการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังจากเลือกตั้งมา 3 เดือน ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้
  • บริษัทต่างชาติรายใหม่เริ่มแตะเบรกรอดูสัญญาการตั้งรัฐบาลก่อนตัดสินใจมาลงทุนไทย
  • การหารือกับรัฐบาลรักษาการอาจทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสดึงบริษัทต่างชาติมาลงทุน
  • นักธุรกิจต่างชาติต้องการให้รัฐบาลใหม่มาผลักดันนโยบายอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน

การเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลเป็นปัจจัยที่นักธุรกิจต่างชาติกำลังจับตามมองอย่างใกล้ชิด ทั้งบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในไทยอยู่แล้ว และบริษัทต่างชาติรายใหม่ที่กำลังมีแผนเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติที่ยังไม่เคยเข้ามาลงทุนต้องชะลอแผนออกไป เนื่องจากการลงทุนบางรายการที่ต้องการความเชื่อมั่นจากรัฐบาลยังไม่สามารถเข้าไปหารือกับรัฐบาลได้

นายสแตนลีย์ คัง อดีตประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand) กล่าวว่า ถึงแม้ในปัจจุบันยังคงมีการเข้ามาลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะนี้นักธุรกิจต่างชาติขอให้ไทยมีการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว เพราะผ่านการเลือกตั้งก็ผ่านมา 3 เดือนแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.2566

ทั้งนี้ ภายหลังการเลือกตั้งพบว่าพรรคการเมืองที่ได้เสียงอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาลใหม่ไม่สำเร็จ โดยขณะนี้พรรคการเมืองที่ได้อันดับ 2 กำลังจัดตั้งรัฐบาลจึงอยากให้รัฐบาลได้เร็ว โดยเห็นว่าทั้ง สส.และ สว.ต้องหาทางออกเรื่องนี้ให้ได้หากนานไปย่อมไม่ส่งผลดีต่อประเทศไทย เพราะยิ่งตั้งได้เร็วเท่าไรยิ่งเป็นผลดีต่อประเทศและเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ บริษัทต่างชาติที่มีแผนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้เข้าไปหารือกับรัฐบาลรักษาการ ซึ่งก็มีข้อจำกัดหลายประการ ดังนั้นการมีรัฐบาลใหม่ได้เร็วจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนเท่านั้นแต่ยังมีความชัดเจนด้านนโยบายการลงทุน นโยบายด้านเศรษฐกิจด้วย ดังนั้นควรจัดตั้งให้ได้เร็วที่สุด 

“ขณะนี้มีนักธุรกิจหลายคณะทั้งจากจีน สหรัฐและยุโรป เข้ามามากหลังจากที่ประเทศไทยเปิดประเทศจนถึงปัจจุบัน”

ห่วงไทยเสียโอกาสดึงต่างชาติ

อย่างไรก็ตามหากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปอีกก็ไม่น่าจะทำให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตแต่จะมีผลในเรื่องของการลงทุนใหม่ของนักลงทุนเดิม ขณะที่นักลงทุนใหม่ยังคงรอดูสถานการณ์และยังไม่เข้ามาลงทุน เพราะไม่รู้ว่าจะหารือเรื่องการลงทุนกับใคร ซึ่งจะทำให้ไทยเสียโอกาสด้านการลงทุน รวมถึงความสามารถในการแข่งขันการดึงดูดการลงทุน เพราะประเทศอื่นต้องการดึงนักธุรกิจต่างชาติเข้าประเทศเข้าไปลงทุนเช่นกัน

รวมทั้งปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมอีวีขยายตัวแซงอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ สมาร์อิเล็กทรอนิกส์ สุขภาพ การท่องเที่ยว บริการ โรงแรมและการท่องเที่ยว

นายสแตนลีย์ คัง กล่าวว่า ยืนยันว่านักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในประเทศไทย เพราะไทยมีจุดแข็งทั้งเรื่องที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน 

รวมทั้งที่สำคัญประเทศไทยมีความเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดท่ามกลางความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยนักธุรกิจต่างชาติได้ประเมินว่าเมื่อเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจะทำให้สินค้าที่ผลิตได้สามารถส่งออกไปได้ทุกประเทศไม่ว่าจีน สหรัฐหรือยุโรป แต่ประเทศไทยจำเป็นต้องรีบจัดมีรัฐบาลใหม่สานสัมพันธ์ด้านการต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

 

มั่นใจไทยเป็นปลายทางการลงทุน

“ประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางของนักลงทุนต่างชาติจากจุดแข็งต่างๆแต่ขณะนี้การเมืองที่ไม่ชัดเจนอาจเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนได้ การมีรัฐบาลเร็ว ที่สุดเพื่อเจรจาและขับเคลื่อนการลงทุนไปให้ได้เร็วที่สุด”

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลใหม่มาช่วยเหลือนักธุรกิจต่างชาติ คือ การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing business) เพราะปัจจุบันนักธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจจะต้องไปติดต่อขออนุญาตหรือขออนุมัติทำธุรกิจในหลายกระทรวง

อีกทั้งยังมีเอกสารจำนวนมากที่ต้องเตรียม ซึ่งเรื่องนี้ต้องการให้รัฐบาลใหม่เข้ามาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาอุปสรรคเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักธุรกิจ พร้อมทั้งให้มีการพัฒนาระบบรองรับการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีให้การทำธุรกิจทันสมัยและรวดเร็วขึ้น และต้องการให้สนับสนุนการผลิตพลังงานหมุนเวียน เพื่อรองรับเทรนด์ของโลกที่ต้องการให้สินค้าที่ผลิตใช้พลังงานสะอาด โดยจะตอบโจทย์เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รายใหม่แตะเบรกชะลอตัดสินใจ

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การย้ายฐานผลิตออกจากจีนหรือการขยายฐานธุรกิจเป็นปัจจัยที่กดดันนักลงทุนมากกว่าปัจจัยการเมืองภายในประเทศของไทย ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลก สงคราม ความขัดแย้ง ซึ่งทำให้เกิดเทรนด์การเคลื่อนย้ายฐานทุนทะลักเข้ามาในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะไทย เวียดนาม อินโดนีเซียที่ได้อานิสงค์ ซึ่งโดยส่วนมากนักลงทุนต่างชาติก็ยังคงให้ความสำคัญกับไทยและมีความเชื่อมั่น เนื่องจากที่ผ่านมาแม้ไทยมีความผันผวนด้านการเมืองแต่ก็ไม่เคยส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของนักลงทุนต่างชาติ

“มีจากนักลงทุนต่างชาติหลายร้อยรายที่ได้มีการเจรจากัน มีเพียงรายเดียวที่ไม่เคยลงทุนในไทยและต้องการมาลงทุนมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท แต่ยังคงตัดสินใจรอความชัดเจนทางการเมืองและจัดตั้งรัฐบาลได้ก่อน” นางสาวจรีพร กล่าว

ทั้งนี้ การลงทุนในระยะยาวในภาคอุตสาหกรรมนักลงทุนจะให้น้ำหนักกับประเด็นโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับ สิทธิประโยชน์ภาษีและไม่ใช่ภาษี ความพร้อมของคน และอีโคซิสเต็มของธุรกิจ รวมทั้งความเป็นอยู่และความปลอดภัย โดยจะเห็นได้ว่าปี 2566 มีการลงทุนจากกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้าและคอนซูเมอร์ ซึ่งเป็นเซคเตอร์หลักที่เข้ามาลงทุนในไทย และช่วงครึ่งปีหลังยังมีเจรจาลูกค้าอีวีอีก 2 รายที่เตรียมปิดดีล

“ตอนนี้เรากำลังมองเห็นการเคลื่อนย้ายฐานทุนครั้งใหญ่ของโลกที่เรียกได้ว่าจะไหลทะลักเข้ามาในภูมิภาค ซึ่งไม่รู้ว่าปรากฏการณ์นี้จะลากยาวออกไปอีกกี่ปี เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นช่วง 2-3 ปี หรืออาจจะยาวกว่านั้น จึงอยากเห็นรัฐบาลที่เข้ามาใหม่เร่งตั้งทีมเศรษฐกิจเพื่อดึงการลงทุนอย่างจริงจัง กำหนดเป้าหมายบริษัทที่ต้องการจะดึงเข้ามาไทยแล้วรุกเข้าหา จากนั้นกลับมาสร้างความเชื่อมโยงกับซัพพลายเชนในไทยให้คนไทยได้ประโยชน์”นางสาวจรีพร กล่าว

ทั้งนี้ หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปจากเดือน ส.ค.2566 ซึ่งจะทำให้สิทธิประโยชน์หรือมาตรการส่งเสริมลงทุนและการลงทุนภาครัฐที่ยังรอเสนอรัฐบาลใหม่ ขาดความต่อเนื่องและจะทำให้ไทยเสียโอกาส